[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 14
๒. ทุติยสัมโพธสูตร
ว่าด้วยความรู้แท้ในเรื่องอายตนะ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 28]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 14
๒. ทุติยสัมโพธสูตร
ว่าด้วยความรู้แท้ในเรื่องอายตนะ
[๑๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก่อนแต่ตรัสรู้ เราเป็นโพธิสัตว์ยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้มีความคิดดังนี้ว่า อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นความสลัดออกแห่งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นความสลัดออกแห่งธรรมารมณ์. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า สุขโสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัยรูป นี้เป็นคุณแห่งรูป รูปเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งรูป การกำจัด การละฉันทราคะในรูป นี้เป็นความสลัดออกแห่งรูป ฯลฯ สุขโสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัยธรรมารมณ์ นี้เป็นคุณแห่งธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์เป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งธรรมารมณ์ การกำจัด การละฉันทราคะในธรรมารมณ์ นี้เป็นความสลัดออกแห่งธรรมารมณ์ ดูก่อน
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 15
ภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้ตามความเป็นจริง ซึ่งคุณแห่งอายตนะภายนอก ๖ เหล่านี้ โดยเป็นคุณ ซึ่งโทษ โดยความเป็นโทษ และซึ่งความสลัดออก โดยเป็นความสลัดออก อย่างนี้เพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณว่า ได้ตรัสรู้ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เพียงนั้น. เมื่อใด เราได้รู้ตามความเป็นจริง ซึ่งคุณแห่งอายตนะภายนอก ๖ เหล่านี้ โดยเป็นคุณ ซึ่งโทษ โดยความเป็นโทษ และซึ่งความสลัดออก โดยเป็นความสลัดออกอย่างนี้ เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณว่า ได้ตรัสรู้ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ก็ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ความหลุดพ้นของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด บัดนี้ภพใหม่ ไม่มี.
จบ สัมโพธสูตรที่ ๒
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 16
ยมกวรรคที่ ๒
อรรถกถาสัมโพธสูตรที่ ๑ - ๒
ยมกวรรคที่ ๒ สูตรที่ ๑ และสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า อชฺฌตฺติกานํ ได้แก่ชื่อว่า อัชฌัตติกะ โดยที่เป็นภายใน. ก็ความที่อายตนะเหล่านั้นเป็นภายใน พึงทราบได้ก็เพราะฉันทราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ มีกำลังเกินประมาณ. จริงอยู่ อายตนะภายใน เหมือนภายในเรือนของพวกมนุษย์ อายตนะภายนอก เหมือนอุปจาร ใกล้ๆ เรือน คือฉันทราคะในภายในเรือนของพวกมนุษย์ที่เต็มไปด้วยลูกเมีย ทรัพย์และข้าวเปลือก มีกำลังเกินประมาณ. พวกมนุษย์ไม่ให้ใครๆ เข้าไป ในที่นั้น. มีผู้กล่าวว่า จะประโยชน์อะไรด้วยเหตุเพียงเสียงภาชนะมีประมาณน้อยนี้ ฉันทราคะมีกำลังเกินประมาณในอายตนะภายใน ๖ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. อายตนะเหล่านั้น ท่านเรียกว่า ภายใน เพราะฉันทราคะมีกำลังนี้ ด้วยประการฉะนี้. แต่ในอุปจารใกล้ๆ เรือน ไม่มีกำลังอย่างนั้น มนุษย์ก็ดี สัตว์สี่เท้าก็ดี ที่เที่ยวไปในที่นั้น ไม่มีใครห้ามเลย แม้จะไม่ห้ามก็จริง ถึงอย่างนั้น เมื่อไม่ปรารถนา ก็ไม่ให้จับแม้เพียงตะกร้าขนดิน. ดังนั้น พวกเขาเหล่านั้นจึงไม่มีฉันทราคะมีกำลังเกินประมาณในที่นั้น. แม้ในรูปเป็นต้น ก็ไม่มีฉันทราคะที่มีกำลังเกินประมาณในที่นั้น เหมือนกัน ฉะนั้น ท่านจึงเรียกอายตนะเหล่านั้นว่า ภายนอก. แต่เมื่อว่าโดยพิสดาร อายตนะทั้งภายในและภายนอก ได้กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค. คำที่เหลือในสูตรทั้ง ๒ มีนัยดังกล่าวแล้ว ในหนหลังนั้นแล.
จบ อรรถกถาสัมโพธสูตรที่ ๑ - ๒