[เล่มที่ 63] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๒- หน้าที่ 149
ข้อความบางตอนจาก...
อรรถกถา มหาชนกชาดก
ก็แลครั้นเสด็จเข้าไปแล้ว พระมหาสัตว์เสด็จเที่ยวบิณฑบาต เสด็จถึงประตูเรือนของช่างศร แม้พระนางสีวลีเทวีก็เสด็จตามไปเบื้องหลัง ประทับอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง สมัยนั้น ช่างศรกำลังลนลูกศรนั้นกระเบื้องถ่านเพลิง เอาน้ำข้าวทาลูกศร หลับตาข้างหนึ่ง เล็งดูด้วยตาข้างหนึ่ง ดัดลูกศรให้ตรง พระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น มีพระดำริว่า ถ้าช่างศรผู้นี้จักเป็นคนฉลาด จักกล่าวเหตุอย่างหนึ่งแก่เรา เราจักถามเขาดู จึงเสด็จเข้าไปหาช่างศรแล้วตรัสถาม.
พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
เมื่อใกล้เวลาฉัน พระมหาสัตว์ประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตูเรือนของช่างศร ช่างศรนั้นหลับตาข้างหนึ่ง ใช้ตาอีกข้างหนึ่งเล็งลูกศรอันหนึ่งซึ่งคดอยู่ดัดให้ตรงที่ซุ้มประตูนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกฏฺฐเก ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชาพระองค์นั้น เมื่อใกล้เวลาเสวยของพระองค์ ได้ประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตูของช่างศร. บทว่า ตตฺร จ ได้แก่ ที่ซุ้มประตูนั้น. บทว่า นิคฺคยฺห แปลว่า หลับแล้ว. บทว่า ชิมฺหเมเกน ความว่า ใช้จักษุข้างหนึ่งเล็งดู.ลูกศรที่คด.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ได้ตรัสกะช่างศรนั้นว่า
ดูก่อนช่างศร ท่านจงฟังอาตมา ท่านหลับจักษุข้างหนึ่ง เล็งดูลูกศรอันคดด้วยจักษุข้างหนึ่ง ด้วยประการใด ท่านเห็นความสำเร็จประโยชน์ ด้วยประการนั้นหรือหนอ.
คำที่เป็นคาถานั้นมีเนื้อความว่า แน่ะเพื่อนช่างศร ท่านหลับตาข้างหนึ่งเล็งดูลูกศรที่คดด้วยตาข้างหนึ่ง ด้วยประการใด ท่านเห็นความสำเร็จประโยชน์ด้วยประการนั้นหรือหนอ.
ลำดับนั้น เมื่อช่างศรจะทูลแก่พระมหาสัตว์นั้น จึงกล่าวว่า
ข้าแต่พระสมณะ การเล็งด้วยจักษุทั้งสอง ปรากฏว่าเหมือนพร่าไปไม่ถึงที่คดข้างหน้า ย่อมไม่สำเร็จความดัดให้ตรง ถ้าหลับจักษุข้างหนึ่ง เล็งดูที่คดด้วยจักษุอีกข้างหนึ่ง เล็งได้ถึงที่คดเบื้องหน้า ย่อมสำเร็จความดัดให้ตรง บุคคลสองคนก็วิวาทกัน คนเดียวจักวิวาทกับใครเล่า ท่านผู้ใคร่ต่อสวรรค์ จงชอบความเป็นผู้อยู่คนเดียวเถิด.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิสาลํ วิย ความว่า ย่อมปรากฏเหมือนพร่าไป บทว่า อปฺปตฺวา ปรมํ ลิงฺคํ ความว่า ไม่ถึงที่คดข้างหน้า. บทว่า นุชฺชุภาวาย ได้แก่ ไม่สำเร็จความดัดให้ตรง มีคำอธิบายว่า เมื่อความพร่าปรากฏ ก็จักไม่ถึงที่ตรงข้างหน้า เมื่อไม่ถึงคือไม่ปรากฏ กิจด้วยความตรงจักไม่สำเร็จคือไม่ถึงพร้อม. บทว่า สมฺปตฺวา ความว่า ถึงคือเห็นด้วยจักษุ. บทว่า วิวาทปฺปตฺโต ความว่า เมื่อลืมตาที่สอง ที่คดย่อมไม่ปรากฏ คือแม้ที่คดก็ปรากฏว่าตรง แม้ที่ตรงก็ปรากฏว่าคด ความวิวาทย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ฉันใด แม้สมณะมีสองรูปก็ฉันนั้น ย่อมวิวาทกัน คือ ทะเลาะกัน ถือเอาต่างๆ กัน. บทว่า เกเนโก ความว่า คนเดียวจักวิวาทกับ ใครเล่า. บทว่า เอกตฺตมุปโรจตํ ความว่า ท่านจงชอบใจความเป็นผู้อยู่คนเดียว ธรรมดาสมณะทั้งหลาย ย่อมจะไม่พาแม้น้องสาวเที่ยวไปเลย แต่เหตุไรท่านจึงพาภริยาซึ่งทรงรูปอันอุดมเที่ยวไป ภริยานี้จักทำอันตรายแก่ท่าน ท่านจงนำภริยานี้ออกไปอยู่ผู้เดียวเท่านั้น บำเพ็ญสมณธรรมให้สมควรเถิด ช่างศรกล่าวสอนพระมหาสัตว์ ด้วยประการ ฉะนี้
ช่างศรถวายโอวาทแด่พระมหาสัตว์อย่างนี้แล้วก็นิ่งอยู่ พระมหาสัตว์เสด็จเที่ยวบิณฑบาต ได้ภัตตาหารที่เจือปนแล้ว เสด็จออกจากพระนครประทับนั่งเสวยในที่มีน้ำสมบูรณ์ พระองค์เสร็จเสวยพระกระยาหารแล้วบ้วนพระโอฐ ล้างบาตรนำเข้าถุงแล้ว ตรัสเรียกพระนางสีวลีมาตรัสว่า
ดูก่อนนางสีวลี เธอได้ยินคาถาที่ต่างศรกล่าวหรือยังช่างศรเป็นเพียงคนใช้ยังติเตียนเราได้ ความที่เราทั้งสองประพฤตินั้นเป็นเหตุแห่งความครหา ดูก่อนนางผู้เจริญทางสองแพร่งนี้อันเราทั้งสองผู้เดินทางมา จงแยกกันไปเธอจงถือเอาทางหนึ่งไป อาตมาก็จะถือเอาทางอื่นอีกทางหนึ่งไป เธออย่าเรียกอาตมาว่าเป็นพระสวามีของเธอและอาตมาก็จะไม่เรียกเธอว่าเป็นมเหสีของอาตมาอีก.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุณสิ ความว่า เธอฟังคาถาหรือพระมหาสัตว์ตรัสพระดำรัสว่า เปสิโย มํ นี้ ทรงหมายถึงโอวาทของช่างนั่นเอง.
ขออนุโมทนาครับ
ขอเชิญอ่านเพิ่มเติ่ม...
มหาชนกชาดก ว่าด้วยพระมหาชนกทรงบําเพ็ญวิริยบารมี