สามเณร และ ศีลจาริณี
โดย chatchai.k  17 มี.ค. 2558
หัวข้อหมายเลข 26325

ศีลจารณี คืออะไร อ่านพบในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง กล่าวถึงการบวชสามเณรและศีลจาริณี สนับสนุนให้เด็กทั้งหญิงชายมาบวชในช่วงปิดเทอม

ขอเรียนถามว่าการบวชของเด็กหญิงและชายในครั้งพุทธกาลมีวัตถุประสงค์อย่างไรครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 17 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ศีลจาริณี ประกอบด้วยคำว่า ศีล กับ จาริณี. ศีล หมายถึง ข้อปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาในทางกายและวาจาเพื่อให้เรียบร้อยเป็นปรกติ ไม่ล่วงละเมิดผู้อื่นและไม่ทำบาป ในความหมายปัจจุบัน คือ การบวชชีพราหมณ์ หรือการบวชรักษาศีลของชายและหญิง

ซึ่งในความเป็นจริง การบวช ไม่ได้หมายถึง จะต้องมานุ่งขาว ห่มขาว หรือจะต้องมาสมาทานศีลอย่างนั้น หากแต่ว่าที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนาคือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อันเป็นประเพณีที่ดีงาม ที่มีในสมัยพุทธกาล เพราะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา และดับกิเลสได้ แม้ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใด จะบวช หรือ ไม่บวช

ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงไม่ใช่เรื่องของพิธิกรรม แต่เป็นเรื่องของความเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องของการแต่งกาย แต่เป็นเรื่องของจิตใจที่เกิดความเห็นถูก เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องของจิตใจ ที่เกิดความเห็นถูก เกิดปัญญา อันมาจากการฟัง ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ และความประพฤติที่ดีงามได้ จะมีได้ก็ด้วยการฟัง ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ เพราะปัญญาจะทำกิจหน้าที่ปรุงแต่งให้กาย วาจา ใจ เป็นไปตามกำลังปัญญา โดยไม่ต้องไปบวช หรือทำอะไรที่ผิด ที่คิดว่าคือการปฏิบัติธรรม ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 17 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะทรงแสดงในส่วนใดก็ตาม ย่อมไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ โดยโวหาร โดยพยัญชนะต่างๆ ทั้งหมดทั้งปวงเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง อันเป็นธรรมที่ละเอียดยิ่ง ที่หาความเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นตัวตน ไม่ได้เลย สำคัญที่ความเข้าใจถูก เห็นถูกของผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง ถ้าเป็นผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทพระธรรมว่าง่าย ศึกษาด้วยความตั้งใจ ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ

สำคัญ คือ ไม่ขาดการฟัง ไม่ขาดการศึกษาพิจารณาไตร่ตรอง ไม่ว่างเว้นจากการฟังพระธรรม และมีจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการศึกษาว่า เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกต่อไป เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะไม่ไปทำอะไรตามๆ กันด้วยความไม่รู้ เช่น บวชสามเณร (ภาคฤดูร้อน) หรือ การถือปฏิบัติข้อวัตร (ที่ผิด) ต่างๆ เป็นต้น เพราะเข้าใจอย่างถูกต้องแล้วว่า การอบรมเจริญปัญญา การสะสมความดี การรักษาศีลตามควรแก่เพศของตน ก็สามารถน้อมประพฤติได้ในเพศคฤหัสถ์ เพราะถ้าไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ตั้งแต่ต้น ผล ก็คือ ไม่รู้ เป็นการเพิ่มความติดข้อง ความเห็นผิด และความไม่รู้มากยิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้น จะขาดการศึกษาพระธรรมไม่ได้เลย จะต้องมีความอดทนเป็นอย่างยิ่งที่จะค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นการศึกษาพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง และจุดประสงค์ในการศึกษาต้องตรง คือ เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ขัดเกลาความไม่รู้ ซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน...


ความคิดเห็น 3    โดย peem  วันที่ 18 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย Jarunee.A  วันที่ 14 ม.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ