๘. โมคคัลลนสูตร
โดย บ้านธัมมะ  1 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 39532

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 183

วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

อัพยากตวรรคที่ ๑

๘. โมคคัลลนสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 183

๘. โมคคัลลนสูตร

[๕๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ป่าเภสกลามิคทายวัน ใกล้สุงสุมารคีรนคร แคว้นภัคคะ ก็สมัยนั้นแล ท่านมหาโมคคัลลานะนั่งโงกง่วงอยู่ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งโงกง่วงอยู่ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุมนุษย์ ครั้นแล้วทรงหายจากเภสกลามิคทายวัน ใกล้สุงสุมารคีรนคร แคว้นภัคคะ เสด็จไปปรากฏเฉพาะหน้าท่านพระมหาโมคคัลลานะ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดแล้ว ครั้นแล้วได้ตรัสถามทานพระมหาโมคคัลลานะว่า ดูก่อนโมคคัลลานะ เธอง่วงหรือ ดูก่อนโมคคัลลานะ เธอง่วงหรือ ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

ดูก่อนโมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแหละ เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไรอยู่ ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ เธอพึงทำไว้ในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้ ถ้าเธอยังละไม่ได้ แต่นั้นเธอถึงตรึกตรองพิจารณาถึงธรรมตามที่ตนได้สดับแล้ว ได้เรียนมาแล้วด้วยใจ ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้ ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสาธยายธรรมตามที่ตนได้สดับมาแล้ว ได้เรียนมาแล้วโดยพิสดาร ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอ


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 184

ละความง่วงนั้นได้ ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงยอนช่องหูทั้งสองข้าง เอามือลูบตัว ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้ ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์ ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้ ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงทำในใจถึงอาโลกสัญญา ตั้งความ สำคัญในกลางวันว่า กลางวันอย่างไร กลางคืนอย่างนั้น กลางคืนอย่างไร กลางวันอย่างนั้น มีใจเปิดเผยอยู่ฉะนี้ ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้ ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงอธิษฐานจงกรม กำหนดหมาย เดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่เปิดไปให้ภายนอก ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้ ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสำเร็จสีหไสยา คือนอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญญะ ทำความหมายในการนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ ดูก่อนโมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล.

ดูก่อนโมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงศึกษาอย่างนี้อีกว่า เราจักไม่ชูงวง (ถือตัว) เข้าไปสู่ตระกูล ดูก่อนโมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ถ้าภิกษุชูงวงเข้าไปสู่ตระกูล และในตระกูลมีกรณียกิจหลายอย่างซึ่งจะเป็นเหตุให้มนุษย์ไม่ใส่ใจถึงภิกษุผู้มาแล้ว เพราะเหตุนั้น ภิกษุย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เดี๋ยวนี้ใครหนอยุยงให้เราแตกในสกุลนี้ เดี๋ยวนี้ดูมนุษย์พวกนี้มีอาการอิดหนาระอาใจในเรา เพราะไม่ได้อะไรเธอจึงเป็นผู้เก้อเขิน


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 185

เมื่อเก้อเขิน ย่อมคิดฟุ้งซ่าน เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ.

เพราะฉะนั้นแหละโมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักไม่พูดถ้อยคำซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน ดูก่อนโมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล เมื่อมีถ้อยคำซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกันก็จำต้องหวังการพูดมาก เมื่อมีการพูดมาก ย่อมคิดฟุ้งซ่าน เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ.

ดูก่อนโมคคัลลานะ อนึ่ง เราหาสรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงไม่ แต่มิใช่ว่าจะไม่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงก็หามิได้ คือ เราไม่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยหมู่ชนทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ก็แต่ว่า เสนาสนะอันใดเงียบเสียง ไม่อื้ออึง ปราศจากการสัญจรของหมู่ชน ควรเป็นที่ประกอบกิจของผู้ต้องการความสงัด ควรเป็นที่หลีกออกเร้น เราสรรเสริญความคลุกคลีด้วยเสนาสนะเห็นปานนั้น.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงไรหนอ ภิกษุจึงเป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.

พ. ดูก่อนโมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น ครั้นได้สดับดังนั้นแล้ว เธอย่อมรู้ชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง ครั้นรู้ชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญา


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 186

อันยิ่งแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว ได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี ย่อมพิจารณาเห็น ความไม่เที่ยงในเวทนาเหล่านั้น พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืน เมื่อเธอพิจารณาเห็นอย่างนั้นๆ อยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยืดมั่น ย่อมไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมปรินิพพานเฉพาะตัวทีเดียว ย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูก่อนโมคคัลลานะ โดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงเป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน เป็นผู้เกษมจากโยคะล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.

จบ โมคคัลลานสูตรที่ ๘

อรรถกถาโมคคัลลานสูตรที่ ๘

โมคคัลลานสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า จปลายมาโน ความว่า พระมหาโมคคัลลนะเข้าไปอาศัยหมู่บ้านนั้น กระทำสมณธรรมในไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง มีร่างกายลำบากเพราะถูกความเพียรในการจงกรมตลอด ๗ วันบีบคั้น จึงนั่งโงกง่วงอยู่ในท้ายที่จงกรม. บทว่า จปลายสิ โน แก้เป็น นิทฺทายสิ นุ แปลว่า เธอง่วงหรือ. บทว่า อนุมชฺชิตฺวา แปลว่า ลูบคลำแล้ว. บทว่า อาโลกสญฺํ ได้แก่ ความสำคัญในความสว่างเพื่อบรรเทา


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 187

ความง่วง. บทว่า ทิวาสญฺํ ได้แก่ ความสำคัญว่าเป็นกลางวัน. บทว่า ยถา ทิวา ตถา รตฺติํ ความว่า เธอตั้งความสำคัญว่าสว่างในกลางวันฉันใด เธอตั้งความสำคัญว่าสว่างนั้นแม้ในกลางคืนก็ฉันนั้น. คำว่า ยถา รตฺติํ ตถา ทิวา เธอตั้งความสำคัญว่าสว่างในกลางคืนฉันใด เธอตั้งความสำคัญว่าสว่างนั้นแม้ในกลางวันฉันนั้น. บทว่า สปฺปภาสํ เธอพึงให้จิตเป็นไปพร้อมกับแสงสว่างเพื่อประโยชน์แก่ทิพยจักขุญาณ. บทว่า ปจฺฉาปุเรสญฺี ความว่า ผู้มีสัญญาด้วยสัญญาอันนำไปทั้งข้างหน้าและข้างหลัง. บทว่า อนฺโตคเตหิ อินฺทฺริเยหิ ได้แก่ ด้วยอันทรีย์ ๕ อันไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก อันเข้ามาตั้งอยู่ในภายในเท่านั้น. บทว่า มิทฺธสุขํ ได้แก่ ความสุขอันเกิดแต่ความหลับ. พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงกรรมฐานเครื่องบรรเทาความง่วงแก่พระเถระด้วยฐานะมีประมาณเท่านี้.

บทว่า โสณฺฑํ ได้แก่ งวง คือมานะ. ในบทว่า กิจฺจกรณียานิ นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ กรรมที่ตนจะพึงทำแน่แท้ชื่อว่า กิจฺจานิ กิจกรรมที่เป็นหน้าที่ทั้งหลาย, ส่วนกิจนอกนี้ชื่อว่า กรณียานิ กิจควรทำทั้งหลาย. บทว่า มงฺกุภาโว ได้แก่ ความเป็นผู้ไร้อำนาจ ความโทมนัส เสียใจ. พระศาสดาตรัสภิกขาจารวัตรแก่พระเถระด้วยฐานะมีประมาณเท่านี้. บัดนี้ เพื่อจะทรงชักจูงกันให้สิ้นสุดลง พระองค์จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ตสฺมาติห ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิคฺคาหิกกถํ ความว่า ถ้อยคำอันเป็นเหตุให้ถือเอาผิดเป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า ท่านย่อมไม่รู้ธรรมและวินัยนี้ เพื่อจะเว้น


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 188

การคลุกคลีกับบาปมิตร พระศาสดาจึงตรัสคำมีอาทิว่า นาหํ โมคฺคลฺลาน ดังนี้.

บทว่า กิตฺตาวตา นุ โข ความว่า ด้วยข้อปฏิบัติเพียงไรหนอ. บทว่า ตณฺหาสงฺขยวิมุตฺโต โหติ ความว่า ภิกษุชื่อว่าตัณหาสังขยวิมุตตะเพราะเป็นผู้มีจิตน้อมไปในพระนิพพานอันเป็นที่สิ้นตัณหา ทำพระนิพพานนั้นเป็นอารมณ์ พระมหาโมคคัลลานะทูลถามว่า โดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเท่าไร ภิกษุย่อมชื่อว่าตัณหาสังขยวิมุตตะ ขอพระองค์โปรดทรงแสดงข้อปฏิบัตินั้นนั่นแล ที่เป็นปฏิปทาส่วนเบื้องต้นของภิกษุผู้ขีณาสพโดยสังเขปเถิดพระเจ้าข้า.

บทว่า อจฺจนฺตนิฏฺโ ความว่า ชื่อว่า อจฺจนตา เพราะเป็นไปล่วงส่วน กล่าวคือความสิ้นไปและความเสื่อมไป. ภิกษุชื่อว่า อจฺจนฺตนิฏฺโ เพราะมีความสำเร็จล่วงส่วน อธิบายว่า มีความสำเร็จโดยส่วนเดียว มีความสำเร็จติดต่อกัน. บทว่า อจฺจนฺตโยคฺคกฺเขมี ความว่า ผู้มีธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะล่วงส่วน อธิบายว่า มีธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะเป็นนิจ. บทว่า อจฺจนฺตพฺรหฺมจารี ความว่า เป็นพรหมจารีล่วงส่วน อธิบายว่า เป็นพรหมจารีเป็นนิจ. บทว่า อจฺจนตปริโยสาโน ความว่า มีที่สุดล่วงส่วนโดยนัยก่อนนั่นแหละ. บทว่า เสฏฺโ เทวมนุสฺสานํ ความว่า ประเสริฐสุดคือสูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. พระมหาโมคคัลลานะทูลขอว่า ภิกษุชื่อว่าเห็นปานนี้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงไร ขอพระองค์โปรดทรงแสดงสำหรับภิกษุนั้นโดยย่อเถิดพระเจ้าข้า.


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 189

ในคำว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย นี้มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ ชื่อว่าธรรมทั้งปวงคือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ธรรมทั้งหมดนั้นไม่ควร คือ ไม่ถูก ไม่ชอบ ไม่เหมาะที่จะยึดมั่นด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ. เพราะเหตุไรธรรมจึงไม่ควรถือมั่น เพราะธรรมเหล่านั้นไม่ตั้งอยู่โดยอาการที่จะยึดถือไว้ จริงอยู่ธรรมเหล่านั้นแม้ตนจะยึดถือเอาว่าสังขารทั้งหลายเป็นของเที่ยง เป็นสุข และเป็นอัตตา ก็ย่อมสำเร็จผลว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาอยู่นั่นเอง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าไม่ควรถือมั่นดังนี้. บทว่า อภิชานาติ ความว่า ย่อมรู้ยิ่ง คือรู้ด้วยญาตปริญญาว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา. บทว่า ปริชานาติ ความว่า ย่อมกำหนดรู้ด้วยติรณปริญญาเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ. บทว่า ยํกิญฺจิ เวทนํ ความว่า ย่อมเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งแม้มีประมาณน้อย โดยที่สุดแม้ประกอบด้วยปัญจวิญญาณ. ด้วยบทนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยักเยื้องด้วยอำนาจเวทนา จึงแสดงการกำหนดอรูปธรรม (นามธรรม) เป็นอารมณ์แก่พระเถระ

บทว่า อนิจฺจานุปสฺสี ได้แก่ พิจารณาเห็นโดยความไม่เที่ยง. วิราคะ ในบทว่า วิราคานุปสฺสีนี้มี ๒ คือ ขยวิราคะ ความคลายกำหนัดเพราะสิ้นไป ๑ อัจจันตวิราคะ ความคลายกำหนัดเพราะล่วงส่วน ๑ ในสองอย่างนั้น วิปัสสนาอันเห็นความสิ้นไปแห่งสังขารทั้งหลายโดยความสิ้นก็ดี มรรคญาณคือการเห็นความคลายกำหนัดล่วงส่วนคือพระนิพพานโดยความคลายกำหนัดก็ดี ชื่อว่า วิราคานุปัสสนา


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 190

การพิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด. บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยวิราคธรรมทั้ง ๒ นั้นชื่อว่า วิราคานุปัสสี ผู้ตามเห็นความคลายกำหนัด. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงวิราคะนั้นจึงตรัสว่า วิราคานุปสฺสี อธิบายว่าบุคคลผู้พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด

แม้ในนิโรธานุปสสีบุคคลก็นัยนี้เหมือนกัน. เพราะแม้นิโรธ ความดับก็มี ๒ เหมือนกัน คือ ขยนิโรธ ความดับเพราะสิ้นไป อัจจันตนิโรธ ความดับล่วงส่วน. ในบทว่า ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี นี้ โวสสัคคะ ความสละ ท่านเรียกว่า ปฏินิสสัคคะ ความสละคืน. ความสละนั้นก็มี ๒ อย่าง คือ ปริจจาคโวสสัคคะ ความสละด้วยการบริจาค ปักขันทนโวสสัคคะ ความสละด้วยการแล่นไป. บรรดาความสละทั้ง ๒ นั้น วิปัสสนาชื่อว่าปริจจาคโวสสัคคะ ความสละด้วยการละ. จริงอยู่ วิปัสสนานั้นย่อมละได้ซึ่งกิเลสและขันธ์ด้วยอำนาจตทังคปหาน. มรรคชื่อว่า ปักขันทนโวสสัคคะ ความสละด้วยการแล่นไป ด้วยว่ามรรคนั้นย่อมแล่นไปสู่พระนิพพานโดยเป็นอารมณ์. อีกอย่างหนึ่งมรรคนั้นชื่อว่าโวสสัคคะ เพราะเหตุแม้ทั้ง ๒ คือ เพราะละขันธ์และกิเลสด้วยอำนาจสมุจเฉทปหานและเพราะการแล่นไปในพระนิพพาน เพราะเหตุนั้น วิปัสสนาจึงชื่อว่า ปริจจาคโวสสัคคะ สละด้วยการปริจาค เพราะวิปัสสนาย่อมละกิเลสและขันธ์ และมรรคที่ชื่อว่า ปักขันทนโวสสัคคะ ความสละด้วยการแล่นไป เพราะจิตย่อมแล่นไปในความดับสนิทคือนิพพานธาตุ ก็เพราะเหตุนี้ คำทั้งสองนี้จึงจัดเข้าได้ในมรรค บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยวิปัสสนาและมรรคทั้งสองนั้นย่อมเป็นผู้


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 191

ชื่อว่า ปฏินิสสัคคานุปัสสี ผู้ตามเห็นความสละคืน เพราะประกอบด้วยปฏินิสสัคคานุปัสสนานี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงบุคคลนั้นจึงตรัสอย่างนี้.

คำว่า น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ความว่า ภิกษุนั้นย่อมไม่ยึด ไม่ถือเอา ไม่จับต้องธรรมชาติอะไร คือสังขารแม้อย่างหนึ่ง ด้วยอำนาจตัณหา. คำว่า อนุปาทิยํ น ปริตสฺสติ ความว่า เมื่อไม่ถือมั่นย่อมไม่สะดุ้ง เพราะความหวาดสะดุ้งด้วยอำนาจตัณหา. บทว่า ปจฺจตฺตํเยว ปรินิพฺพายติ ความว่า ย่อมปรินิพพานด้วยกิเลสปรินิพพานด้วยตนทีเดียว. ก็ปัจจเวกขณญาณของภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงโดยนัยเป็นต้นว่า ขีณา ชาติ ชาติสิ้นแล้ว ดังนี้. ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าถูกพระมหาโมคคัลลานะทูลถามถึงปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้นของพระขีณาสพโดยย่อแล้ว จึงตรัสโดยย่อเหมือนกัน. แต่พระสูตรนี้เป็นทั้งพระโอวาท เป็นทั้งวิปัสสนาสำหรับพระเถระ พระเถระนั้นเจริญวิปัสสนาในพระสูตรนี้แล้วบรรลุพระอรหันต์ ดังนี้แล.

จบ อรรถกถาโมคคัลลานะสูตรที่ ๘