ขอกล่าวถึง ขุททกนิกาย เถรีคาถา เอกนิบาต ซึ่งเป็นเถรีคาถาแรกในเถรีคาถาเอกนิบาต มีข้อความว่า
ได้ยินว่า ภิกษุณีรูปหนึ่งผู้ไม่ปรากฏชื่อ ได้ภาษิตคาถาไว้อย่างนี้ว่า
ดูกร พระเถรี ท่านจงทำไตรจีวรด้วยท่อนผ้า แล้วนุ่งห่มให้สบายเถิด เพราะว่าราคะของท่านสงบระงับแล้ว ดุจน้ำผักดองอันแห้งในหม้อ ฉะนั้น
ประวัติของท่านมีว่า
นานมาแล้วท่านเป็นธิดาของตระกูลที่มีความเลื่อมใสในพระธรรม ในสมัยพระโกนาคมนสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเจริญกุศลและบำรุงพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก ท่านเกิดในเทวโลก แล้วก็เกิดเป็นมนุษย์อีก ในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
หลังจากชาตินั้นท่านก็เกิดในสวรรค์อีก จนถึงสมัยของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ซึ่งในชาติสุดท้ายท่านเกิดในตระกูลมหาอำมาตย์ ในพระนคร เวสาลี ท่านเป็นภรรยาของผู้มีตระกูลสูง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึงพระนคร เวสาลี ท่านเลื่อมใสในพระธรรม เป็นอุบาสิกา และเมื่อได้ฟังธรรมของพระมหาปชาบดีโคตมีแล้ว ก็ใคร่ที่จะได้บวชเป็นภิกษุณี แต่สามีของท่านไม่ยินยอม ท่านจึงปฏิบัติหน้าที่ของท่านต่อไปด้วยจิตศรัทธาเลื่อมใส ระลึกถึงพระธรรม และเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน
วันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังทำอาหารอยู่ในครัว ไฟในเตาที่ท่านตั้งหม้อแกงไว้ลุกขึ้น ทำให้น้ำผักดองในหม้อแห้งไป ขณะที่ท่านเห็นเช่นนั้น ก็เป็นสติปัฏฐาน วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ประจักษ์ความไม่เที่ยงของสังขารธรรมทั้งหลาย และบรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล ตั้งแต่นั้นท่านก็ไม่ประดับประดาตกแต่งร่างกายด้วยเพชรนิลจินดา หรือว่าเครื่องประดับประดาตกแต่งต่างๆ เลย
เมื่อสามีถามท่านว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ท่านก็ตอบว่า ท่านมีชีวิตอย่างผู้ครองเรือนต่อไปอีกไม่ได้แล้ว สามีก็พาท่านไปสู่สำนักพระมหาปชาบดีโคตมี และขอให้ท่านพระมหาปชาบดีโคตมีบวชให้ เมื่อพระมหาปชาบดีโคตมีให้อุปสมบทแล้วก็ได้พาท่านไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์คุณธรรมที่ท่านได้บรรลุอริยสัจธรรมแล้ว ด้วยพระคาถาว่า
ดูกร พระเถรี ท่านจงทำไตรจีวรด้วยท่อนผ้า แล้วนุ่งห่มให้สบายเถิด เพราะว่าราคะของท่านสงบระงับแล้ว ดุจน้ำผักดองอันแห้งในหม้อ ฉะนั้น
เมื่อพระเถรีได้บรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็ได้กล่าวตามพระ ดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์แก่ท่าน ด้วยเหตุนี้ คาถานั้นจึงเป็นคาถาของพระเถรี
การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน บางท่านตอนแรกๆ ก็อาจจะคิดว่า ขณะนั้นสติไม่เกิดเลย แต่อย่าคิดว่าสติจะเกิดไม่ได้ หรือว่าปัญญาจะรู้ไม่ได้ ยังไม่เกิด เพราะยังไม่ได้อบรม แล้วปกติของปุถุชนนั้นมากด้วยกิเลสจึงหลงลืมสติ แต่เป็นผู้ที่อบรมให้สติเกิดขึ้น แล้วปัญญาก็ค่อยๆ รู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏตามความเป็นจริง
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 103