[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 128
๘. สิวิราชจริยา
ว่าด้วยจริยาวัตรของพระเจ้าสีวิราช
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 74]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 128
๘. สิวิราชจริยา
ว่าด้วยจริยาวัตรของพระเจ้าสีวิราช
[๘] ในกาลเมื่อเราเป็นกษัตริย์พระนามว่าสิวิ อยู่ในพระนครอันมีนามว่าอริฏฐะ เรานั่งอยู่ในปราสาทอันประเสริฐ ได้ดำริอย่างนี้ว่า ทานที่มนุษย์พึงให้อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เราไม่ได้ให้แล้วไม่มี แม้ผู้ใดพึงขอจักษุกะเรา เราก็พึงให้ ไม่หวั่นใจเลย ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าทวยเทพ ทรงทราบความดำริของเราแล้ว ประทับนั่งในเทพบริษัท ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า พระเจ้าสิวิผู้มีฤทธิ์มาก ประทับนั่งในปราสาทอันประเสริฐ พระองค์ทรงดำริถึงทานต่างๆ ไม่ทรงเห็นสิ่งที่ยังมิได้ให้ ข้อนั้นจะเป็นจริงหรือไม่หนอ ผิฉะนั้น เราจักทดลองพระองค์ดู ท่านทั้งหลายพึงคอยอยู่สักครู่หนึ่ง เพียงเรารู้น้ำใจของพระเจ้าสิวิเท่านั้น ท้าวสักกะจึงทรงแปลงเพศเป็นคนตาบอด มีกายสั่น ศีรษะหงอก หนังหย่อน กระสับกระส่ายเพราะชรา เข้าไป
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 129
เฝ้าพระราชาในกาลนั้น อินทพราหมณ์นั้นประคองพระพาหาเบื้องซ้ายขวา ประนมกรอัญชลีเหนือเศียร ได้กล่าวคำนี้ว่า ข้าแต่พระมหาราชาผู้ทรงธรรม ทรงปกครองรัฐให้เจริญ ข้าพระองค์จะขอกะพระองค์ เกียรติคุณคือความยินดีในทานของพระองค์ ขจรไปในเทวดาและมนุษย์ หน่วยตาแม้ทั้งสองของข้าพระองค์บอดเสียแล้ว ขอจงพระราชทานพระเนตรข้างหนึ่งแก่ข้าพระองค์เถิด แม้พระองค์จักทรงยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยพระเนตรข้างหนึ่ง เรา ได้ฟังคำของพราหมณ์แก่นั้นแล้วทั้งดีใจและสลดใจ ประคองอัญชลี มีปีติและปราโมทย์ ได้กล่าวคำนี้ว่า เราคิดแล้วลงจากปราสาทมาถึงที่นี้บัดนี้เอง ท่านรู้จิตของเราแล้ว มาขอนัยน์ตา โอ ความปรารถนาของเราสำเร็จแล้ว ความดำริของเราบริบูรณ์แล้ว วันนี้เราจักให้ทานอันประเสริฐ ซึ่งเราไม่เคยให้แก่ยาจก มานี่แน่ะหมอสิวกะ จงขมีขมัน อย่าชักช้า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 130
อย่าครั่นคร้าม จงควักนัยน์ตาแม้ทั้งสองข้างออกให้แก่วณิพกนี้ เดี๋ยวนี้ ทมอสิวกะนั้น เราเตือนแล้ว เชื่อฟังคำของเรา ได้ควักนัยน์ตาทั้งสองออกดุจจาวตาลให้แก่ยาจกทันที เมื่อเราจะให้ก็ดี กำลังให้ก็ดี ให้แล้วก็ดี จิตของเราไม่เป็นอย่างอื่น เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณนั้นเอง จักษุทั้งสองเราจะเกลียดชังก็หามิได้ แม้ตนเราก็มิได้เกลียดชัง แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา ฉะนั้น เราจึงได้ให้จักษุ ฉะนี้แล.
จบ สิวิราชจริยาที่ ๘
อรรถกถาสิวิราชจริยาที่ ๘
พึงทราบวินิจฉัยในอรรถกถาสิวิราชที่ ๘ ดังต่อไปนี้.
บทว่า อริฏฺสวฺหเย นคเร คือในพระนครชื่อว่า อริฏฐบุรี.
บทว่า สิวิ นามาสิ ขตฺติโย กษัตริย์พระนามว่า สิวิ คือ พระราชาได้มีพระนามอย่างนี้โดยโคตรว่า สิวิ.
ได้ยินว่าในอดีตกาล ครั้งเมื่อพระเจ้าสีวิครองราชสมบัติอยู่ในอริฏฐปุรนคร แคว้นสีพี พระมหาสัตว์ทรงอุบัติเป็นพระโอรสของพระเจ้าสิวิราชนั้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 131
พระนามของพระมหาสัตว์นั้นว่า สิวิกุมาร. ครั้นพระมหาสัตว์เจริญวัยได้เสด็จไปยังเมืองตักกสิลา ทรงเล่าเรียนศิลปะ สำเร็จแล้วเสด็จกลับ ทรงแสดงศิลปะแก่พระบิดา ได้รับตำแหน่งอุปราช ต่อมาพระบิดาสวรรคต ได้เป็นพระราชา ทรงละอคติ ทรงตั้งอยู่ในราชธรรมครองราชสมบัติ ทรงให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือ ที่ประตูพระนคร ๔ แห่ง ท่ามกลางพระนคร ๑ แห่ง ที่ประตูพระราชนิเวศน์ ๑ แห่ง ทรงบริจาคมหาทานวันละ ๖๐๐,๐๐๐ ทุกวัน. ในวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ ได้เสด็จไปยังโรงทานด้วยพระองค์เอง ทรงตรวจตราโรงทาน. บางคราวในวัน ๑๕ ค่ำ ตอนเช้าตรู่พระองค์ประทับนั่งบนราชบัลลังก์ ภายใต้พระเศวตฉัตรที่ยกขึ้น ทรงดำริว่า ทาน ภายนอกของเราไม่ยังจิตให้ยินดีเหมือนทานภายใน. ไฉนหนอในเวลาที่เราไปโรงทาน จะมีผู้ขอไรๆ ไม่ขอวัตถุภายนอก พึงขอวัตถุภายในอย่างเดียว. ก็หากว่าใครๆ พึงขอเนื้อหรือเลือดในร่างกายของเรา ศีรษะ เนื้อหัวใจ นัยน์ตา ร่างกายครั้งหนึ่งหรืออัตภาพทั้งสิ้นเอาไปเป็นทาส เราก็ยังความประสงค์ของผู้นั้นให้บริบูรณ์ในทันที สามารถจะให้ได้. แต่ในบาลีกล่าวไว้เพียงนัยน์ตาเท่านั้น. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
เรานั่งอยู่บนปราสาทอันประเสริฐ ได้ดำริอย่างนี้ว่า ทานที่มนุษย์พึงให้อย่างใดอย่างหนึ่งที่เราไม่ได้ให้แล้วไม่มี แม้ผู้ใดพึงขอจักษุของเรา เราก็จะพึงให้ไม่หวั่นใจเลย.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 132
ในบทเหล่านั้น บทว่า มานุสํ ทานํ ได้แก่ข้าวและน้ำเป็นต้น อันเป็นทานที่มนุษย์ทั่วไปจะพึงให้. ก็เมื่ออัธยาศัยในการให้อันกว้างขวางเกิดขึ้นแก่พระมหาสัตว์อย่างนี้ ปัณฑุกัมพลสิลาอาสน์ของท้าวสักกะแสดงอาการร้อน. ท้าวสักกะนั้นทรงรำพึงถึงเหตุนั้น ได้ทรงเห็นพระอัธยาศัยของพระโพธิสัตว์ว่า พระเจ้าสิวิราชทรงดำริว่า วันนี้หากมีผู้มาขอดวงตาเรา เราก็จักควักดวงตาให้เขา ท้าวสักกะจึงตรัสแก่เทพบริษัทว่า เราจักทดลองพระโพธิสัตว์ดูก่อนว่า จักสามารถให้ดวงตาจริงหรือไม่ เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงสรงสนานด้วยน้ำหอม ๑๖ หม้อ แล้วทรงประดับด้วยสรรพาลังการ ทรงประทับบนคอช้างพระที่นั่ง ซึ่งตกแต่งไว้เป็นอย่างดี เสด็จไปยังโรงทาน ท้าวสักกะจึงทรงแปลงเพศเป็นพราหมณ์ตาบอด เป็นคนแก่งกๆ เงิ่นๆ ทรงเหยียดพระพาหาทั้งสองในที่เป็นเนินแห่งหนึ่ง ให้อยู่ในคลองจักษุของพระโพธิสัตว์นั้น แล้วทรงยืนถวายพระพรขอให้พระราชาทรงพระเจริญ พระโพธิสัตว์ทรงชักช้างไปตรงหน้าพราหมณ์แปลงนั้น แล้วตรัสถามว่า ท่านพราหมณ์ ท่านต้องการอะไร พราหมณ์ทูลขอดวงตาข้างหนึ่งโดยตรัสว่า ชาวโลกทั้งสิ้นแพร่สะพัดไปไม่ขาดสายด้วยการประกาศเกียรติคุณอันสูงส่ง อาศัยอัธยาศัยในทานของพระองค์. ข้าพเจ้าเป็นคนตาบอด. เพราะฉะนั้น จึงวิงวอนขอดวงตากะพระองค์. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าทวยเทพ ทรงทราบความดำริของเราแล้ว ประทับนั่งในเทพ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 133
บริษัท ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า พระเจ้าสิวิราชผู้มีฤทธิ์มากประทับนั่งในปราสาทอันประเสริฐ พระองค์ทรงดำริถึงทานต่างๆ ไม่ทรงเห็นสิ่งที่ยังมิได้ทรงให้ ข้อนั้นจะเป็นจริงหรือไม่หนอ ช่างเถิด เราจะทดลองพระองค์ดู พวกท่านพึงคอยอยู่สักครู่หนึ่ง เพียงเรารู้น้ำพระทัยของพระเจ้าสิวิราชเท่านั้น.
ท้าวสักกะจึงทรงแปลงเพศเป็นคนตาบอด มีกายสั่น ผมหงอก หนังหย่อน กระสับกระส่ายเพราะชรา เข้าไปเฝ้าพระราชาในกาลนั้น ท้าวสักกะแปลงประคองพระพาหาซ้ายขวา ประนมกรอัญชลีเหนือเศียร ได้กล่าวคำนี้ว่า ข้าแต่พระมหาราชผู้ทรงธรรม ทรงปกครองรัฐให้เจริญ ข้าพระองค์จะขอกะพระองค์ เกียรติคุณคือความยินดีในทานของพระองค์ขจรไปในเทวดาและมนุษย์ หน่วยตาแม้ทั้งสองของข้าพระองค์บอดเสียแล้ว ขอพระองค์ทรงพระ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 134
ราชทานพระเนตรข้างหนึ่งแก่ข้าพระองค์เถิด แม้พระองค์จักทรงยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยพระเนตรข้างหนึ่ง.
ในบทเหล่านั้นบทว่า จินฺเตนฺโต วิริธํ ทานํ ทรงดำริถึงทานต่างๆ คือทรงดำริรำพึงถึงทานต่างๆ ที่พระองค์พระราชทาน คือทรงดำริถึงทานหรือไทยธรรมภายนอกหลายอย่างที่พระองค์พระราชทาน.
บทว่า อเทยฺยํ โส น ปสฺสติ ไม่ทรงเห็นสิ่งที่ยังมิได้ทรงให้ คือมิได้ทรงเห็นแม้วัตถุภายในที่ยังมิได้ทรงให้ คือ ไม่อาจให้ได้เหมือนวัตถุภายนอก. อธิบายว่า พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า แม้ดวงตาเราก็จักควักให้ได้.
บทว่า ตถํ นุ วิตถํ เนตํ ข้อนั้นจะเป็นจริงหรือไม่หนอ ความว่า การไม่เห็นแม้วัตถุภายในเป็นสิ่งที่ยังมิได้ให้ การเห็น การคิด โดยความเป็นสิ่งที่ควรให้ ข้อนั้นจะเป็นจริงหรือไม่จริงหนอ.
บทว่า โส ตทา ปคฺคเหตฺวาน, วามํ ทกฺขิณพาหุจ คือ ในกาลนั้นทรงประคองพระพาหาซ้ายขวา อธิบายว่า ทรงยกพระพาหาทั้งสอง.
บทว่า รฏฺวฑฺฒน คือทรงปกครองรัฐให้เจริญ.
บทว่า ตวมฺปิ เอเกน ยาปยา แม้พระองค์จักทรงยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยพระเนตรข้างหนึ่ง ท่านแสดงไว้ว่า พระองค์ทรงเห็นเสมอและไม่เสมอด้วยพระเนตรข้างหนึ่ง ก็ยังอัตภาพของพระองค์ให้เป็นไปได้. แม้ข้าพระองค์ก็จะยังอัตภาพให้เป็นไปได้ด้วยตาข้างหนึ่งที่ได้จากพระองค์ผู้เจริญ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 135
พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้นทรงดีพระทัย ได้เกิดพระกำลังใจว่า เรานั่งอยู่บนปราสาทคิดอย่างนี้แล้วมาเดี๋ยวนี้เอง. พราหมณ์นี้ขอดวงตาดุจรู้ใจของเรา. เป็นลาภของเราเสียจริงหนอ วันนี้ความปรารถนาของเราจักถึงที่สุด. เราจักให้ทานที่ไม่เคยให้. พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า :-
เราได้ฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้วทั้งดีใจและสลดใจ ประคองอัญชลี มีปีติและปราโมทย์ ได้กล่าวคำนี้ว่า เราคิดแล้วลงจากปราสาทมาถึงที่นี้บัดนี้เอง ท่านรู้จิตของเราแล้ว มาขอนัยน์ตา.
โอ ความปรารถนาของเราสำเร็จแล้ว ความดำริของเราบริบูรณ์แล้ว. วันนี้เราจักให้ทานอันประเสริฐ ซึ่งเราไม่เคยให้แก่ยาจก.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺส คือท้าวสักกะผู้มาในรูปของพราหมณ์ นั้น.
บทว่า หฏฺโ คือยินดี.
บทว่า สํวิคฺคมานโส สลดใจ คือพราหมณ์นี้ขอดวงตาดุจรู้ใจเรา. ชื่อว่า สลดใจ เพราะเราไม่คิดอย่างนี้มาตลอดกาลเพียงนี้ เป็นผู้ประมาทแล้วหนอ.
บทว่า เวทชาโต คือเกิดปีติและปราโมทย์.
บทว่า อพฺรวึ คือได้กล่าวแล้ว.
บทว่า มานสํ คือความตั้งใจ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 136
ได้แก่อัธยาศัยในการให้. อธิบายว่า เกิดอัธยาศัยในการให้ว่า เราจัก ให้ดวงตา.
บทว่า สงฺกปฺโป คือความปรารถนา.
บทว่า ปริปูริโต คือ บริบูรณ์แล้ว.
ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า พราหมณ์นี้ขอดวงตาแม้ใครๆ ก็ให้ยาก กะเราดุจรู้วาระจิตของเรา. น่ากลัวว่าจะเป็นเทพองค์หนึ่งแนะมาหรืออย่างไร. เราจักถามดูก่อน แล้วจึงตรัสถามพราหมณ์นั้น ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในเทศนาชาดกว่า..
ดูก่อนวณิพก ใครแนะท่านจึงมา ณ ที่นี้ เพื่อขอดวงตา ท่านขอดวงตาอันเป็นอวัยวะสำคัญที่คนสละให้ได้ยาก.
ท้าวสักกะ - ในรูปพราหมณ์ สดับดังนั้นแล้วจึงตรัสว่า :-
ในเทวโลกเรียกว่า ท้าวสุชัมบดี ในมนุษยโลกเรียกว่า ท้าวมฆวา ข้าพเจ้าเป็นวณิพก ท้าวมฆวาแนะจึงมา ณ ทีนี้ เพื่อขอดวงตา.
ข้าพเจ้าขอดวงตาของท่าน ขอท่านจงให้สิ่งที่ขอ อันไม่มีอะไรอื่นยิ่งไปกว่า แก่ข้าพเจ้าผู้ขอเถิด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 137
ขอท่านจงให้ดวงตา ที่คนสละให้ได้ยาก แก่ข้าพเจ้าเถิด.
พระมหาสัตว์ตรัสว่า :-
ดูก่อนพราหมณ์ ท่านมาปรารถนาประโยชน์อันใด ความปรารถนาเหล่านั้นจงสำเร็จแก่ท่านเถิด ท่านจงเอาดวงตาไปเถิด. เมื่อท่านขอดวงตาข้างหนึ่ง เราจะให้สองข้าง.
ท่านมีดวงตา จงไปเพ่งดูชนเถิด. ท่านปรารถนาสิ่งใด สิ่งนั้นจงสำเร็จแก่ท่าน.
ในบทเหล่านั้น บทว่า วณิพฺพก พระโพธิสัตว์ตรัสเรียกพราหมณ์ นั้น.
บทว่า จกฺขุปถานิ นี้ เป็นชื่อของดวงตา เพราะเป็นคลองแห่งการ เห็น.
บทว่า ยมาหุ คือชนทั้งหลายพากันพูดถึงสิ่งใดในโลกว่า สละได้ยาก.
บทว่า วณิพฺพโก คือผู้ขอ.
บทว่า วณึ คือการขอ.
บทว่า เต เต คือ ความปรารถนาเหล่านั้นของท่านผู้ตาบอด.
บทว่า ส จกฺขุมา คือท่านผู้มีดวงตาด้วยดวงตาของเรา.
บทว่า ตท เต สมิชฺฌตุ คือท่านปรารถนา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 138
สิ่งใดจากสำนักของเรา สิ่งนั้นจงสำเร็จแก่ท่าน. พระราชาครั้นตรัสเพียงเท่านี้แล้ว จึงตรัสว่า พราหมณ์นี้ท้าวสักกะแนะจึงมาหาเรา ณ ที่นี้. ทรงทราบว่า ดวงตาจักสำเร็จบริบูรณ์แก่พราหมณ์นี้ด้วยอุบายนี้แน่ จึงทรงดำริว่า เราไม่ควรควักดวงตาให้ ณ ที่นี้ จึงทรงพาพราหมณ์เข้าไปภายในพระนคร ประทับนั่งบนราชอาสน์ ตรัสเรียกหมอชื่อสิวกะมา. ลำดับนั้นได้เกิดเอิกเกริกโกลาหลขึ้นทั่วพระนครว่า นัยว่าพระราชาของพวกเรามีพระประสงค์จะให้หมอควักดวงพระเนตรให้แก่พราหมณ์. ครั้งนั้น พวกราชวัลลภของพระราชา มีพระญาติและเสนาบดีเป็นต้น เหล่าอำมาตย์ บริษัท ชาวพระนครเหล่าสนมทั้งหมดประชุมกัน ทูลห้ามพระราชาโดยอุบายต่างๆ. แม้พระราชาก็มิได้ทรงคล้อยตามบุคคลเหล่านั้น. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
ข้าแต่พระองค์ ขอพระองค์อย่าพระราชทานพระเนตรเลย อย่าทิ้งพวกข้าพระองค์ทั้งปวงเสียเลย.
ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์จะให้ทรัพย์ คือแก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์ ซึ่งมีอยู่มากมาย.
ข้าแต่พระองค์ ขอจงพระราชทานรถเทียมม้าอาชาไนยที่ประดับแล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 139
ข้าแต่มหาราช ขอจงพระราชทานช้าง เครื่องนุ่งห่มทำด้วยทอง.
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ในราชสมบัติชาวสีพีทั้งปวง พร้อมด้วยยวดยาน พร้อมด้วยรถ ยังแวดล้อมพระองค์อยู่โดยรอบทุกเมื่อ ขอพระองค์จงพระราชทานอย่างอื่นเถิด.
ลำดับนั้นพระราชาได้ตรัส ๓ คาถาว่า :-
ผู้ใดแลกล่าวว่าจักให้แล้วตั้งใจไม่ให้ ผู้นั้นย่อมสวมบ่วงที่ตกลงไปบนแผ่นดินที่คอ.
ผู้ใดกล่าวว่าจักให้แล้วตั้งใจไม่ให้ ผู้นั้นเป็นผู้ลามกว่าผู้ลามก จะตกนรกของพระยายม.
เมื่อเขาขอสิ่งใดควรให้สิ่งนั้น เมื่อเขาไม่ขอสิ่งใด ไม่ควรให้สิ่งนั้น. เราจักให้สิ่งที่พราหมณ์ขอ.
ในบทเหล่านั้น บทว่า โน เป็นเพียงนิบาต. ข้าแต่พระองค์ พระองค์อย่าพระราชทานพระเนตรเลยพระเจ้าข้า.
บทว่า มา โน สพฺเพ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 140
ปรากริ คือพระองค์อย่าทรงทอดทิ้งพวกข้าพระองค์เสียทั้งหมดเลย.
ชนทั้งหลายกราบทูลอย่างนี้โดยประสงค์ว่า เพราะเมื่อพระองค์พระราชทานพระเนตร พระองค์ก็จักไม่ทรงครองราชสมบัติ. พวกข้าพระองค์จักชื่อว่า ถูกพระองค์ทอดทิ้ง.
บทว่า ปริกิเรยฺยุํ คือแวดล้อม.
บทว่า เอวํ เทหิ ความว่า ขอพระองค์จงพระราชทานอย่างอื่นเถิด โดยที่ชาวสีพียังแวดล้อมพระองค์ผู้มีพระเนตรไม่วิกลมานานแล้ว ขอจงพระราชทานทรัพย์แก่พราหมณ์นั้นอย่างเดียวเถิด. อย่าพระราชทานพระเนตรเลย. ท่านแสดงว่า เพราะเมื่อพระราชทานพระเนตรเสียแล้ว ชาวสีพีก็จักไม่พากันแวดล้อมพระองค์.
บทว่า ปฏิมุญฺจติ คือสวม.
บทว่า ปาปา ปาปาตโร โหติ ชื่อว่า เป็นผู้ลามกกว่าผู้ลามก.
บทว่า สมฺปตฺโต ยมสาธนํ คือผู้นั้นชื่อว่าตกอุสสทนรกอันเป็นที่ที่พระยายมบังคับบัญชา.
บทว่า ยญฺหิ ยาเจ คือ พระโพธิสัตว์ตรัสว่าผู้ขอขอสิ่งใด. แม้ผู้ให้ก็ควรให้สิ่งนั้น. ไม่ให้สิ่งที่เขาไม่ได้ขอ. ก็พราหมณ์นี้ขอดวงตากะเรา ไม่ขอทรัพย์มีแก้วมุกดาเป็นต้น เราจักให้สิ่งที่พราหมณ์ขอ.
ลำดับนั้น ชนทั้งหลายทูลถามพระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่พระองค์ พระองค์ทรงปรารถนาอะไรในอายุเป็นต้น จึงพระราชทานพระเนตร. พระมหาบุรุษตรัสว่า เรามิได้ให้เพราะปรารถนาสมบัติในปัจจุบันหรือในภพหน้า. ที่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 141
แท้นี้เป็นทางเก่าแก่ที่พระโพธิสัตว์ทั้งหลายประพฤติสะสมกันมา คือการบำเพ็ญทานบารมี. สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
ข้าแต่ท่านผู้เป็นจอมชน พระองค์ปรารถนาอะไรหนอ จึงทรงให้ อายุ วรรณะ สุขะ พละ.
จริงอยู่ พระราชาผู้ยอดเยี่ยมกว่าชนในแคว้นสีพี พระราชทานพระเนตร เพราะเหตุแห่งปรโลกได้อย่างไร.
เราไม่ให้ดวงตานี้เพราะหวังยศ ไม่ปรารถนาบุตร ไม่ปรารถนาทรัพย์ ไม่ปรารถนาแว่นแคว้น อนึ่ง ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย เป็นธรรมเก่าอันบัณฑิตประพฤติกันมาแล้ว.
ใจของเรายินดีในการให้ ด้วยประการฉะนี้แล.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ปรโลกเหตุ ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า บุรุษบัณฑิตเช่นพระองค์สละความเป็นใหญ่ที่พระองค์ทรงเห็นอยู่แล้ว เช่นกับสมบัติของท้าวสักกะ พึงพระราชทานพระเนตร เพราะเหตุแห่งปรโลกได้อย่างไร.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 142
บทว่า น วาหํ ตัดบทเป็น น เว อหํ.
บทว่า ยสฺสา ความว่า เพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่ อันเป็นของทิพย์ หรือของมนุษย์. อีกอย่างหนึ่ง ธรรมอันเป็นพุทธการกธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย คือของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เป็นของเก่าอันบัณฑิตประพฤติ ประพฤติยิ่งสะสมแล้ว ใจของเราเป็นเช่นนี้ ยินดีเป็นนิจในทานนั่นแล ด้วยเหตุนี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
ก็และพระราชาครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ทรงให้อำมาตย์ทั้งหลายรับรู้ แล้ว ตรัสกะหมอสิวกะว่า:-
ดูก่อนสิวกะ มานี่แน่ะ จงลุกขึ้น อย่าชักช้า อย่าครั่นคร้าม จงควักนัยน์ตาแม้ทั้งสองข้างออกให้แก่วณิพก. หมอสิวกะนั้น เราเตือนแล้ว เชื่อฟังคำของเราได้ควักนัยน์ตาทั้งสองออกดุจจาวตาลให้แก่ผู้ขอทันที.
บทว่า อุฏฺเหิ คือจงขมีขมัน. ท่านแสดงว่า จงทำกิจของสหายด้วยการให้ดวงตาของเรานี้.
บทว่า มา ทนฺธยิ คืออย่าชักช้า. เพราะขณะของทานนี้หาได้ยากยิ่ง เราปรารถนามานานแล้ว เราได้แล้ว. อธิบายว่า ขณะของทานนั้นอย่าพลาดไปเสีย.
บทว่า มา ปเวธยิ อย่าครั่นคร้าม คืออย่าหวั่นไหวด้วยความหวาดสะดุ้งว่า เราจะควักพระเนตรของพระราชาของเรา อย่าถึงความปั่นป่วนในร่างกาย คือปวดอุจจาระปัสสาวะ
บทว่า อุโภปิ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 143
นยนํ คือนัยน์ตาแม้ทั้งสองข้าง.
บทว่า วนิพฺพเก คือผู้ขอ
บทว่า มยฺหํ คืออันเรา.
บทว่า อุทฺธริตฺวาน ปาทาสิ ควักนัยน์ตาทั้งสองข้าง คือ หมอนั้นควักนัยน์ตาแม้ทั้งสองข้างจากเบ้าพระเนตรของพระราชาแล้วได้ วางบนพระหัตถ์ของพระราชา.
อนึ่ง หมอนั้นเมื่อให้มิได้ควักให้ท้าวสักกะ. เพราะเขาคิดว่า หมอผู้ชำนาญเช่นเราไม่ควรใช้มีดผ่าตัดในพระเนตรของพระราชา จึงบดเภสัช เอาผงเภสัชผสมเกสรบัว แล้วโรยพระเนตรข้างขวา. พระเนตรกลอกไปมา. เกิดทุกขเวทนา. หมอผสมแล้วโรยอีก. พระเนตรพ้นจากเบ้าตา. เกิดเวทนารุนแรงกว่าเก่า. ครั้งที่ ๓ หมอผสมเภสัชให้แรงขึ้นกว่าเก่าโรยลงไป. พระเนตรหมุนหลุดออกจากเบ้าตาด้วยกำลังเภสัช ห้อยติดอยู่ด้วยสายเอ็น. เกิดเวทนารุนแรงยิ่งขึ้น พระโลหิตไหล. แม้พระภูษาทรงก็ชุ่มด้วยพระโลหิต พวกสนม อำมาตย์หมอบลงแทบพระบาทของพระราชาร้องไห้คร่ำครวญว่า ข้าแต่พระองค์ ขอพระองค์อย่าพระราชทานพระเนตรทั้งสองเลย อย่าพระราชทานพระเนตรทั้งสองเลย พระเจ้าข้า.
พระราชาทรงอดกลั้นเวทนาแล้วตรัสว่า อย่าชักช้าไปเลยพ่อคุณ. หมอทูลรับสนองแล้วยึดพระเนตรด้วยมือซ้าย จับศัสตราด้วยมือขวาตัดสายพระเนตร แล้วหยิบพระเนตรวางไว้บนพระหัตถ์ของพระมหาสัตว์. พระมหาสัตว์ทรงทอดพระเนตรพระเนตรข้างขวาด้วยพระเนตรข้างซ้าย เสวยทุกขเวทนา ทรงข่มไว้ด้วยปีติในการบริจาค รับสั่งเรียกพราหมณ์ว่า ท่าน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 144
พราหมณ์จงมาเถิด ตรัสว่า สมันตจักษุของเรา เป็นที่รักกว่านัยน์ตานี้ ตั้งร้อยเท่า พันเท่า แสนเท่า. การให้ดวงตาของเรานี้ จงเป็นปัจจัยแห่งสมันตจักษุนั้นเถิด. (สมันตจักษุคือพระสัพพัญญุตญาณ) แล้วได้พระราชทานพระเนตรแก่พราหมณ์ พราหมณ์หยิบพระเนตรนั้นใส่ที่นัยน์ตาของตน. พระเนตรนั้นปรากฏดุจดอกอุบลแย้มด้วยอานุภาพแห่งพราหมณ์แปลงนั้น. พระมหาสัตว์ทรงเห็นนัยน์ตาของพราหมณ์ด้วยพระเนตรข้างซ้าย มีพระวรกายซาบซ่านด้วยปีติผุดขึ้นภายในเป็นลำดับว่า โอ เราให้นัยน์ตาดีแล้ว ได้พระราชทานอีกข้างหนึ่ง. แม้ท้าวสักกะก็กระทำเหมือนอย่างเดิม เสด็จออกจากพระราชนิเวศน์ เมื่อมหาชนแลดูอยู่นั่นเอง เสด็จออกจากพระนคร กลับไปยังเทวโลก.
ในไม่ช้านักพระเนตรของพระราชายังไม่ถึงเป็นหลุมมีก้อนพระมังสะขึ้นเต็มดุจลูกคลีหนังหุ้มด้วยผ้ากัมพลฉะนั้น งอกขึ้นดุจรูปจิตรกรรม. เวทนาหายขาดไป. ลำดับนั้นพระมหาสัตว์ประทับอยู่ ณ ปราสาท ๒ - ๓ วัน ทรงดำริว่า คนตาบอดจะครองราชสมบัติไปทำไม เราจักมอบราชสมบัติให้แก่อำมาตย์ทั้งหลาย แล้วจักไปยังพระอุทยานบวชบำเพ็ญสมณธรรม แล้วทรงแจ้งความนั้นแก่พวกอำมาตย์ ตรัสว่า ราชบุรุษคนหนึ่งทำหน้าที่ให้น้ำล้างหน้าเป็นต้น จงอยู่กับเรา. แม้ในที่ที่เราจะทำสรีรกิจ พวกท่านก็จงผูกเชือกไว้ให้เรา แล้วเสด็จขึ้นเสลี่ยงประทับนั่งเหนือราชบัลลังก์ใกล้ฝั่งโบกขรณี. แม้พวกอำมาตย์ถวายบังคมแล้วก็พากันกลับ. พระโพธิสัตว์ก็ทรงรำลึก ถึงทานของพระองค์. ในขณะนั้น อาสนะของท้าวสักกะแสดงอาการร้อน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 145
ท้าวสักกะทรงเห็นดังนั้น ทรงดำริว่า เราจักให้พรแก่มหาราช แล้วทำ พระเนตรให้เป็นปกติอย่างเดิม. จึงเสด็จเข้าไปใกล้พระโพธิสัตว์ทรงทำเสียงพระบาท พระมหาสัตว์ตรัสถามนั่นใคร ท้าวสักกะตรัสว่า :-
ข้าพเจ้าเป็นท้าวสักกะจอมเทพ มาหาท่าน ข้าแต่ท่านผู้เป็นราชฤษี ท่านจงเลือกพรที่ท่านปรารถนาเถิด.
พระมหาสัตว์ตรัสว่า :-
ข้าแต่ท้าวสักกะ ทรัพย์ข้าพเจ้ามีมากพอแล้ว ทั้งพลทหาร และท้องพระคลังก็มีไม่น้อย บัดนี้ เมื่อข้าพเจ้าตาบอดชอบความตายเท่านั้น.
ลำดับนั้นท้าวสักกะจึงตรัสกะพระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่ท่านสิวิราช ท่านประสงค์จะตาย ชอบความตายหรือ หรือว่าเพราะตาบอด. พระมหาสัตว์ตรัสว่า เพราะตาบอดซิพระองค์. ท้าวสักกะตรัสว่า ข้าแต่มหาราช ชื่อว่าทาน มิได้ให้ผลเพื่อภพอย่างเดียวเท่านั้น ยังเป็นปัจจัยแม้เพื่อผลในปัจจุบันด้วย. เพราะฉะนั้น ท่านจงตั้งสัตยาธิษฐานอาศัยบุญแห่งทานของท่านเถิด. ด้วยกำลังแห่งสัตยาธิษฐานนั้นนั่นแหละ นัยน์ตาของท่านจักเกิดขึ้นเหมือนอย่างเดิม. พระโพธิสัตว์ตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นมหาทานเราให้ดีแล้ว เมื่อจะทรง ตั้งสัตยาธิษฐาน จึงตรัสว่า :-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 146
พวกวณิพกหลายเหล่าหลายตระกูลมาเพื่อขอกะเรา บรรดาวณิพกที่มาเหล่านั้น ผู้ใดขอเรา ผู้นั้นก็เป็นที่รักของเรา ด้วยสัจจวาจานี้ ขอนัยน์ตาของเราจงเกิดขึ้นอย่างเดิมเกิด.
ในบทเหล่านั้น บทว่า เย มํ คือผู้ใดมาเพื่อขอกะเรา ในบรรดาผู้ที่มาเหล่านั้น ผู้ใดออกปากว่า ขอพระองค์จงพระราชทานสิ่งนี้เถิด ดังนี้ ขอกะเรา แม้ผู้นั้นก็เป็นที่รักของเรา.
บทว่า เอเตน ความว่า หากผู้ขอแม้ทั้งหมดเป็นที่รักของเรา คำที่เรากล่าวนั้นเป็นความจริง ด้วยสัจจวาจาของเรานี้ ขอนัยน์ตาข้างที่หนึ่งจงเกิดเหมือนอย่างเดิมเถิด.
ทันใดนั้นเองพระเนตรดวงที่หนึ่งก็เกิดขึ้นพร้อมกับพระดำรัสของพระมหาสัตว์ ต่อจากนั้นเพื่อให้พระเนตรดวงที่สองเกิด พระมหาสัตว์จึงตรัสว่า :-
พราหมณ์นั้นมาเพื่อขอกะเราว่า ขอท่านจงให้นัยน์ตาเถิด เราได้ให้นัยน์ตาทั้งสองข้างแก่พราหมณ์ผู้ขอนั้น ปีติล้นพ้นได้เข้าไปถึง เรา ความโสมนัสไม่น้อยบังเกิดขึ้น ด้วยสัจจวาจานี้ ขอนัยน์ตาดวงที่สองจงเกิดขึ้นแก่เราเถิด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 147
ในบทเหล่านั้น บทว่า ยํ มํ คือ โย มํ.
บทว่า โส คือพราหมณ์ผู้ขอนัยน์ตานั้น.
บทว่า อาคา คือมาแล้ว.
บทว่า วณิพฺพโต คือผู้ขอ.
บทว่า มํ อาวิสิ เข้าไปหาเรา คือ ปีติล้นพ้นได้เข้าไปถึงเราผู้ให้นัยน์ตาแก่พราหมณ์แล้วไม่คำนึงถึงเวทนาเห็นปานนั้น แม้ในเวลาตาบอดแล้วพิจารณาอยู่ว่า โอ ทานเราให้ดีแล้ว.
บทว่า โสมนสฺสญฺจนปฺปกํ คือ ความโสมนัสหาประมาณมิได้เกิดขึ้นแล้ว.
บทว่า เอเตน ความว่า หากว่าในครั้งนั้นปีติและโสมนัสไม่น้อยเกิดขึ้นแก่เรา. คำที่เรากล่าวนั้นเป็นความจริง. ด้วยสัจวาจาของเรานี้ ขอนัยน์ตาแม้ข้างที่สองจงเกิดขึ้นแก่เราเถิด.
ในทันใดนั้นเองพระเนตรแม้ข้างที่สองเกิดขึ้น. แต่พระเนตรทั้งสอง ของพระโพธิสัตว์นั้นไม่เหมือนเดิมทีเดียว. มิใช่เป็นของทิพย์. เพราะไม่สามารถจะทำนัยน์ตาที่ให้แก่สักกพราหมณ์เหมือนเดิมได้อีก. อนึ่ง ทิพยจักษุย่อมไม่เกิดแก่ผู้มีนัยน์ตาถูกทำลายแล้ว. นัยน์ตาเกิดด้วยอำนาจแห่งปีติซาบซ่าน อาศัยปีติในทานของตนของพระโพธิสัตว์นั้นไม่วิปริตในเบื้องต้น ในท่ามกลางและในที่สุด ตามนัยดังกล่าวแล้ว ท่านเรียกว่า สัจจปารมิตาจักษุ คือจักษุอาศัยสัจจบารมี. สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
เมื่อเราจะให้ก็ดี กำลังให้ก็ดี ให้แล้วก็ดี จิตของเรามิได้เป็นอย่างอื่น เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณนั่นเอง.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 148
ในบทเหล่านั้น บทว่า ททมานสฺส คือให้หมอควักเพื่อจะให้นัยน์ตา.
บทว่า เทนฺตสฺส คือวางนัยน์ตาที่ควักแล้วนั้นไว้บนมือสักกพราหมณ์.
บทว่า ทินฺนทานสฺส คือให้นัยน์ตาเป็นทานแล้ว.
บทว่า จิตฺตสฺส อญฺกา คือ อัธยาศัยในการให้มิได้เป็นอย่างอื่น.
บทว่า โพธิยาเยว การณา เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณนั่นเอง. คือจักษุทานนั้นเป็นเหตุแห่งพระสัพพัญญุตญาณนั่นเอง.
เราทำสิ่งที่ทำได้ยากอย่างนี้ เพราะพระสัพพัญญุตญาณหาได้ยาก เพราะเหตุนั้นเมื่อจะทรงแสดงว่า เพราะเราไม่รักนัยน์ตาก็หามิได้ ไม่รักอัตภาพก็หามิได้ จึงตรัสคาถาสุดท้ายว่า น เม เทสฺสา จักษุทั้งสอง เราเกลียดชังก็หามิได้ เป็นอาทิ. น อักษรตัวแรกในบทว่า อตฺตา น เม น เทสฺสิโย เป็นเพียงนิบาต ความว่า แม้ตนเราก็มิได้เกลียดชัง อธิบายว่า ตนเราก็ไม่โกรธ ไม่เป็นที่รักก็หามิได้. ปาฐะว่า อตฺตานํ เม น เทสฺสิยํ ก็มีความว่า ตนเราก็มิได้เกลียด. บทนั้นมีความว่า เราไม่เกลียดไม่โกรธ ไม่ควรจะโกรธตนของเรา. อาจารย์บางท่านกล่าวว่า อตฺตาปิ เม น เทสฺสิโย ก็มีความอย่างเดียวกัน.
บทว่า อทาสหํ ตัดบทเป็น อทาสึ อหํ คือ เราได้ให้แล้ว. ปาฐะว่า อทาสิหํ ก็มี แปลอย่างเดียวกัน.
ก็ในครั้งนั้น เมื่อพระเนตรเกิดขึ้นแล้วด้วยสัตยาธิษฐานของพระโพธิสัตว์ พวกราชบริษัททั้งหมดได้ประชุมกันด้วยอานุภาพของท้าวสักกะ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 149
ลำดับนั้นท้าวสักกะประทับยืนบนอากาศท่ามกลางมหาชน สรรเสริญพระโพธิสัตว์ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า :-
ท่านผู้ยังชาวสีพีให้เจริญ คาถาทั้งหลายท่านกล่าวแล้วโดยธรรม พระเนตรทั้งสองของท่านปรากฏเป็นของทิพย์. การเห็นโดยรอบ ๑๐๐ โยชน์ ผ่านนอกฝา นอกหิน และภูเขา จงสำเร็จแก่ท่านเถิด.
แล้วเสด็จกลับสู่เทวโลก.
แม้พระโพธิสัตว์แวดล้อมด้วยมหาชน เสด็จเข้าสู่พระนครด้วยสักการะอันใหญ่ เมื่อตระเตรียมประตูพระราชมณเฑียรเรียบร้อยแล้ว ประทับนั่งเหนือราชบัลลังก์ ภายใต้เศวตฉัตรที่เขายกขึ้นไว้ ณ มหามณฑป เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่ชาวพระนคร ชาวชนบท และราชบริษัทผู้ยินดีร่าเริงเบิกบานด้วยการได้พระเนตรคืนมาเพื่อจะเห็น จึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า :-
ใครหนอในโลกนี้ เขาขอแล้วไม่ให้สมบัติอันประเสริฐบ้าง เป็นที่รักบ้างของตน. เชิญเถิดชาวสีพีทั้งหลายทั้งปวง จงมาประชุมกันดูนัยน์ตาทิพย์ของเราในวันนี้เถิด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 150
การเห็นโดยรอบร้อยโยชน์ ผ่านนอกฝา นอกหิน และภูเขา จงสำเร็จแก่ท่าน. อะไรๆ ในชีวิตนี้ของสัตว์ทั้งหลาย จะยิ่งไปกว่าการ บริจาคไม่มี เราให้จักษุอันเป็นของมนุษย์ แล้วได้จักษุอันเป็นทิพย์. ดูก่อนชาวสีพีทั้งหลาย พวกท่านเห็นทิพยจักษุนี้แล้วจงให้ทาน จงบริโภคเถิด. อนึ่ง พวกท่านครั้นให้แล้ว บริโภคแล้ว ตามอานุภาพไม่ถูกนินทา จงไปสู่ฐานะอันเป็นแดนสวรรค์เถิด.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺเมน ภาสิตา ความว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์ตรัสคาถาเหล่านี้โดยธรรม โดยความเป็นจริงทีเดียว.
บทว่า ทิพฺพานิ คือประกอบด้วยอานุภาพอันเป็นของทิพย์.
บทว่า ปฏิทิสฺสเร คือย่อมปรากฏ.
บทว่า ติโรกุฑฑํ คือนอกฝา.
บทว่า ติโรเสลํ คือนอกหิน.
บทว่า สมติคฺคยฺห คือผ่านไป.
บทว่า สมนฺตา คือการเห็นรูปทั่วสิบทิศประมาณร้อยโยชน์จงสำเร็จแก่ท่าน.
บทว่า โก นีธ ตัดบทเป็น โก นุ อิธ คือใครหนอในโลกนี้.
บทว่า อปิ วิสิฏฺํ คือมีความสูงสุด.
บทว่า น จาคมตฺตา คือไม่มีสิ่งอื่นชื่อว่าจะประเสริฐกว่าการบริจาค.
บทว่า อิธ ชีวิเต คือในชีวโลกนี้. อาจารย์บางพวก
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 151
กล่าวว่า อิธ ชีวตํ บ้าง. ความว่า เป็นอยู่ในโลกนี้.
บทว่า อมานุสํ คือเราได้ทิพยจักษุ. ด้วยเหตุนี้จึงควรกล่าวได้ว่า ไม่มีสิ่งชื่อว่าสูงสุดกว่าการบริจาค.
บทว่า เอตมฺปิ ทิสฺวา คือเห็นทิพยจักษุที่เราได้นี้แล้ว.
พระโพธิสัตว์มิได้ทรงแสดงด้วยคาถา ๔ คาถาเหล่านี้ในขณะนั้น เท่านั้น อันที่จริง พระโพธิสัตว์ทรงประชุมมหาชนในอุโบสถ ทรงแสดงธรรม แม้ทุกกึ่งเดือนด้วยประการฉะนี้. มหาชนได้สดับพระธรรมนั้นแล้ว ต่างทำบุญมีทานเป็นต้น แล้วก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลก.
หมอในครั้งนั้นได้เป็นพระอานนทเถระในครั้งนี้. ท้าวสักกะ คือ พระอนุรุทธเถระ. บริษัทที่เหลือ คือพุทธบริษัท. พระเจ้าสิวิราช คือพระโลกนาถ.
แม้ในสิวิราชจริยานี้ของพระโพธิสัตว์นั้น ก็พึงเจาะจงกล่าวถึงบารมีทั้งหลายตามสมควร โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
อนึ่ง พึงทราบคุณานุภาพของพระมหาสัตว์มีอาทิอย่างนี้ คือ ทุกๆ วัน วัตถุอันเป็นไทยธรรมภายนอกที่ไม่เคยพระราชทานไม่มีฉันใด เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงบริจาคมหาทานอันนับไม่ถ้วนก็ฉันนั้น ไม่ทรงยินดีด้วยมหาทานนั้น ทรงดำริว่า ทำอย่างไรหนอ เราจะพึงบริจาคทานอันเป็นวัตถุภายในได้. เมื่อไรหนอจะพึงมีใครๆ มาหาเราแล้วขอไทยธรรมอันเป็นวัตถุภายใน. หากมีผู้ขออะไรๆ จะพึงขอเนื้อหทัยของเรา เราจักนำเนื้อหทัยนั้นออกด้วยหอกแล้วนำหทัยซึ่งมีหยาดเลือดไหลดุจยกดอกบัวพร้อมด้วยก้านขึ้นจากน้ำใสแล้วจักให้. หากพึงขอเนื้อใน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 152
ร่างกาย เราจักเชือดเนื้อในร่างกาย ดุจกรีดเยื่อน้ำอ้อยงบของตาลด้วยการขูดออก. หากพึงขอเลือดเราจะเอาดาบแทงหรือสอดเข้าไปในปากแห่งสรีระแล้วนำเอาภาชนะเข้าไปรองจนเต็มแล้วจักให้เลือด. อนึ่ง หากใครๆ พึงกล่าวว่า ในเรือนของเรา การงานไม่ค่อยเรียบร้อย ท่านจงรับใช้เราที่เรือนนั้นเถิด. เราจักเปลื้องเครื่องทรงของพระราชา ออกมอบตนแก่เขาแล้วรับใช้เขา หรือว่าหากใครๆ พึงขอนัยน์ตาเรา. เราจักให้ควักนัยน์ตา ดุจนำจาวตาลออก ฉะนั้น แล้วให้แก่เขาดังนี้. พระมหาโพธิสัตว์ทรงถึงความเป็นผู้ชำนาญอันใช่ ทั่วไปแก่ผู้อื่นอย่างนี้ ทรงเกิดความปริวิตกกว้างขวางเป็นพิเศษ. การได้ผู้ขอจักษุแล้ว แม้เมื่ออำมาตย์และเหล่าบริษัทเป็นผู้ทูลคัดค้าน ก็มิได้ทรงเชื่อฟังคำของชนเหล่านั้น ทรงเสวยปีติอย่างยิ่งด้วยการปฏิบัติสมควรแก่ความปริวิตกของพระองค์. ทรงตั้งสัตยาธิษฐานต่อพระพักตร์ของท้าวสักกะ อาศัยความที่การปฏิบัตินั้นเป็นความจริงแท้แน่นอน เพราะพระองค์มีพระทัยอิ่มเอิบ. ความที่พระเนตรของพระองค์เป็นปกติด้วยสัตยาธิษฐานนั้น และความที่ พระเนตรนั้นมีอานุภาพเป็นของทิพย์ ด้วยประการฉะนี้.
จบ อรรถกถาสิวิราชจริยาที่ ๘