อาฆาตมาดร้าย
โดย ชีวิตคือขณะจิต  12 ก.ค. 2553
หัวข้อหมายเลข 16715

บุคคลย่อมผูกความอาฆาต เราย่อมถูกอาฆาต ทำไมความอาฆาตมาดร้ายจึงมีในโลกครับ


ความคิดเห็น 1    โดย prachern.s  วันที่ 13 ก.ค. 2553

ความโกรธความอาฆาตมีอยู่ในจิตผู้ใด

ความโกรธความอาฆาตย่อมมีอยู่ในโลกของผู้นั้น

ความโกรธความอาฆาต เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป

ความโกรธความอาฆาต เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นปัจจัยต่อไป


ความคิดเห็น 2    โดย opanayigo  วันที่ 13 ก.ค. 2553

ข้อความยกมา ;

ลักษณะของความโกรธต่างๆ รวมทั้งความผูกโกรธด้วยนั้น ข้อความในสัมโมหวิโนทนี ขุททกวัตถุวิภังคนิทเทส ได้อธิบายลักษณะของความผูกโกรธว่า

บุคคลใดย่อมผูกโกรธไว้ในกาลก่อน ภายหลังความโกรธเกิดขึ้นอีก ดังนี้ ก็ชื่อว่า อุปนาหะ

ความผูกโกรธเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่ควรจะรู้ว่า โกรธใครแล้วยังไม่ลืม ยังโกรธอยู่อีก นี้คือความผูกโกรธ

คำว่า "อฏฺฐาปนา" ความตั้งไว้ ได้แก่ การตั้งความโกรธไว้ติดต่อกันของความโกรธอันเกิดขึ้นครั้งแรก

(โกรธไม่จบ โกรธครั้งแรกอย่างไร ก็ยังคงตั้งความโกรธไว้ติดต่อกันกับความโกรธอันเกิดขึ้นครั้งแรก)

การตั้งความโกรธไว้ตามปกติ เรียกว่า "การทรงไว้ซึ่งความโกรธ" การตั้งความโกรธไว้บ่อยๆ โดยส่วนทั้งปวง ชื่อว่า "ความดำรงความโกรธไว้" การไม่แสดงความแตกต่างกันแห่งความโกรธหลังกับความโกรธอันเกิดก่อน แล้วทำไว้โดยความเป็นอันเดียวกัน ชื่อว่า "ความสั่งสมความโกรธไว้"

คือไม่ลดลงเลย ไม่ว่ากาลเวลาจะล่วงเลยไปนานสักเท่าใด ความสืบต่อความโกรธครั้งหลังกับด้วยความโกรธครั้งแรก

ชื่อว่า "ความผูกพันความโกรธไว้" คำว่า "ความยึดมั่นความโกรธ" ได้แก่การทำความโกรธให้มั่นคง (ผูกไว้แล้วทำให้มั่นคงด้วย) คำว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า ลักษณะนี้ มีความผูกโกรธ เป็นลักษณะ มีความไม่สละคืนซึ่งเวร เป็นรสะ (กิจ) พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกลักษณะนี้ว่า อุปนาหะ ความผูกโกรธดังนี้ อธิบายว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยความโกรธด้วยลักษณะใด ย่อมไม่อาจเพื่อสละเวรชื่อเห็นปานนี้ บุคคลนี้ย่อมติดตามซึ่งความโกรธอื่นๆ อีกด้วยว่า "บุคคลนี้ไม่สมควรพูดกะเราอย่างนี้" ดังนี้ ความโกรธของเขา ย่อมลุกโพลงทีเดียว ราวกะไม้สนอันไฟติดทั่วแล้ว ความโกรธย่อมไม่สะอาด เป็นราวกะหนังหมีอันบุคคลทำความสะอาดอยู่ และเป็นราวกะผ้าเก่าอันเปื้อนด้วยไขมัน

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมด้วยพยัญชนะต่างๆ เพื่อที่จะให้พิจารณาเห็นจริงๆ ว่า ในวันหนึ่งๆ เป็นอย่างนี้หรือเปล่า บางท่านก็อาจจะคิดว่า ทำไมต้องทรงแสดงไว้มาก ฟังดูก็รู้สึกซ้ำไปซ้ำมาหรือว่าคล้ายกันจนเกือบแยกไม่ออก แต่เทศนาซึ่งพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงย่อมวิจิตรด้วยประการต่างๆ พร้อมด้วยคุณประโยชน์สำหรับอัธยาศัยของผู้ฟังต่างๆ กัน ถ้าพูดครั้งเดียวเท่านั้น ใครสามารถจะระลึกได้ ใครสามารถจะพิจารณาได้

..............................

ศึกษาเพิ่มเติม ในหมวดเรื่องของธรรมะ

" แด่ผู้มีทุกข์ ความผูกโกรธเป็นโทสมูลจิต "

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 16 ก.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ทำไมความอาฆาตมาดร้ายจึงมีในโลก

โลกคือสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นและดับไปคือจิต เจตสิก รูป เพราะมีจิต เจตสิก รูป

จึงบัญญัติว่าเรา ว่าสัตว์ บุคคล เพราะยังมีกิเลสที่สะสมมามากจึงยังมีความโกรธและ

เมื่อความโกรธมีกำลังคือนึกถึงแล้วก็ยังโกรธอีกก็เป็นความผูกโกรธ และความโกรธที่มี

กำลังย่อมถึงกับอาฆาตมาดร้ายบุคคลอื่นได้ เหตุมาจากกิเลสที่มีอยู่คือโทสะนั่นเอง

เมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิดก็เกิดความอาฆาตมาดร้ายได้ ผู้มีปัญญาจึงควรเป็นผู้เห็นโทษ

ของกิเลสตามกำลังของปัญญา ด้วยการศึกษาพระธรรมให้ถูกต้องและดับกิเลส

เป็นไปตามลำดับ โดยดับความเห็นผิดว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคลก่อน แต่ในชีวิต

ประจำวัน การน้อมปฏิบัติตามพระธรรมย่อมเป็นสิ่งที่เกื้อกูลนั่นคือความมีเมตตาและ

ขันติ ซึ่งจะเกิดคุณธรรมเหล่านี้ได้ก็เพราะศึกษาพระธรรมด้วยความแยบคาย อนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 4    โดย ชีวิตคือขณะจิต  วันที่ 17 ก.ค. 2553
แค่คิดพิจารณา ความเห็นผิดว่า เป็นบุคคล สัตว์ สิ่งของ ก็สังเวช ว่าภพไม่อาจพ้น

ชรา มรณะ หากเห็นด้วยปัญญา ความดับของสิ่งทั้งหลายคงปรากฏ เห็นความหมด

สิ้นลงหนอ

ความคิดเห็น 5    โดย khampan.a  วันที่ 17 ก.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ความโกรธ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ผู้ที่ยังไม่มีปัญญาถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ยังต้องมีความโกรธอย่างแน่นอน เพราะเหตุว่ายังมีเชื้อของความโกรธที่ยังไม่ได้ดับอย่างเด็ดขาด เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยความโกรธจึงเกิดขึ้น แม้จะมีความตั้งใจว่าจะไม่โกรธ ก็ตาม นี้คือ ความจริง ธรรมเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ส่วนใหญ่มักจะมอง ว่า ความโกรธอย่างรุนแรง ความอาฆาต พยาบาทปองร้าย เท่านั้น ที่เป็นโทสะ (ความโกรธ) แต่ไม่ใช่เพียงเท่านั้น แม้แต่ความขุ่นใจเล็กๆ น้อยๆ ไม่พอใจ ตกใจ กลัว ก็เป็นโทสะแล้ว ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ก็จะเห็นได้ว่าเพียงความขุ่นใจนิดเดียว ก็เป็นลักษณะของโทสะแล้ว แม้จะไม่มากถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตทั้งทางกาย และ ทางวาจาเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนก็ตาม

ที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ ความโกรธขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ถ้าเพียงโกรธแล้วก็ดับไป ไม่คิดที่จะโกรธซ้ำอีก ก็ย่อมจะดีกว่าการผูกโกรธ (แต่ไม่ได้หมายความว่าความโกรธ เป็นสิ่งที่ดี เพราะเหตุว่าอกุศล ไม่ดีทั้งนั้น) ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ก็จะไม่เป็นความโกรธแบบไม่จบ ไม่เป็นความโกรธที่ไม่ลืม ไม่เป็นการผูกอาฆาตมาดร้ายเพราะเหตุว่าเวลาที่โกรธแล้วไม่ลืม สังขารขันธ์ก็จะปรุงแต่งต่อไปอีก ถึงกับเป็นความพยาบาท เป็นความแค้นเคืองที่คิดจะประทุษร้าย ปองร้าย เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน

นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอกุศลเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่เพียงแต่โทสะ เท่านั้น ที่เป็นโทษ แต่อกุศลทุกอย่าง ทุกประการเป็นโทษ เป็นภัยทั้งสิ้น ที่บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะเห็นตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้น กิเลส อกุศลที่มีมากอย่างนี้ จะหมดสิ้นไปได้ ก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาไปตามลำดับ ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 6    โดย ajarnkruo  วันที่ 18 ก.ค. 2553

ผู้ที่อาฆาตบุคคลอื่น ก็เพราะโลกคือใจของเขา มีการสะสมความโกรธและการผูก-โกรธมาแล้วอย่างนั้น เราคงไปแก้การสะสมของใครไม่ได้ ถ้าเราไม่อยู่ในฐานะที่จะแนะนำให้เขาเห็นโทษของโทสะ และเห็นคุณของเมตตาได้ เราก็อบรมเมตตาให้เกิดกับจิตของเราเอง รักษาใจของเราไม่ให้เป็นไปกับอกุศลเหมือนเขา เขาอาฆาตเรา แต่เราไม่อาฆาตตอบ โลกคือใจของเราก็สงบ เป็นกุศล ไม่มีเหตุให้ต้องหวั่นไหวอะไร ใครจะเป็นหรือไม่เป็นมิตรกับเรา ไม่สำคัญเท่ากับการที่เราเป็นมิตรกับทุกคน เมื่อใจเราไม่เป็นศัตรูกับใคร เราก็ไม่ต้องเดือดร้อนวุ่นวายอะไร เราก็อบรมเจริญกุศล ฟังพระธรรมไตร่ตรองพระธรรม น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม เพื่อเป็นคนดี ที่มีปัญญาขัดเกลากิเลสของตนให้ยิ่งๆ ขึ้นต่อไปครับ

เชิญคลิกฟังครับ >>> จะเดือดร้อนไหมถ้าใจเป็นมิตร


ความคิดเห็น 7    โดย jintana  วันที่ 1 ส.ค. 2553

ขอบพระคุณ คุณ ajarnkruo และท่านอ.สุจินต์ค่ะ จะน้อมนำไปปฏิบัติค่ะ

ขออนุโมทนา....สาธุค่ะ...