เข้าใจผิดว่าเกิดมาใช้กรรม กรรมหมดก็ไม่ต้องเกิด
โดย ขอธรรมทาน  14 ม.ค. 2553
หัวข้อหมายเลข 15125

จริงๆ แล้วไม่ใช่ แม้กรรมหมดก็ยังต้องเกิด สมัยเด็กเคยอ่านมาว่า พระพุทธเจ้าแสดงตัวอย่างให้เห็นว่า บางคนไม่ทำกรรมดี ไม่ทำกรรมเลว ก็ยังต้องเกิด เกิดเป็นคนจน ไม่อด แต่ก็ไม่รวย ไม่ลำบาก แต่ก็ไม่สบาย

1. หากใครทราบพระสูตรนี้ช่วยแสดงอ้างอิงอีกทีด้วยครับ

2. สัตว์โลกเกิดมาไม่ใช่เพราะต้องมาใช้กรรมใช่มั้ยครับ

3. สัตว์โลกเกิดมาเพราะวงจร ปฏิจสมุปบาท ใ่ช่มั้ยครับ

เพราะมีเกิดแล้วเลยก็เลยมีใช้กรรมเก่า และสร้างกรรมใหม่ ใช่ไหมครับ?

ขอบคุณครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 14 ม.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ผู้ที่จะไม่มีการเกิดอีกเลยนั้น คือ พระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้ที่ห่างไกลจากกิเลส ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด (เมื่อท่านเป็นพระอรหันต์แล้วในขณะที่ยังไม่ปรินิพพาน จิตของท่าน มีเพียง ๒ ชาติ เท่านั้น คือ เป็นกิริยา กับวิบากเท่านั้น จะไม่มีจิตชาติกุศล และอกุศล เลย) เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ปุถุชน จึงยังต้องมีการเกิดอยู่ร่ำไป สังสารวัฏฏ์ ยังไม่จบสิ้น มีการกระทำที่เป็นบาปบ้าง เป็นบุญบ้าง ตามการสะสม การเกิดมาเป็นมนุษย์จะมีชีวิตที่สะดวกสบาย มีโภคทรัพย์ หรือ ขัดสน ยากจนนั้น ขึ้นอยู่กับเหตุที่ได้กระทำแล้วเป็นสำคัญ กล่าวคือ เพราะมีการให้ทาน จึงเป็นเหตุทำให้ไม่ขัดสน ไม่ยากจน ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ตระหนี่ ไม่ให้ทาน จึงให้เกิดมาเป็นคนยากจน ขัดสน ไม่มีโภคทรัพย์ ตามข้อความในพระไตรปิฎกที่ยกมา (ขอเชิญคลิกอ่าน) ครับ

ยากจน

ความทุกข์ที่เกิดจากการขัดสนเงินทอง เกิดจากอะไร

ตราบใดที่ยังมีอวิชชา (ความหลง ความไม่รู้) และตัณหา (ความติดข้องยินดีพอใจ) ยังต้องมีการเกิดในภพต่างๆ อยู่ตราบนั้น การเกิดในแต่ละภพในแต่ละชาตินั้น ขณะจิตแรกในภพนี้ (ปฏิสนธิจิต) เป็นผลของกรรม เมื่อเกิดมาแล้ว ไม่ใช่ว่าจะมีเพียงการได้รับผลของกรรมเพียงอย่างเดียว เท่านั้น ยังมีการสะสมเหตุที่จะให้ผลต่อไปข้างหน้าด้วย แต่เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ชีวิตของแต่ละบุคคล เป็นจิตแต่ละขณะๆ ที่เกิดดับสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่ขาดสาย เป็นวิบากจิต บ้าง กุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง กริยาจิตบ้าง (ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ มีกิริยาจิตเพียง ๒ ดวงเท่านั้น คือปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิต) ขณะที่ได้รับผลของกรรมในชีวิตประจำวันที่เห็นได้ชัด คือ ขณะ เห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย นั่นเอง ซึ่งมีทั้งที่น่าปรารถนาบ้าง ไม่น่าปรารถนาบ้าง ขึ้นอยู่กับว่า เป็นผลของกรรมประเภทใด แต่หลังจากนั้น จะเป็นกุศล หรือเป็นอกุศลนั้น ย่อมแล้วแต่การสะสมมาของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง แต่ทั้งหมด เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ บุคคลตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละภพในแต่ละชาติ หรือ แม้แต่ในขณะนี้ ก็เป็นปฏิจจสมุปปาทะ (ธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี) เพราะยังมีอวิชชายังไม่ได้ดับอวิชชาอย่างเด็ดขาด สังสารวัฏฏ์ ก็ยังดำเนินต่อไป มีการเกิดในภพต่างๆ อยู่ร่ำไป มีการเห็น การได้ยิน มีกุศลจิต อกุศลจิต เป็นต้น แต่เมื่อมีการอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งสามารถดับอวิชชาได้อย่างเด็ดขาดถึงความเป็นพระอรันต์ จึงจะเป็นผู้หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้ทั้งหมด ไม่ต้องมีการเกิดอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ชีวิตของผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จึงไม่พ้นไปจากสองส่วนเลย คือ ส่วนหนึ่ง เป็นส่วนที่เป็นผลของกรรม และอีกส่วนหนึ่ง เป็นส่วนของการสะสมเหตุที่จะทำให้เกิดผลข้างหน้า ตามที่ได้เข้าใจและตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 2    โดย ขอธรรมทาน  วันที่ 14 ม.ค. 2553

สมัยเด็กเคยอ่านมาว่า พระพุทธเจ้าแสดงตัวอย่างให้เห็นว่า บางคนไม่ทำกรรมดี ไม่ทำกรรมเลว ก็ยังต้องเกิด เกิดเป็นคนจน ไม่อด แต่ก็ไม่รวย ไม่ลำบาก แต่ก็ไม่สบาย

1. หากใครทราบพระสูตรนี้ช่วยแสดงอ้างอิงอีกทีด้วยครับ

2. วงจร ปฏิจจสมุปบาท พระพุทธเจ้ากล่าวถึงว่าอย่างไรบ้างครับ

3. นอกจากวงจร ปฏิจจสมุปบาท มีเหตุอื่นให้เวียนว่ายตายเกิดอีกหรือไม่ครับ

ขอบคุณครับ


ความคิดเห็น 3    โดย prachern.s  วันที่ 15 ม.ค. 2553

๑. ยังไม่พบพระสูตรในลักษณะนี้ครับ

๒. โดยย่อคือ กรรม กิเลส วิบาก

รายละเอียดขอเชิญคลิกอ่านได้ที่

ปฏิจจสมุปบาท [เทสนาสูตร]

การจำแนกปฏิจจสมุปาท [วิภังคสูตร]

๓. คำสอนเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ก็คลุมทั้งหมดแล้วครับ


ความคิดเห็น 4    โดย WS202398  วันที่ 15 ม.ค. 2553

ทางทฤษฎี เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าจะมีผู้ไม่ทำกรรมดีหรือชั่ว


ความคิดเห็น 5    โดย ขอธรรมทาน  วันที่ 15 ม.ค. 2553

ขอบคุณครับ

ปล. ตกลงแล้วฟันธงแล้ว กรรมเป็นสาเหตุโดยแท้ สาเหตุตั้งต้น ให้เวียนว่ายตายเกิดหรือเปล่าครับ หรือว่าเพราะอวิชชา (ข้อนี้มีคนสงสัยกันมากนักต่อนัก ในหลายที่หลายแห่ง และส่วนใหญ่คนไทยมักเข้าใจว่าคนเราเกิดมาเพราะต้องมาใช้กรรม กรรมหมดเมื่อไหร่ก็จะได้ไม่ต้องมาเกิดอีก)


ความคิดเห็น 6    โดย ขอธรรมทาน  วันที่ 15 ม.ค. 2553

ปล. ขอบคุณทั้งคุณคำปั่นและคุณประเชิญ ครับ


ความคิดเห็น 7    โดย paderm  วันที่ 15 ม.ค. 2553

อ้างอิงจาก : หัวข้อ 15125 ความคิดเห็นที่ 5

เพราะมีความไม่รู้ จึงเป็นปัจจัยให้มีการเวียนว่ายตายเกิด เพราะความไม่รู้ จึงเป็นปัจจัย ให้ทำกรรมดีและไม่ดี เมื่อทำกรรมดีและไม่ดีก็เป็นปัจจัยให้มีการเกิดขึ้นของนามธรรม และรูปธรรมที่บัญญัติว่าเป็นสัตว์ บุคคล จนเป็นปัจจัยให้เกิดวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ นั่นก็คือปฏิจจสมุปบาท เพราะความไม่รู้อันเป็นสาเหตุตั้งต้นให้มีการเวียนว่ายตายเกิด อันเป็นการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้นั่นเอง

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 8    โดย paderm  วันที่ 15 ม.ค. 2553

อ้างอิงจาก : หัวข้อ 15125 ความคิดเห็นที่ 4 โดย WS202398

ทางทฤษฎี เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าจะมีผู้ไม่ทำกรรมดีหรือชั่ว เจตนาเจตสิกทุกดวง แต่ไมได้หมายความว่า เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตทั้งหมด จะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมครับ เพราะจิตมี ๔ ชาติ คือกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตชาติวิบาก ไม่ใช่กุศลกรรม (ทำกรรมดี) ไม่ใช่อกุศลกรรม (ทำกรรมไม่ดี) เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตของพระอรหันต์ ที่ไม่ใช่วิบาก ท่านไม่เป็นกุศลหรืออกุศลเลยแต่เป็นกิริยาจิต เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็ไม่เรียกว่าเป็นกรรมดี (กุศลกรรม) และไม่ใช่เรียกว่ากรรมไม่ดี (อกุศกรรม) พระอรหันต์จึงไม่ได้ทำกรรมใหม่แล้ว ผู้ที่จะไม่เป็นบุญเป็นบาปอีกก็คือพระอรหันต์ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 9    โดย hadezz  วันที่ 16 ม.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย wannee.s  วันที่ 16 ม.ค. 2553

เจตนาเจตสิกเกิดจิตได้ ๔ ชาติ คือ ชาติกุศล ชาติอกุศล ชาติวิบาก ชาติกิริยา


ความคิดเห็น 11    โดย วิริยะ  วันที่ 17 ม.ค. 2553

เรียนถามค่ะ

เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตชาติวิบาก มีลักษณะอย่างไร เช่นตาเห็นรูป เห็นแล้วเจตนาเจตสิกทำหน้าที่อย่างไร สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวงใช่หรือไม่ เช่นเห็นแล้วก็จำอย่างเดียว


ความคิดเห็น 12    โดย prachern.s  วันที่ 18 ม.ค. 2553

เจตนาเจตสิก และสัญญาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง เมื่อเกิดจิตชาติวิบาก ย่อมทำกิจตามชาติของจิต ซึ่งเป็นเพียงผลของกรรม ซึ่งต่างจากจิตชาติ

กุศลและอกุศลครับ



ความคิดเห็น 13    โดย chatchai.k  วันที่ 6 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ