เรื่องของพระธรรมวินัย เป็นเรื่องที่ให้เจริญกุศลทุกทางที่จะเป็นไปได้ พระธรรมเทศนาทั้งหมดเกื้อกูลอุปการะเพื่อให้เกิดกุศล
ข้อ ๑ ที่ท่านผู้ฟังก็อาจจะยังข้องใจอยู่ คือ ในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการไม่คลุกคลี ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังไม่พิจารณาจะทำให้เข้าใจว่า การไม่คลุกคลีนั้นจะต้องไม่พบปะ มีชีวิตที่ไม่ใช่ปกติ เข้าใจว่า นั่นเป็นการไม่คลุกคลี
พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการไม่คลุกคลี เพราะเหตุว่าการไม่คลุกคลีนั้นเป็นเครื่องหมาย เป็นการแสดงถึงอัธยาศัยของบุคคลนั้นที่ไม่เกาะเกี่ยว ไม่ยึดมั่นในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธัมมารมณ์ แต่ผู้นั้นจะไม่คลุกคลีได้โดยสถานใด ไม่ใช่ว่าโดยการไปฝืน ไปบังคับไว้ชั่วคราว แต่ความจริงเยื่อใยยังคลุกคลี ยังเกี่ยวข้อง ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น พระผู้มีพระภาคไม่ทรงสรรเสริญ ทรงสรรเสริญการไม่คลุกคลี ซึ่งจะจริงได้ ก็โดยการค่อยๆ ละ ค่อยๆ คลายกิเลสให้หมดไป จึงจะไม่คลุกคลีได้จริงๆ
จะเห็นได้ว่า หนทางดับกิเลสเป็นสมุจเฉทที่ได้ทรงแสดงไว้ ถึงแม้ว่าพระผู้-มีพระภาคจะทรงสรรเสริญการไม่คลุกคลี แต่ก็ไม่มีห้องปฏิบัติในครั้งพุทธกาล เพราะฉะนั้น อย่าเข้าใจผิดว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการไม่คลุกคลี ก็จะต้องมีห้องสำหรับปฏิบัติ และก็ชื่อว่าห้องปฏิบัติ ราวกับว่าอยู่ที่อื่นปฏิบัติไม่ได้อยู่ในห้องนั้นจึงจะปฏิบัติได้ ซึ่งในพระไตรปิฎกจะไม่เป็นอย่างนั้น
ในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการไม่คลุกคลี ไม่ใช่เป็นการบังคับ ไม่ใช่เป็นการฝืน ด้วยเหตุนี้ในครั้งนั้นจึงไม่มีห้องกัมมัฏฐาน เพราะเหตุว่าข้อปฏิบัติที่สำคัญที่สุดในพระศาสนานั้น เพื่อให้เกิดปัญญา แต่บางครั้งพยัญชนะบางคำก็อาจจะทำให้ท่านเกิดความปรารถนา ความต้องการ แทนที่จะละความปรารถนา ความต้องการ เช่น คำว่า ญาณ ซึ่งหมายความถึงวิปัสสนาญาณ ท่านที่มีจุดมุ่งในการไปสู่สำนักปฏิบัติ ท่านกล่าวว่า ถ้าท่านเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันแล้ว ญาณไม่เกิด
วิปัสสนาญาณนั้น หมายความถึงปัญญาที่รู้ชัด ท่านมุ่งถึงอุทยัพพยญาณ รู้สภาวะ ประจักษ์สันตติขาด ขณะนี้กำลังเห็น ไม่รู้อะไร นี่เหตุกับผลไม่ตรงกัน
เพราะฉะนั้น สำหรับท่านที่กล่าวว่า ท่านได้ผลมาจากการไปสู่สำนักปฏิบัติ และกล่าวว่า คนที่อยู่ข้างนอกรู้ไม่ชัด คนที่อยู่ข้างนอก หมายความถึงนอกห้องกัมมัฏฐาน นอกสถานที่ปฏิบัติ นอกสำนักปฏิบัติ แต่ขอให้พิจารณาผลและเหตุว่าต้องตรงกัน ท่านกล่าวว่า ผลของท่าน คือ รู้สภาวะ แล้วประจักษ์สันตติขาด โดยข้อปฏิบัติที่นั่งเมื่อยก็เปลี่ยน เพราะรู้ว่าเป็นทุกข์ นอนเมื่อยก็เปลี่ยน เพราะรู้ว่าเป็นทุกข์ ยืนเมื่อยก็เปลี่ยนเพราะรู้ว่าเป็นทุกข์ นั่นคือเหตุที่จะทำให้ท่านรู้สภาวะตามที่ท่านกล่าว ดิฉันก็ถูกท่านที่หวังดี ท่านที่เป็นมิตรสหายในกาลก่อนชักชวนเช่นเดียวกัน โดยยกผลขึ้นมากล่าวว่า ท่านผู้โน้นไปสู่สำนักปฏิบัติแล้วได้ผลมาก
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 160