ในอนุสสติ ๑๐ มี
อุปสมานุสสติ การระลึกถึงคุณของพระนิพพาน ที่มีสภาพเป็นสันติสุข สงบจากกิเลสทั้งหลาย และหมดสิ้นจากความทุกข์ทั้งปวง เป็นธรรมที่คลายความกำหนัด กำจัดความมัวเมา ดับความกระหาย คลายความอาลัย สิ้นตัณหา ตัดวัฏฏะ พ้นจากเครื่องร้อยรัด ดับสนิทพ้นจากการปรุงแต่ง เมื่อระลึกถึงคุณของพระนิพพานอยู่เนืองๆ จิตใจก็สงบ ไม่กระสับกระส่าย อย่างแน่นอน
คำถามครับ?
สำหรับพระอริยะก็จะพอเข้าใจ แต่ปุถุชน ผู้ที่ยังไม่เข้าถึงพระนิพพานนั้น จะเอาพระนิพพานที่ไหนมาเป็นอารมณ์ ตนเองก็ไม่เคยรู้เคยเห็น หรือเพียงแต่ให้นึกถึงคุณของพระนิพพานอย่างเดียวก็คงมิต้องท่องจำกันหรือ เคยอ่านพบบ่อยมากว่าให้เอานิพพานมาเป็นอารมณ์ คือ มันยังขัดๆ กับความคิดของผม จึงขอเรียนถามมาครับ?
และอยู่ในหมวดสติปัฏฐานข้อไหนครับ?
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรม ละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่การเจริญสมถภาวนา ซึ่งเป็นการเจริญกุศล ที่อบรมเพื่อข่มกิเลส นิวรณ์ในขณะนั้น อันเป็นธรรมที่ควรเจริญตามการสะสมมาของแต่ละคน ครับ ซึ่ง ในประเด็นของ อุปสมานุสติ นั้น หมายถึง สติที่ระลึกเป็นไปในคุณของพระนิพพาน จะเห็นนะครับว่า มีคำว่า ระลึกถึง คุณ ของพระนิพพาน
เพราะฉะนั้น การรู้จักคุณของพระนิพพาน ก็มีหลายระดับ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องประจักษ์พระนิพพานเท่านั้น แม้เพียงการฟังในเรื่องพระนิพพาน แม้ยังไม่ได้ประจักษ์ แต่ หากมีความเข้าใจในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องคุณ พระนิพพาน ก็สามารถเกิดจิตสงบ ชั่วขณะที่ระลึกถึง คุณของพระนิพพาน ครับ ซึ่งข้อความในวิสุทธิมรรค แสดงเพิ่มเติมดังนี้
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 146
[อุปสมานุสติ]
ส่วนว่าโยคาจรภิกษุผู้ใคร่จะเจริญอุปสมานุสติ ซึ่งท่านยกขึ้นแสดงไว้ในลำดับแห่งอานาปานสติ ก็พึงไปในที่ลับคน เร้นอยู่แล้ว ระลึกถึงคุณทั้งหลายแห่งพระนิพพาน ที่นับว่าเป็นที่ระงับแห่งทุกข์ทั้งมวล โดยนัยพระบาลีอย่างนี้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเป็นสังขตะก็ดี อสังขตะก็ดี มีประมาณเพียงใด วิราคธรรม เรากล่าวว่าเป็นเลิศแห่งธรรมเหล่านั้น วิราคธรรมนี้คืออะไร ? วิราคธรรมนี้คือ ธรรมเป็นที่สร่างเมา เป็นที่กำจัดความกระหาย เป็นที่ถอนอาลัยเป็นที่ตัดวัฏฏะ เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สำรอก (ตัณหา) เป็นที่ดับ (ตัณหา) คือนิพพาน ดังนี้
---------------------------------------------------------
จากข้อความที่ยกมานั้น เป็นการแสดงถึง สติที่ระลึกถึงคุณ แต่ไม่ใช่การมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ที่เป็นตัวปรมัตถธรรมเท่านั้น ซึ่งในวิสุทธิมรรค ก็กล่าวถึงพระสูตร ต่างๆ ที่แสดงถึงพระนิพพาน ครับ ดังนั้นพระอริยเจ้า ผู้ที่ประจักษ์พระนิพพานแล้ว ก็ย่อมมีปัญญามาก ตามกำลังของปัญญาแต่ละท่านก็สามารถน้อมระลึกถึงคุณพระนิพพานได้มากกว่า ปุถุชน เพราะ ได้ประจักษ์ตัวจริงของสภาพธรรมที่เป็นพระนิพพาน ส่วน ปุถุชนก็พิจารณาตาม ในขั้นการฟัง ตามพระสูตรที่ได้ยินมาในเรื่องพระนิพพาน ครับ
เมื่อเจริญอุปสมานุสสติสำหรับพระอริยเจ้า จิตย่อมสงบถึง อุปจารสมาธิ ครับ ส่วนปุถุชน แม้ไม่ได้ประจักษ์พระนิพพาน แต่ ได้มีการอ่าน การศึกษาพระธรรมในเรื่องของพระนิพพาน ว่าเป็นธรรมที่สงบกิเลส ไม่ทุกข์ใดๆ ทั้งสิ้น จิตย่อมน้อมไปในการระลึกถึงคุณของพระนิพพาน ที่ทำให้เกิดจิตสงบได้ ชั่วขณะ เพราะระลึกถึงคุณ สังเกตนะครับ ใช้คำว่า ระลึกถึงคุณ ดังนั้น เมื่อได้ฟัง ได้อ่าน เกี่ยวกับพระนิพพานในสูตรต่างๆ ก็เป็นปัจจัยให้ เกิดปัญญาความเข้าใจในขั้นการฟัง ระลึกถึงคุณของพระนิพพานว่าเป็นธรรมที่สงบ ไม่ทุกข์ โศก ไม่เร่าร้อน เพราะปราศจากธรรมที่เป็นทุกข์ การระลึกถึงคุณเช่นนี้ ของพระนิพพานก็เกิดจิตสงบได้ ตามกำลังของปัญญา แต่ ไม่ถึง อุปจารสมาธิ ดั่งเช่น พระอริยเจ้า เพราะไม่มีปัญญาเท่าท่านและไม่ได้ประจักษ์ตัวพระนิพพานจริงๆ จึงไม่รู้คุณของพระนิพพานเท่ากับการประจักษ์ ครับ เพราะฉะนั้น การระลึกถึงคุณของพระนิพพาน ที่เป็น อุปสมานุสติก็เป็นไปตามกำลังของปัญญา เป็นสำคัญ ครับ
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 149
และแม้อุปสมานุสตินี้ ก็ย่อมสำเร็จแก่พระอริยสาวกเท่านั้น เช่นดังฉอนุสติ (ที่กล่าวแล้ว) ถึงเช่นนั้นแม้ปุถุชนผู้หนักในอุปสมะ ก็ควรใส่ใจด้วย เพราะแม้ด้วยอำนาจการฟัง จิตก็เลื่อมใสในอุปสมะได้
--------------------------------------------
จากคำถามที่ว่า และอยู่ในหมวดสติปัฎฐานข้อไหนครับ?
ส่วนอุปสมานุสสติ เป็นการเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่ การเจริญวิปัสสนา แต่ สภาพธรรมที่กำลังระลึกถึงพระคุณ ก็จะต้องมี จิต ในขณะนั้น ดังนั้น อุปสมานุสติ จึงเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ ที่อยู่ในหมวด จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ ครับ หรือเป็นไปใน ธัมมานุปัสสนาสติปํฏฐานก็ได้ คือ เป็นอารมณ์ให้สติและปัญญารู้ได้ รวมทั้ง ขณะนั้นก็มีเวทนาเกิดร่วมด้วย ในขณะที่ระลึกถึง คุณของพระนิพพาน ก็สามารถเกิดสติปัฏฐานระลึกรู้ เวทนาในขณะนั้น ก็เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานได้เช่นกัน ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สิ่งสำคัญอยู่ที่การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้เลย แม้จะได้ยินคำว่า พระนิพพาน ก่อนศึกษาพระธรรม เข้าใจผิดแน่ๆ ว่าจะต้องเมืองแก้ว เป็นสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง แต่เมื่อได้ศึกษาจึงเริ่มเข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่ดับทุกข์ ดับกิเลส เป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ กิเลสที่มีมา เมื่อประจักษ์แจ้งพระนิพพาน ก็ถึงการดับไปตามลำดับ
ปุถุชนที่มีการศึกษาพระธรรมโดยละเอียด โดยเฉพาะคุณของพระนิพพาน เขาย่อมน้อมระลึกคุณของพระนิพพานตามที่ได้ศึกษามา การระลึกถึงคุณของพระนิพพาน เรียกว่า อุปสมานุสสติ
สภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นที่ตั้งของให้เกิดสติปัญญาเกิดขึ้น ระลึกรู้ตามความเป็นจริงได้ ไม่ใช่เรื่องบังคับหรือเจาะจง แต่เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งรากฐานสำคัญจริงๆ ก็คือ ความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ยังไม่ต้องถึงพระนิพพาน เพราะ ยังไม่มีปัญญาถึงระดับนั้น ความสงบของจิตมีหลายอย่าง เช่น ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าก็ทำให้จิตสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน กุศลเกิดก็สงบชั่วขณะ ค่ะ
ขอบคุณทั้งสองท่านครับที่ช่วยสละเวลามาชี้แจงและขยายความให้กระจ่างขึ้น