การเจริญภาวนาถูกหรือผิด
โดย Pure.  14 ส.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 25297

-การนั่งสมาธิภาวนากับการเดินจงกรม ทำเพื่ออะไรครับ?

-ที่แน่ๆ เป็นการฝึกอะไรครับ?

-ประโยชน์ของการกระทำนั้นคืออะไรครับ?

-คำว่าจิตดับหรือการไปทวนญาณคืออะไรครับ?

-ตามความเป็นจริงที่ถูกต้องแล้วเราควรจะทำอย่างไรกับจิตของเราเองครับ?

อนุโมทนาบุญครับอาจารย์



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 14 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-การนั่งสมาธิภาวนากับการเดินจงกรม ทำเพื่ออะไรครับ?

-ที่แน่ๆ เป็นการฝึกอะไรครับ?

-ประโยชน์ของการกระทำนั้นคืออะไรครับ?

⇒ ก็ขอให้ตั้งต้นที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อตั้งใจว่า จะศึกษาพระธรรมจริงๆ ก็ต้องตั้งต้นอย่างนี้ เป็นเหมือนผู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เพื่อที่จะได้รู้ได้ เข้าใจถูกเห็นถูก จากการได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริง ดังนั้น เมื่อได้ยินได้ฟังคำอะไร ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า สิ่งนั้น คือ อะไร และประการที่สำคัญ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคำ ทุกพยัญชนะ เพื่อให้เข้าใจความจริง แม้แต่ คำว่า สมาธิ ก็เช่นเดียวกัน

สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว เป็นเจตสิกประการหนึ่งที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ และก็จะต้องมีสมาธิ ซึ่งเป็นเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตทุกครั้งทุกขณะ ไม่เว้นเลย ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ ดังนั้น ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะนอน จะเดิน จึงไม่ปราศจากสมาธิเลย เพราะเกิดกับจิตทุกขณะ

และที่ควรพิจารณา คือ สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับอกุศล ก็เป็นอกุศลสมาธิ อกุศลสมาธิ เช่น การนั่งสมาธิ ไม่ควรเจริญ ไม่ควรประกอบ ซึ่งขณะนั้นเป็นไปกับด้วยความต้องการอยากจะสงบ โดยที่ไม่รู้เลยว่าความสงบเป็นเรื่องของกุศลธรรม อกุศลสมาธิ ไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม มีปัญญาเป็นต้น มีแต่จะเพิ่มพูนความไม่รู้ และอกุศลธรรมอื่นๆ ต่อไป ในสมัยพุทธกาล อุบาสก อุบาสิกา ผู้เป็นเพศฆราวาส ไม่ได้ทำอะไรให้ชีวิตผิดปกติ เพราะ ท่านเข้าใจว่า ธรรม เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน การเจริญอบรมปัญญาความสงบ จึงไม่ต้องไปทำอะไรให้ผิดปกติ โดยการนั่งสมาธิ แต่ท่านเข้าใจถูก และอบรมปัญญาในชีวิตประจำวัน และก็ทำกิจการงาน ดังเช่น คฤหัสถ์ในปัจจุบันด้วย ดังเช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่เป็นพ่อค้าและเป็นอริยสาวกและอบรมปัญญาเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน มีการให้ทาน รักษาศีล อบรมปัญญา โดยไม่ได้ไปปลีกวิเวก หาที่นั่งสงบเลย เพราะความสงบ คือ จิตใจที่เป็นกุศลที่เกิดได้ในชีวิตประจำวัน เพราะ จิตที่ดี สงบ ไม่ได้เลือก

ดังนั้น พระพุทธเจ้า ทรงแสดงเรื่องสมาธิ ในสมัยพุทธกาลว่า สมาธิ มีสองอย่าง คือ สัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ สมาธิใดที่เป็นความตั้งมั่น ที่ไม่ได้หมายถึงจะต้องไปนั่งสมาธิ แต่ขณะแม้เพียงขณะจิตเดียวก็มีสมาธิแต่เป็นความตั้งมั่นขณะจิตที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยที่รู้ความจริงที่เป็นวิปัสสนาภาวนา ขณะนั้น ก็มีสมาธิด้วย และเป็นสัมมาสมาธิ ที่เป็น สมาธิที่ควรเจริญ

ส่วนการกระทำที่ได้แต่ความนิ่งไม่ทำให้เกิดปัญญาความรู้ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงว่าเป็น มิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง เพราะเกิดกับอกุศลจิต มี โลภะ และโมหะ เป็นต้น คือ มีความต้องการที่จะทำ อยากที่จะสงบ อันเป็นความต้องการที่เป็นโลภะ และขณะที่นิ่งก็ไม่รู้อะไร ขณะนั้นก็มีโมหะเกิดร่วมด้วย พระพุทธเจ้าทรงติเตียนมิจฉาสมาธิ ว่าไม่ควรเจริญ ครับ

จะเห็นนะครับว่า หากการศึกษาพระธรรมโดยละเอียด เมื่อได้ยินคำว่า สมาธิ เราก็จะเข้าใจว่าดี ทั้งที่มีทั้งมิจฉาสมาธิ และ สัมมาสมาธิ และ หากละเอียดลงไปสมาธิไม่ได้หมายความว่า จะต้องนิ่งสงบเป็นเวลานานๆ แต่สมาธิทีเกิดเพียงขณะจิตเดียวที่เกิดพร้อมปัญญาก็เป็นสัมมาสมาธิแล้ว ครับ

พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องฟัง ต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ จึงจะเข้าใจพระธรรม ทั้งหมดเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ซึ่งจะต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ที่สำคัญ คือจะขาดการฟังพระธรรม ไม่ได้เลยทีเดียว ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความนี้เพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

จะนั่งสมาธิอีกแล้วครับ - บ้านธัมมะ

ความเข้าใจเรื่องสมาธิ

ทำไมไม่สนับสนุนการทำสมาธิ การทำสมาธิไม่ดีตรงไหน

โดยนัยเดียวกัน การจงกรม

หนทางเดียวที่จะทำให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏ ตามความเป็นจริงนั้น ต้องฟังพระธรรม ต้องศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความตั้งใจจริงๆ เพราะพระธรรมทั้งหมดนั้นแสดงให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้เข้าใจตามความเป็นจริง และสภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น มีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปทำอะไรที่ผิดปกติขึ้นมาในการที่จะรู้ธรรม ต้องเป็นปกติจริงๆ ไม่ใช่ผิดปกติ แม้แต่คำว่าจงกรมก็ดีสมาธิก็ดี ซึ่งถ้าได้ศึกษาอย่างละเอียดแล้วจะไม่เข้าใจผิดเลย จะไม่เข้าใจผิดว่าจงกรมและสมาธิเป็นรูปแบบของการปฏิบัติ

เพราะจงกรม ก็คือ การเดินปกติ ไม่ใช่สร้างท่าทางขึ้นมาให้ผิดปกติ เดินตามปกตินี้เอง คือ จงกรม (ซึ่งมาจากภาษาบาลีว่า จงฺกม แปลว่า การก้าวเดินไป,ก้าวไป) สภาพธรรมใดปรากฏก็สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ในขณะนั้น

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

-คำว่าจิตดับหรือการไปทวนญาณคืออะไรครับ?

-ตามความเป็นจริงที่ถูกต้องแล้วเราควรจะทำอย่างไรกับจิตของเราเองครับ?

⇒ ไม่มีใครไปทวนญาน เพราะเป็นตัวตนที่ไปทวน ที่สำคัญ แม้แต่สภาพธรรมในขณะนี้ไม่เข้าใจว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา คงไม่ต้องกล่าวถึงญาณ ที่่เป็นปัญญาขั้นสูงได้เลย ซึ่งไม่มีเราที่จะไปทำจิตของเรา แต่หนทางที่ถูกคือ การศึกษาฟังพระธรรมให้เข้าใจ ปัญญาเจตสิกจะเกิดขึ้นทำหน้าที่ปรุงแต่ง ค่อยๆ รู้ความจริงของการเกิดขึ้นของสภาพธรรม แม้แต่จิตที่สมมติว่าเป็นจิตเราในขณะนี้ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น ก็ค่อยๆ ละความไม่รู้ และความเห็นผิดได้ตามความเป็นจริง ซึ่งอาศัยการฟังศึกษาพระธรรม ไม่ต้องมีตัวตนไปจัดการกับจิตเราได้เลย เพราะมีแต่ธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 14 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยสติ และปัญญา

พระธรรมคำสอน ทางพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ โดยละเอียดโดยประการทั้งปวง รวมถึงเรื่องสมาธิด้วย แต่ไม่ได้สอนให้ไปทำ หรือไปฝึกสมาธิ แต่ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงเนื่องจากว่า สมาธิ มีทั้งสัมมาสมาธิ และมิจฉาสมาธิ มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว สมาธิเป็นเอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด ถ้าเกิดกับกุศล เป็นสัมมาสมาธิ แต่ถ้าเกิดกับอกุศล ก็เป็นมิจฉาสมาธิ

สมาธิ ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย สัมมาสมาธิเป็นความตั้งมั่นชอบเป็นไปในกุศลธรรม แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิแล้วเป็นอกุศลเป็นเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศล เพราะฉะนั้น ความต่างก็คือ สัมมาสมาธิ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิแล้ว เป็นอกุศล ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าอะไรเป็นสัมมาสมาธิ อะไรเป็นมิจฉาสมาธิ ก็จะเป็นเหตุให้ประพฤติปฏิบัติผิด พอกพูนความติดข้องความไม่รู้และความเห็นผิดให้หนาแน่นยิ่งขึ้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง ทั้งสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ ควรอบรมควรเจริญ ส่วนมิจฉาสมาธิ เป็นอกุศล ไม่ควรทำ สัมมาสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิตในทางที่ถูกเป็นกุศล สัมมาสมาธิมีหลายระดับ ขณะที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นก็มีสมาธิที่เป็นขณิกสมาธิ ก็เป็นสัมมาสมาธิ แต่โดยทั่วไปแล้วสัมมาสมาธิจะใช้ในกุศลที่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา เช่น สัมมาสมาธิที่เกิดกับการอบรมสติปัฏฐาน หรือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งสัมมาสมาธิ ในสติปัฏฐาน ก็จะเป็นขณิกสมาธิ เพียงชั่วขณะแต่เป็นไปทางกุศลและอบรมปัญญา

สัมมาสมาธิที่เกิดในขณะเป็นอริยมรรคมีองค์๘ ก็จะเป็นสัมมาสมาธิเช่นกันความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่ทำให้เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ทำให้น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกและละเว้นในสิ่งที่ผิด

ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าไม่ฟังไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงย่อมไม่มีความเข้าใจถูกเห็นถูก มีแต่ความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง แต่สำคัญผิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกก็สอนในสิ่งผิดๆ ให้กับผู้อื่นเป็นการเผยแพร่ความเห็นผิด ทำให้คนอื่นประพฤติผิดตามไปด้วย เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นแล้ว ที่ดีที่สุดควรที่จะได้ตั้งต้นที่การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ควรไปทำอะไรตามใครด้วยความไม่รู้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย nopwong  วันที่ 14 ส.ค. 2557

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 14 ส.ค. 2557

สมาธิมี 2 อย่าง คือ สัมมาสมาธิ คือความตั้งมั่นในอารมณ์ที่เป็นกุศล ประกอบด้วยปัญญา มิจฉาสมาธิ คือ ความตั้่งมั่นในอารมณ์ที่เป็นอกุศล จดจ้องต้องการให้จิตสงบ ด้วยความไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย Pure.  วันที่ 14 ส.ค. 2557

ขอบคุณครับอาจารย์ และขออนุโมทนาบุญ