๑. เวสาลีสูตร ว่าด้วยเหตุปัจจัยที่สัตว์ไม่ปรินิพพานและปรินิพพาน
โดย บ้านธัมมะ  11 ก.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 37221

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 225

คหปติวรรคที่ ๓

๑. เวสาลีสูตร

ว่าด้วยเหตุปัจจัยที่สัตว์ไม่ปรินิพพานและปรินิพพาน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 225

คหปติวรรคที่ ๓

๑. เวสาลีสูตร

ว่าด้วยเหตุปัจจัยที่สัตว์ไม่ปรินิพพานและปรินิพพาน

[๑๙๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน กรุงเวสาลี ครั้งนั้นแล อุคคคฤหบดีชาวกรุงเวสาลี ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุปัจจัยอะไรหนอแล ที่สัตว์บางพวกในโลกนี้ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน อนึ่ง เหตุปัจจัยอะไร ที่สัตว์บางพวกในโลกนี้ปรินิพพานในปัจจุบัน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มีอยู่แล คฤหบดี รูปทั้งหลายอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัด หากว่าภิกษุเพลิดเพลิน สรรเสริญ หมกมุ่นรูปนั้น เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน สรรเสริญ หมกมุ่นรูปนั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมมี อุปาทานอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นก็ย่อมมี ภิกษุผู้มีอุปาทานย่อมไม่ปรินิพพาน ฯลฯ ธรรมารมณ์อันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัด หากว่าภิกษุเพลิดเพลิน สรรเสริญ หมกมุ่นธรรมารมณ์นั้น เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน สรรเสริญ หมกมุ่นธรรมารมณ์นั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมมี อุปาทานอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นก็ย่อมมี ภิกษุผู้มีอุปาทานย่อมไม่ปรินิพพาน ดูก่อนคฤหบดี เหตุปัจจัยนี้แล ที่สัตว์บางพวกในโลกนี้ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 14 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 226

[๑๙๒] ดูก่อนคฤหบดี รูปอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัด หากว่าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่นรูปนั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่นรูปนั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมไม่มี อุปาทานอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมไม่มี ภิกษุผู้ไม่มีอุปาทานย่อมปรินิพพาน ฯลฯ ธรรมารมณ์อันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัด หากภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่นธรรมารมณ์นั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่นธรรมารมณ์นั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยซึ่งตันหานั้นย่อมไม่มี อุปาทานอันอาศัยซึ่งตัณหานั้นย่อมไม่มี ภิกษุผู้ไม่มีอุปาทานย่อมปรินิพพาน ดูก่อนคฤหบดี เหตุปัจจัยนี้แล ที่สัตว์บางพวกในโลกนี้ปรินิพพานในปัจจุบัน.

จบ เวสาลีสูตรที่ ๑

คหปติวรรคที่ ๓

อรรถกถาเวสาลีสูตรที่ ๑

คหปติวรรค เวสาลีสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อุคฺโค ได้แก่ คฤหบดี ชื่อว่า อุคคะ ผู้ให้ของที่ประณีต. อุคคคฤหบดีนั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ อย่างนี้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสาวกของเราผู้ให้ของอันประณีต อุคคคฤหบดี เป็นเลิศ".

จบ อรรถกถาเวสาลีสูตรที่ ๑