เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (6)
โดย kanchana.c  11 ส.ค. 2559
หัวข้อหมายเลข 28067

ถ. (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ทางกรุงเทพฯ เราใช้วันที่ ๑ ใช่ไหม แต่ว่าประเพณีสงกรานต์ก็ยังคงเป็นวันที่ ๑๓ ตรงกับของเขา แต่เนื่องจากจะปิดวันปีใหม่ เพราะฉะนั้น ก็ปิดสัมมนาวันที่ ๙ และต่อจากนั้นเป็น Special Section สำหรับภิกษุชาวต่างประเทศจริงๆ หมายความว่าไม่เกี่ยวกับชาวบ้าน หรืออุบาสกอุบาสิกา เพราะว่าอุบาสกอุบาสิกาจะต้องรับปีใหม่ที่บ้านของตัวเอง ไม่ไปไหน เพราะฉะนั้น ช่วงต่อไปก็จัดไว้สำหรับภิกษุชาวต่างประเทศ

สำหรับในวันปิดสัมมนา ท่านสังฆนายกมีความจำเป็นจะต้องกลับก่อน เพราะฉะนั้น แทนที่ท่านจะมอบหนังสือเป็นของที่ระลึกให้ตอนที่จบสัมมนาแล้ว ท่านก็มอบให้ก่อน สำหรับวันนี้เป็นการสนทนาธรรมซึ่งคนโคลัมโบสนใจมากทีเดียว เพราะว่าเป็นเรื่องเริ่มนำมาถึงสติปัฏฐาน ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ การที่สติจะระลึกรู้ และคุณค่าของการที่จะเห็นประโยชน์ของขณะปัจจุบันจริงๆ เพราะเหตุว่าชีวิตก็คือแต่ละขณะที่กำลังปรากฏ กำลังเห็นขณะหนึ่ง นั่นก็คือชีวิตของคนหนึ่ง กำลังได้ยินขณะหนึ่ง นั่นก็เป็นชีวิตที่อยู่ในแต่ละขณะนั้นเอง เพราะฉะนั้น ชาวศรีลังกาเริ่มสนใจมากทีเดียวตอนจบสัมมนา

ในวันรุ่งขึ้นวันอาทิตย์ โดยมากวันอาทิตย์จะไม่มีการสัมมนา หรือสนทนาธรรม แต่ว่าก็ได้รับเชิญไปตามบ้าน ซึ่งเมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ก็สนทนาธรรมเป็นประจำ และตอนเย็นแทนที่จะไปสนทนาธรรมเพราะว่าปิดแล้ว วันอาทิตย์ไม่มี ก็ได้ไปรับประทานอาหารค่ำที่บ้านของคุณศิริกับคุณมาลิน ซึ่งได้เชิญชาวศรีลังกาครอบครัวหนึ่งกับคนอเมริกันอีกคนหนึ่งไปสนทนาธรรมเป็นการส่วนตัว ซึ่งเขาสนใจมาก ธรรมดาเวลารับประทานอาหารก็เปิดวิทยุเบาๆ แต่พอสนทนาธรรม เพื่อนของคุณศิริขอให้ปิดวิทยุ เพื่อจะได้ฟังธรรมได้ชัดเจน นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความสนใจจริงๆ ของเขา

วันจันทร์ที่ ๑๑ สำหรับภิกษุ Section คือสำหรับพระภิกษุชาวต่างประเทศจริงๆ แต่ว่าเริ่มเร็ว คือ ตั้งแต่บ่ายสี่โมงจนกระทั่งถึงสองทุ่ม ก็หลายชั่วโมง เพื่อที่จะได้มีเวลามากขึ้น

วันอังคารที่ ๑๒ ตอนกลางวันก็ไปรับประทานอาหาร และสนทนาธรรมนิดหน่อย แล้วก็นอนพักนิดหน่อยเช่นเคย แล้วก็ไปที่ B.I.C. สี่โมงเย็นแล้วก็กลับสองทุ่ม

คุณนีน่าตอนแรกไม่ทราบว่า จะได้อยู่ตลอด ๕ อาทิตย์หรือเปล่า เพราะว่าตั้งใจมาเพียง ๓ อาทิตย์ เพราะฉะนั้น เพื่อประโยชน์ของคุณนีน่า ในวันปีใหม่คุณนีน่าอยากจะไปนมัสการพระเขี้ยวแก้วที่แคนดี้ ซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่หวงแหนมาก ไม่มีใครที่จะได้ดูจริงๆ เพราะว่าเก็บไว้ในผอบถึง ๗ ชั้น แล้วก็มีกุญแจเงินดอกใหญ่ถึง ๓ ดอกที่หน้าประตู คนก็ได้ไปนมัสการเพียงที่บรรจุ เป็นพระมณฑป หรืออะไรที่รูปร่างคล้ายๆ เจดีย์

สำหรับพระเขี้ยวแก้วมาถึงเมืองอนุราธปุระเป็นเมืองแรก และเมื่อย้ายเมืองหลวงจากอนุราธปุระ ไปที่โปนลานุวะ ก็ได้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วไปอยู่ที่เมืองหลวงแต่ละแห่งเรื่อยมา จนกระทั่งถึงเมืองแคนดี้เป็นเมืองหลวงสุดท้าย เมื่อเสียเมืองให้อังกฤษ ก็เลยเก็บพระเขี้ยวแก้วไว้ที่แคนดี้ ไม่มีการย้ายอีกต่อไป ซึ่งทุกครั้งก็ย้ายตามเมืองหลวงไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น ในวันปีใหม่ก็ได้ไปนมัสการพระเขี้ยวแก้วที่แคนดี้ เพราะกลัวว่า ถ้าคุณนีน่ากลับก่อน คุณนีน่าจะไม่มีโอกาสไปแคนดี้ ไม่มีโอกาสนมัสการ เพราะว่าอยู่ที่อนุราธปุระ ยังไม่ได้มาแคนดี้

ชาวแคนดี้ในวันปีใหม่ไปนมัสการพระเขี้ยวแก้วกันมากทีเดียว แน่นขนัด และตามธรรมเนียมของลังกาใช้แต่ดอกไม้เท่านั้น ไม่ใช่ใบเลย มีแต่ดอกเท่านั้นจริงๆ และก่อนที่จะบูชาก็ต้องล้างให้สะอาด พร้อมทั้งล้างมือที่จะบูชาด้วย ไม่ใช้ธูปเทียน ใช้ประทีปตะเกียงน้ำมัน ใช้ดอกไม้ แล้วก็มีคาถาบูชาเวลาถวายดอกไม้ ซึ่งเป็นคาถาที่เพราะมาก ที่แสดงให้เห็นความจริงว่า ดอกไม้ที่บูชาก็นับวันจะเหี่ยวแห้ง เหมือนสังขารร่างกายของผู้ที่บูชาด้วยดอกไม้ เป็นการเตือนให้เห็นความไม่เที่ยงของร่างกาย และให้เกิดความสลดใจ และเขาก็บอกว่า ธรรมเนียมไทยไม่เห็นทำให้เกิดความสลดใจ เก็บเอาไว้นานๆ ปักเอาไว้ในแจกัน มีทั้งกิ่ง ทั้งก้าน ทั้งใบ รักษาเอาไว้ไม่ให้เห็นความจริง และของเขาเด็ดเฉพาะดอกออกไป ให้เห็นว่าจะต้องเหี่ยวแห้ง เหมือนสังขารร่างกายทีเดียว เป็นเครื่องเตือนให้เกิดความสลดใจ

มีผู้กล่าวว่า ถ้าได้ไปนมัสการพระเขี้ยวแก้วในวันปีใหม่ เป็นกุศลผลบุญที่แรงมาก ปรารถนาอะไรก็จะสำเร็จ เพราะฉะนั้น ถ้าใครยังมีอะไรที่ปรารถนาก็จะสมความปรารถนาได้ ถ้าได้ไปนมัสการพระเขี้ยวแก้วในวันปีใหม่

วันรุ่งขึ้นก็จะต้องกลับโคลัมโบ เพราะเหตุว่ายังไม่ปิดรายการที่โคลัมโบ แม้ว่าปิดการสัมมนาแล้วก็จริง แต่ว่ายังไม่ไปอนุราธปุระ ในวันนี้ตอนเช้าก็ได้ไปชมสวนสาธารณะ ที่มีชื่อเสียงของเมืองแคนดี้ ซึ่งในการไปสองครั้งก่อน ไม่เคยไปที่สวนสาธารณะนี้ก็ใหญ่ และจัดได้สวยงามดี และนอกจากนั้นยังไปวัดเก่า ๒ วัด คือ วัดกาลายาเลนียา และวัดลังกาสีลกะ ข้างหลังวัดก็เป็นพระราชวังของพระเจ้าแผ่นดินที่สร้างวัดนี้

วัดลังกาเล็กๆ ลักษณะไม่เหมือนกับวัดไทย ศิลปะต่างกันมาก วัดลังกาเหมือนกับบ้านตึกหลังหนึ่ง แล้วแต่วัด บางแห่งก็มีรูปสลัก รูปปั้นคนที่ยื่นออกมาเป็น ตัวๆ แทนที่จะเป็นภาพเขียนอย่างนั้นก็มี แต่ว่าลักษณะภายนอกเหมือนกับบ้านตึกธรรมดา มีอุโบสถ และที่ขาดไม่ได้ คือ มีต้นโพธิ์ และพระเจดีย์

วันศุกร์ที่ ๑๕ เป็นวันสุดท้าย และรุ่งขึ้นก็จะออกจากโคลัมโบไปอนุราธปุระ วันนี้สถานทูตไทยเชิญไปรับประทานอาหารกลางวัน และก็เชิญพวกกรรมการ และเจ้าภาพ เจ้าของบ้านทั้งหมดที่เชิญเราเป็นแขก และหลังจากรับประทานอาหารกลางวันที่สถานทูตไทยแล้ว ปิดรายการสุดท้ายที่โคลัมโบ เวลา ๑๖ นาฬิกา พระมหานายกและพระภิกษุ และกรรมการของ B.I.C. เชิญคณะของเราไปชี้แจงข้อธรรมบางประการ ซึ่งยังไม่แจ่มแจ้ง หรือว่ายังเป็นที่สงสัย

นี่เป็นการประชุมที่เหมาะสมมาก หลังจากที่ได้รับฟังธรรมทั้งหมด วันสุดท้ายจะเป็นวันชี้แจงข้อธรรมบางประการซึ่งเป็นที่ข้องใจ ซึ่งเป็นที่สงสัย ซึ่งเป็นที่ยังไม่แจ่มแจ้ง จึงจะได้ประโยชน์เต็มที่ ไม่ใช่ประชุมแล้ว สัมมนาแล้ว ก็ทิ้งไปเฉยๆ แต่ว่าวันสุดท้ายจะต้องเป็นวันชี้แจงข้อธรรมบางประการกับพระมหานายกและพระภิกษุชาวลังกาท่านหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียง คือ ท่านพระปิยทัสสี และคณะกรรมการของ B.I.C. ซึ่งจะได้ทราบแนวความคิดว่า เป็นประโยชน์มากน้อยแค่ไหนในการสัมมนา

ถ. (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. คงจะไม่มากเท่า วัดเขาน้อย เพราะเมืองเขาเล็ก แล้วคนไปวัดมาก และพลเมืองน้อย ก็เลยทำให้ดูเหมือนว่า มีอุบาสกอุบาสิกาที่สนใจมาก แต่เพราะความจริงที่เล็ก วัดน้อย คนน้อย และคนไปวัดในวันอุโบสถมาก

ถ. (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. เฉพาะกรรมการและพระมหานายกเท่านั้น กับท่านปิยทัสสี คือผู้ที่ทรง ความรู้ของ B.I.C. ซึ่งเป็นผู้ที่จัดรายการสัมมนา ประชาชนคนอื่นไม่เกี่ยวข้องเลย

ถ. (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. เกี่ยวกับปฏิบัติด้วย และที่แน่นอนที่สุด ก็คือการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

.........

ขอเชิญติดตามตอนต่อไปได้ที่ลิงค์ด้านล่าง.....

เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (7)
เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (8)
เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (9)



ความคิดเห็น 1    โดย ํํญาณินทร์  วันที่ 13 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ