ข้อความถัดไปในคัมภีร์อรรถกถา [เล่มที่ 74] (ขุททกนิกาย จริยปิฎก หน้า 624)
"อนึ่ง มหาบุรุษเมื่อให้อย่างนี้ไม่ให้เพื่อนแสวงหาผิด ไม่ให้เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ให้เพราะกลัว เพราะละอาย เพราะเคืองทักขิไณยบุคคล. เมื่อมีของประณีตไม่ให้ของเศร้าหมอง. ไม่ให้ด้วยการยกตน ด้วยการข่มผู้อื่น ด้วยหวังผล ด้วยเกลียดยาจก (หมายถึง บางคนรังเกียจผู้ขอ ก็ให้ของไป) ด้วยไม่เคารพ. ที่แท้ให้ด้วยความเคารพ. ให้ด้วยมือของตน. ให้ตามกาล (ด้วยเวลาที่เหมาะสม) . ทําความเคารพแล้วให้. ให้ด้วยไม่แบ่งออก (หมายถึง ให้แบบไม่เท่าเทียมกัน) . ให้มีใจยินดีใน ๓ กาล (คือ ก่อนให้ ระหว่างให้ และหลังให้แล้ว) . ครั้นให้แล้วก็ไม่เดือดร้อนในภายหลัง (นึกเสียใจภายหลัง) . ไม่ยกย่องและดูหมิ่นปฏิคาหก (หมายถึง ไม่ประจบเอาใจและดูถูกผู้รับ กรณีที่ผู้นั้นสูงกว่า หรือต่ำกว่าตน ตามลำดับ แต่ปฏิบัติต่อบุคคลนั้นด้วยความเป็นมิตร) . เปล่งถ้อยคําน่ารัก รู้คําพูด ผู้เข้าไปขอให้พร้อมทั้งบริวาร (หมายถึง ของที่แวดล้อม ของที่เพิ่มเติม) . เพราะเมื่อให้ข้าวเป็นทานย่อมให้พร้อมด้วยผ้าเป็นต้น ด้วยตั้งใจว่า เราจักทําสิ่งนั้นให้เป็นบริวารแล้วให้. อนึ่ง เมื่อให้ผ้าเป็นทานย่อมให้พร้อมกับข้าวเป็นต้น ด้วยตั้งใจว่า เราจักทําผ้านั้นให้บริวารแล้วให้ แม้ในการให้ยานเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน."
ทานของพระโพธิสัตว์นั้นนับประมาณมิได้ และท่านก็ยังให้สิ่งอื่นอีกเป็นของเพิ่มเติมรวมกับสิ่งที่ให้ (บริวารของทานนั้น) ในชีวิตประจำวัน เราทั้งหมดควรที่จะสังเกตและตรวจสอบความจริงที่เกิดขึ้นภายในตนตามความเป็นจริง แม้ว่าเราได้ฟังพยัญชนะที่แสดงเกี่ยวกับการให้ของพระโพธิสัตว์ แต่หนทางที่เราจะให้ก็ขึ้นกับการสะสมมาของตน และก็ไม่สามารถที่จะให้ได้เช่นเดียวกับทานของพระโพธิสัตว์
ข้อความนี้แปลจาก...The Perfection of Generosity - The Bodhisatta’s giving I