นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
พระสูตรที่จะนำมาสนทนาออนไลน์
วันเสาร์ที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๓
เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.
อุปาติสูตร
...จาก ...
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๖๔๘
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๖๔๘
อุปาติสูตร
(ว่าด้วยแมลงบินเข้าไฟ)
[๑๔๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งในที่แจ้งในความมืดตื้อในราตรี เมื่อประทีปน้ำมันลุกโพลงอยู่ ก็สมัยนั้นแล ตัวแมลงเป็นอันมากตกลงรอบๆ ที่ประทีปน้ำมันเหล่านั้น ย่อมถึงความทุกข์ ความพินาศ ความย่อยยับ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าไค้ทรงเห็นตัวแมลงเป็นอันมากเหล่านั้น ตกลงรอบๆ ที่ประทีปน้ำมันเหล่านั้น ถึงความทุกข์ ความพินาศ ความย่อยยับ.
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
สมณพราหมณ์พวกหนึ่งย่อมแล่นเลยไป ไม่ถึงธรรมอันเป็นสาระ ย่อมพอกพูนเครื่องผูกใหม่ๆ ตั้งมั่นอยู่ในสิ่งที่ตนเห็นแล้ว ฟังแล้วอย่างนี้ เหมือนฝูงแมลงตกลงสู่ประทีปน้ำมันฉะนั้น
จบอุปาติสูตรที่ ๙
อรรถกถาอุปาติสูตร
(นำมาเพียงบางส่วน)
บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบถึงการที่แมลงเม่าทั้งหลาย ไม่รู้ประโยชน์ตน ถึงความวอดวาย ไร้ประโยชน์ ด้วยความพยายามของตนนี้ จึงทรงเปล่งพระอุทานนี้ อันแสดงถึงความวอดวายของทิฏฐิคติกบุคคล โดยการถือผิด เหมือนแมลงเม่าเหล่านั้น
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปาติธาวนฺติ น สารเมนฺติ ความว่าไม่ถึงธรรมอันเป็นสาระ ต่างโดย ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ เป็นต้น คือ ไม่ถึงโดยการตรัสรู้สัจจะ ๔ แต่เมื่อธรรมอันเป็นสาระพร้อมทั้งอุบายนั้น ยังดำรงอยู่นั่นแหละ พวกเขาเป็นเสมือนเข้าถึงธรรมอันเป็นสาระนั้นเพราะหวังธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้น ย่อมแล่นไป คือ เลยไป ด้วยทิฏฐิวิปัลลาส อธิบายว่า ยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เที่ยง งาม สุข มีตัวตน.
บทว่า นวํ นวํ พนฺธนํ พฺรูหยนฺติ ความว่า ก็เมื่อยึดถืออย่างนั้น ชื่อว่า ย่อมพอกพูน คือ ขยายธรรมเป็นเครื่องผูกใหม่ๆ กล่าวคือ ตัณหาและทิฏฐิ
บทว่า ปตนฺติ ปชฺโชตมิวาธิปาตา ทิฏฺเฐ สุเต อิติเหเกนิวิฏฺฐา ความว่า สมณพราหมณ์ พวกหนึ่ง เพราะถูกเครื่องผูกคือตัณหาและทิฏฐิผูกพันไว้อย่างนี้ จึงยึดถือในรูปารมณ์ที่ตนเห็น คือ ในรูปารมณ์ที่ตนเห็นด้วยจักขุวิญญาณของตน หรือ ด้วยทิฏฐิทัสสนะของตน นั่นแล และ ในสัททารมณ์ที่ตนได้ยินมา ด้วยเหตุเพียงได้ยินได้ฟังมาเท่านั้น ว่า เพราะเหตุนั้นแล สิ่งนี้ย่อมเป็นอย่างนี้โดยแน่นอน ยึดถือโดยนัยเป็นต้นว่า สิ่งทั้งปวง เที่ยง ด้วยการยึดถือผิดๆ หรือ เมื่อไม่รู้ธรรมเป็นเหตุสลัดออกที่เป็นประโยชน์โดยส่วนเดียว ย่อมตกไปในหลุมถ่านเพลิงถ่ายเดียว กล่าวคือภพ ๓ ที่ไฟ ๑๑ กองมีราคะเป็นต้นลุกโชนแล้ว เหมือนแมลงเม่าเหล่านี้ ตกไปสู่เปลวเพลิงนี้ ฉะนั้น อธิบายว่า เขาไม่อาจจะเงยศีรษะขึ้นได้ จากหลุมถ่านเพลิงนั้น.
จบอรรถกถาอุปาติสูตรที่ ๙
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
อุปาติสูตร
(ว่าด้วยแมลงบินเข้าไฟ)
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเห็นฝูงแมลงบินเข้าไฟ ถึงความพินาศอย่างมาก พระองค์จึงได้ทรงเปล่งพระอุทาน เปรียบเทียบว่า สมณพราหมณ์พวกหนึ่งย่อมแล่นเลยไป ไม่ถึงธรรมอันเป็นสาระ ย่อมพอกพูนเครื่องผูกใหม่ๆ เชื่อมั่นในสิ่งที่ตนได้เห็นมา ได้ฟังมา ก็เหมือนฝูงแมลงตกลงสู่ประทีปน้ำมัน ถึงความพินาศย่อยยับ.
ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
ความเข้าใจพระธรรมเป็นสาระสำคัญที่สุดในชีวิต
-- วิดน้ำออกจากเรือ --
วิดน้ำออกจากเรือ
มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากความเป็นจริงของธรรม
ความเสื่อมทิฏฐิ
ความเห็นผิดอันตรายอย่างยิ่ง
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
กราบอนุโมทนายิ่งค่ะ
กราบขอบพระคุณ และอนุโมทนาในกุศลค่ะ