ตรงต่อความเป็นจริง
โดย เมตตา  21 ก.พ. 2567
หัวข้อหมายเลข 47424

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๗

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 340

ข้อความบางตอนจาก เมตตสูตร

ชื่อว่า ตรง (อุชุ) เพราะทำด้วยความไม่อวดดี ชื่อว่า ตรงดี (สุหุชู) เพราะไม่มีมายา. หรือว่า ชื่อว่า ตรง เพราะละความคดทางกายและวาจา ชื่อว่าตรงดี เพราะละความคดทางใจ. หรือชื่อว่า ตรง เพราะไม่อวดคุณที่ไม่มีจริง ชื่อว่า ตรงดี เพราะไม่อดกลั้นต่อลาภที่เกิดเพราะคุณที่ไม่มีจริง. พึงชื่อว่าเป็นผู้ตรงและตรงดี ด้วยอารัมมณูปนิชฌาน (สมถภาวนา) และลักขณูปนิชฌาน (วิปัสสนาภาวนา)


[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 393-395

ภาวะแห่งความซื่อตรง ชื่อว่า อุชุตา คือ ความเป็นไปโดยอาการอันตรง. ภาวะแห่งขันธ์ ๓ อันตรงและวิญญาณขันธ์อันตรง เรียกว่า อุชุกตา. ความปฏิเสธแห่งความคดเหมือนมูตรโค ชื่อว่า อชิมหตา (ความคล่องแคล่ว) .บทว่า อวงฺกตา ได้แก่ ปฏิเสธความโค้งเหมือนวงจันทร์. บทว่า อกุฏิลตาได้แก่ปฏิเสธความคดเหมือนปลายงอนไถ. จริงอยู่ บุคคลใดทําบาปแล้วกล่าวว่า เราไม่ได้กระทํา บุคคลนั้น ชื่อว่า เป็นผู้คดเหมือนมูตรโค (เยี่ยวโค)

เพราะความไปวกวน ผู้ใดกําลังทําบาปแล้วพูดว่า เราไม่กลัวบาปผู้นั้น ชื่อว่าคด เหมือนวงจันทร์ เพราะความคดมาก ผู้ใดกําลังทําบาป แต่กล่าวว่าใครไม่กลัวบาปเล่า ผู้นั้นชื่อว่า คด เหมือนงอนไถ เพราะไม่คดมาก.

อีกอย่างหนึ่ง กรรมทวาร ๓ ของบุคคลใดไม่บริสุทธิ์ บุคคลนั้นชื่อเป็นผู้คดเหมือนน้ำมูตรโค. กรรมทวาร ๒ แม้อย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่แก่บุคคลใดไม่บริสุทธิ์บุคคลนั้น ชื่อว่า เป็นผู้คดเหมือนวงจันทร์. กรรมทวารหนึ่งอย่างใดอย่างหนึ่งของบุคคลใดไม่บริสุทธิ์ บุคคลนั้น ชื่อว่า เป็นผู้คดเหมือนปลายงอนไถ.

ส่วนอาจารย์ผู้เรียนทีฆนิกาย กล่าวว่า ภิกษุบางรูปในวัยทั้งหมด ย่อมประพฤติอเนสนา ๒๑ และอโคจร ๖ ภิกษุนี้ชื่อว่า คดเหมือนน้ำมูตรโค.บางองค์ในปฐมวัยย่อมบําเพ็ญจตุปาริสุทธิศีล เป็นผู้ละอาย รังเกียจความชั่วใคร่การศึกษา ในมัชฌิมวัยและปัจฉิมวัยเป็นเช่นภิกษุองค์ก่อน ภิกษุนี้ชื่อว่าเป็นผู้คดเหมือนวงจันทร์. บางองค์ในปฐมวัยก็ดีมัชฌิมวัยก็ดีย่อมบําเพ็ญจตุปาริสุทธิศีล มีความละอาย มีความรังเกียจบาป ใคร่การศึกษา แต่ในปัจฉิมวัยเป็นเช่นภิกษุองค์ก่อน ภิกษุนี้ ชื่อว่า คดเหมือนปลายงอนไถ. ภาวะของบุคคลผู้คดอย่างนี้ด้วยอํานาจกิเลสนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ชิมหตา (ความคด) อวงฺกตา (ความโค้ง) อกุฏิลตา (ความงอ) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสความไม่คดเป็นต้น โดยปฏิเสธความคดเป็นต้นเหล่านั้นแล้วทรงแสดงโดยเป็นขันธาธิษฐาน จริงอยู่ ความไม่คดเป็นต้นนี้ ย่อมมีแก่ขันธ์ทั้งหลาย หามีแก่บุคคลไม่ ด้วยบทเหล่านั้น แม้ทั้งหมดอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอาการคือ ความตรงโดยนัยแรก ตรัสอาการคือ ความตรงแห่งวิญญาณขันธ์โดยนัยหลัง เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า พระองค์ทรงตรัสอาการคือ ความตรงแห่งอรูปธรรมทั้งหลาย เพราะความไม่มีกิเลส.


อ.อรรณพ: ก็เป็นความเข้าใจ และลึกซึ้งของท่านอาจารย์ เป็นความกรุณาที่ท่านอาจารย์อาจารย์พูดให้คิดจริงๆ ว่า รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม? หรือพระพุทธเจ้ามีจริงไหม? คำถามสั้นๆ หลากหลายเป็นคำถามที่วัดการสะสมว่าผู้ฟังมีการสะสมในการที่จะสนใจใส่ใจ แล้วก็มีเหตุผลเพียงไร เพราะว่าถ้าฟังปั๊บ ก็อ้าว! คนที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง เขาเชื่อแบบนั้น อ้าว! เราเป็นชาวพุทธเราก็ต้องเชื่อ พระพุทธเจ้ามีจริง เหมือนเราเป็นศาสนาไหน เราก็ต้องเชื่อว่าศาสนาของศาสนานั้นมี แล้วต้องมาถามทำไม แล้วก็เชื่อเลย หรือคนที่เขาไม่เชื่อเขาก็บอกว่า นี่ก็เป็นเรื่องราวแต่งขึ้นมา ศาสนานั้น ศาสนานี้ เพื่อให้คนทำดีไปอย่างนั้นแหละ แต่จริงๆ แล้วก็ไม่มีอะไรตายแล้วก็สูญแต่เขาไม่เชื่อ แต่คนที่ลังเลก็มีนะครับ มีหรือไม่มีก็มี หรือน้อยคนที่จะเข้าใจ แล้วจึงเชื่อด้วยปัญญาจริงๆ ยากมาก

เพราะฉะนั้น ตรงนี้ผมก็อยากเรียนคณะอาจารย์กราบเรียนสนทนากับท่านอาจารย์ด้วยในประโยคคำถามที่ท่านอาจารย์มักจะถาม เมื่อกี๊ท่านอาจารย์ก็กล่าวหลายประโยคในสาระ รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม? พระพุทธเจ้ามีจริงไหม? เป็นคำถามที่ดูเหมือนจะง่าย แต่ว่า วัดเลยว่า คนนั้นเป็นคนที่ได้เข้ามาในศาสนาไหม แล้วทั้งยังได้เป็นการเริ่มต้นของคนที่สะสมมาที่จะได้ยินได้ฟัง คำที่พูดให้คิด แล้วจะได้เริ่มต้นสะสมความเข้าใจต่อไป แต่คนที่ฟังแล้วเขารู้สึกว่า เอ๊ะ! มาถามทำไม อยู่ดีๆ มาถามว่า วัดคืออะไร? ถามทำไม ไม่ได้เห็นในความลึกซึ้ง แต่ผู้ที่สะสมมาจะเห็นในความลึกซึ้งของแต่ละคำ ภิกษุคือใคร มีศรัทธา ศรัทธาคืออะไร คือถ้าคนที่เขาไม่สนใจก็จะ เอ๊ะ! ถามทำไม ถามไปหมดเลยทุกคำ แล้วก็ยังไงล่ะ

ก็จะขอเชิญคณะอาจารย์ที่จะร่วมสนทนากับท่านอาจารย์ เพราะนี่เป็นประเด็นที่ท่านอาจารย์สนทนามามากเลยในช่วงหลังนี้ ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเช้านี้ หรือเมื่อวันพุธที่แล้วที่มหาวิทยาลัยเกษตร หรือที่จังหวัดอุดร หรือที่ก่อนๆ ท่านอาจารย์ก็จะกล่าวอย่างนี้ครับ

อ.กุลวิไล: กราบท่านอาจารย์ในความลึกซึ้ง รู้จักความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าค่ะท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: ได้ยิน คำว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับถือไหม?

อ.กุลวิไล: นับถือค่ะ

ท่านอาจารย์: เร็วจัง ทำไมล่ะ พอได้ยินก็นับถือหรืออย่างไร หรือว่า๙ื่อนี้ไม่เคยได้ยิน พอได้ยินก็นับถือ?

อ.กุลวิไล: จากการได้ฟังพระธรรมค่ะ ไม่เช่นนั้นก็ไม่รู้จักพระองค์ นี่เป็นระดับของดิฉันที่อาจจะน้อยนิด

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เช่นเดียวกับทุกคนหรือเปล่า หรือทุกคนไม่เป็นอย่างนี้ ถ้าไม่ฟังจะรู้จักหรือ? ได้ยินแค่ชื่อ จะนับถือหรือ ลองคิดดูซิ ถูกต้องไหม สมควรไหม จริงไหม ถึงไม่รู้ก็นับถือ

อ.กุลวิไล: จริงค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ต้องตรงความเป็นจริง เดี๋ยวนี้นับถืออะไร? และนับถือใคร? เพราะอะไร? ไม่อย่างนั้นไม่คิดเลยใช่ไหม?

อ.กุลวิไล: ค่ะ ก็ได้รู้ความจริงค่ะท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: เมื่อไหร่?

อ.กุลวิไล: เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วก็มีความเข้าใจค่ะ

ท่านอาจารย์: ถ้าไม่เข้าใจ จะนับถือไหม?

อ.กุลวิไล: ไม่เลยค่ะ

ท่านอาจารย์: นับถืออะไรมิทราบ?

อ.กุลวิไล: ก็ทำตามๆ กันกับผู้ที่เขาทำกันค่ะ

ท่านอาจารย์: แล้วนี่เราได้ฟังพระธรรม แล้วอย่างไรถึงนับถือ?

อ.กุลวิไล: เพราะได้เข้าใจความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงจากที่ไม่รู้ แต่ก็เริ่มรู้ว่า อะไรจริงอะไรไม่จริง

ท่านอาจารย์: แล้วง่ายไหม สิ่งที่พระองค์ได้ตรัสให้เข้าใจ?

อ.กุลวิไล: ยากมากค่ะ ขณะฟังก็มากด้วยความไม่รู้ค่ะ

ท่านอาจารย์: นั่นล่ะ เริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มนับถือในการตรัสรู้ที่ทรงแสดงความจริง แม้จะได้ยินไม่กี่คำ ก็เป็นความจริงที่กำลังมี และก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะความจริงจะเปลี่ยนแปลงเป็นไม่จริงได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ เห็นไหม ไม่ใช่แค่นี้จบ เดี๋ยวนี้อะไรจริง?

อ.กุลวิไล: ก็ลึกซึ้ง รู้ได้ยากค่ะท่านอาจารย์ แม้แต่ขณะเดี๋ยวนี้

ท่านอาจารย์: จึงต้องฟังคำของพระองค์ แล้วไตร่ตรอง และเคารพสูงสุด ไม่ใช่ว่าไม่ฟังเลยแล้วก็เคารพ จะถูกต้องได้อย่างไร เคารพเพราะไม่รู้ เคารพเพราะไม่ได้ฟัง แล้วไปเคารพได้อย่างไร?

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

ความจริงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

ความจริง เป็นความจริง ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้

ขอเชิญฟังได้จาก ...

ธรรมไม่เปลี่ยนแปลงสภาพ

ผู้ที่ละเอียดรอบคอบจึงเข้าใจพระธรรมได้

ปัญญารู้ชัดตรงตามความเป็นจริง

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 1 เม.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในความดีของทุกท่านครับ