โลภมูลจิตดวงที่ ๓ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกกํ ไม่ใช่แต่เฉพาะปุถุชนเท่านั้นที่มีโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ แม้พระอริยบุคคลที่มิใช่พระอรหันต์ก็มีโลภทิฏฐิคตวิปยุตต์ด้วย
แต่เมื่อพูดถึงอนุสัยกิเลสแล้วต่างกันมาก สภาพลักษณะของจิตที่เกิดเป็นโลภทิฏฐิวิปปยุตต์เหมือนกัน เชื้อของความพอใจมีมากมายพร้อมที่จะไหลไปสู่สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่างได้ยินเสียงนิดเดียวไม่รู้เลยว่าเสียงอะไร แต่ถ้าเป็นเสียงที่น่าฟัง ความพอใจยินดีก็มีในเสียงนั้น ทางตาก็เหมือนกัน ทางหูก็เหมือนกัน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็เหมือนกัน นี่ก็เป็นลักษณะของโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ อาจจะเกิดร่วมกับโสมนัสก็ได้ เป็นอสังขาริกก็ได้ นี่เป็นโลภมูลจิตดวงที่ ๓
ในขณะที่มีความยินดีความพอใจเกิดขึ้น แต่ไม่ได้เกิดร่วมกับความเห็นผิด ในขณะนั้นก็เป็นโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์
สิ่งที่ทำให้เห็นชัด คือ เทียบเคียงกับพระอริยเจ้า อย่างพระโสดาบันบุคคล มีโลภมูลจิตแต่ไม่มีทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ไม่มีความเห็นผิดใดๆ เกิดร่วมด้วย แต่ก็ยังเป็นสภาพของความพอใจ ความต้องการ ความชอบ ความยินดีในสิ่งที่เห็นทางตา ในเสียงที่ได้ยินทางหู
พระโสดาบันไม่รู้หรือว่าเป็นเก้าอี้ พระโสดาบันรู้ แต่ท่านไม่มีสักกายทิฏฐิไม่มีความเห็นผิดใดๆ เลยนับตั้งแต่โสดาปัตติมรรคเกิดขึ้น เพราะเหตุว่า ท่านเจริญปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามของรูป ท่านรู้ว่าการรู้ความหมายนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น และไม่มี โลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์เลย การเห็นของท่านก็เหมือนกับการเห็นของบุคคลอื่น ต่างกันที่อนุสัยกิเลส ทิฏฐานุสัยไม่มี วิจิกิจฉานุสัยไม่มี เพราะท่านเจริญสติแล้วท่านรู้ชัด ท่านรู้ความหมายของสิ่งที่เห็นเป็นปกติ แต่ท่านละทิฏฐิทั้งหมดไม่เกิดอีกเลยตั้งแต่ท่านเป็นพระอริยบุคคล แต่ยังมีความพอใจ มีความต้องการเกิดขึ้นได้ ยังพอใจในสีสันวัณณะของสิ่งนั้นสิ่งนี้ ของวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ไม่ใช่เพราะไม่รู้ว่า นามทางตาเป็นอย่างไร รูปที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างไร แล้วที่รู้ความหมายนั้นที่ชอบที่ไม่ชอบนั่นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง
ดวงที่ ๔ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ สสังขาริกํ เป็นความยินดีพอใจที่ไม่เกิดกับความเห็นผิด แต่ไม่มีกำลังแรง
สำหรับโลภมูลจิตอีก ๔ ดวง ก็โดยนัยเดียวกัน แต่ว่าเกิดพร้อมกับความรู้สึกปานกลางที่เป็นอุเบกขา ไม่ได้เป็นโสมนัสเวทนาเท่านั้นเอง ส่วนเรื่องของทิฏฐิคตสัมปยุตต์ วิปปยุตต์ อสังขาริก สสังขาริก ก็โดยนัยเดียวกัน
จิตมีราคะ คือ สราคจิต เป็นสิ่งที่สติระลึกรู้ได้ โดยปรมัตถธรรมก็ได้แก่โลภมูลจิต ๘ ประเภท หรือ ๘ ดวงนั่นเอง ส่วนการที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดระลึกแล้วจะรู้ว่าเป็นประเภทไหน มีความต่างกันมากน้อยอย่างไรกับดวงอื่น ก็ต้องแล้วแต่ความสามารถของแต่ละบุคคล
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 132