ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ในพระไตรปิฎกมีกล่าวถึงประเด็นข้างต้นอย่างไร เพื่อรักษาชีวิตสัตว์ให้รอดจากการถูกฆ่า จึงได้มีการไถ่ชีวิตสัตว์ หรือซื้อนกเต่าปลาเพื่อปล่อย ทางการพาณิชย์ ก็ มีการจับสัตว์เหล่านี้มาขาย เพื่อให้คนซื้อปล่อย ซึ่งก็จะเป็นบาป ไม่ควรกระทำ ขอความรู้ว่าควรถือปฏิบัติในเรื่องนี้อย่างไรคะ
ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การซื้อปลาไปปล่อยด้วยเจตนาช่วยเหลือ หรือ ไถ่ชีวิตโคกระบือ ขณะนั้นจิตเป็นกุศล กุศลไม่เปลี่ยนลักษณะครับ กุศลก็ต้องเป็นกุศล ขณะที่ช่วยเหลือ ไม่ได้มีเจตนาสนับสนุนให้ผู้อื่นทำบาป เอาปลามาขาย ไม่เช่นนั้นครับ เพราะขณะนั้นมีเจตนาดี ถ้าเรามั่นคงในเรื่องของกรรม สัตว์ที่จะถูกจับไม่ถูกจับไม่เกี่ยวกับเราเลยครับ ไม่เกี่ยวกับเราที่ไปซื้อจึงทำให้แม่ค้าไปซื้อปลามา เพราะในความเป็นจริง สัตว์ คือ ปลาจะถูกจับมาก็เพราะกรรมของปลาเอง ถ้าปลาไม่มีกรรมของตนที่จะต้องถูกจับก็จะไม่ถูกจับมาเลย ครับ การมั่นคงในเรื่องของกรรมก็จะทำให้มั่นคงในการเจริญกุศลประการต่างๆ และเข้าใจบุคคลอื่นในการกระทำของแต่ละบุคคล ทุกคนก็มีหน้าที่และการสะสมแตกต่างกันไปครับ พระธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่การพิจารณาความจริง ตามธรรมแล้ว จะต้องพิจารณาเป็นทีละขณะจิต และ พิจารณาที่เจตนาเป็นสำคัญ ครับ ไม่ใช่พิจารณาเป็นเรื่องยาวๆ ก็จะทำให้เข้าใจผิดได้ แม้แต่การให้เงินขอทาน ที่คิดว่า สนับสนุนขบวนการ สนับสนุนการจับเด็กมา หรือ มีขอทานมากขึ้น หรือ แม้แต่กรณีของ การปล่อยปลาปล่อยสัตว์ก็คิดว่า จะทำให้เขาไปจับสัตว์มามากขึ้น ทำให้คนอื่นทำบาปมากขึ้น เป็นต้น อย่างนี้ก็ควรพิจารณา โดยละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งขอยกตัวอย่างดังนี้ ครับ
เจตนา เป็นกรรม เจตนาที่ดี ก็เป็นกุศลเจตนา เป็นกุศลจิต กุศลกรรม เช่น คิดช่วยเหลือ มีเมตตา เป็นต้น ซึ่งผลจากเจตนาดี ก็ต้องมีความสุขเป็นผล
ส่วนเจตนาที่ไม่ดี เกิดจากอกุศลจิต ที่เป็นทุจริต มีการทำด้วยการเบียดเบียน มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งผลของเจตนาที่ไม่ดี เป็นอกุศล ย่อมนำมาซึ่งผลที่ไม่ดี เพราะ เป็นบาป ครับ
ดังนั้น ในประเด็นที่ถาม ผู้ที่ช่วยเหลือ หวังดี เจตนาดี เช่น การให้ขอทาน การปล่อยสัตว์ มีปลา เป็นต้น อย่างกรณีของการปล่อยนก ปล่อย ปลา ปล่อยสัตว์ เจตนาของผู้ปล่อย มีเจตนาให้สัตว์ปลอดภัย เป็นเจตนาที่เป็นกุศลกรรม ขณะนั้นไม่เป็นบาป แต่ เป็นบุญในขณะนั้น ส่วนการที่ปลาตาย เพราะการช่วยเหลือนั้น หากเรามองให้ละเอียดลึกลงไป ไม่มองสั้นๆ ก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า การที่สัตว์จะตาย หรือ ไม่ตายเพราะใคร เพราะ กรรมของสัตว์นั้นเอง หากสัตว์นั้น ไม่มีกรรมที่จะต้องถูกจับอีก หรือ จะต้องตาย สัตว์ที่ถูกปล่อยนั้นก็ไม่ตาย แต่หากสัตว์นั้นมีกรรมที่จะต้องตาย สัตว์นั้นก็ต้องตาย ไม่ว่าจะถูกปล่อย หรือ ไม่ถูกปล่อยก็ตาม ครับ
พระพุทธศาสนา จึงตัดสินการกระทำที่เจตนาในขณะที่ทำกรรมในขณะนั้น ว่าเป็นเจตนาที่ดี เกิดจากกุศลจิต ก็เป็นกุศล เป็นบุญ ไม่บาป และเจตนาที่ไม่ดี ทุจริต ในขณะนั้น ก็เป็นบาป ครับ ไม่ได้วัดที่ผลที่เกิดจากผู้ที่ได้รับจากการกระทำผู้นั้นเป็นสำคัญ แต่ สำคัญที่จิตของผู้กระทำและเจตนาเป็นสำคัญ ครับ
อย่างเช่น บางคนเจตนาไม่ดี ทุจริต เช่น ตั้งใจคิดจะฆ่าคนหนึ่ง แต่เพราะทำพลาด กลายเป็นช่วยเหลือคนนั้นให้รอดชีวิต หากวัดเพียงผลที่ทำให้ผู้นั้นรอดชีวิตก็กลายเป็นว่า สิ่งนั้นดี เพราะทำให้ผู้นั้นรอดชีวิต ทั้งๆ ที่เจตนาไม่ดี คือ เจตนาฆ่าในขณะนั้น แต่ในความเป็นจริง อกุศล ก็ต้องเป็นอกุศลไม่เปลี่ยนแปลง เจตนาไม่ดีก็ต้องเป็นเจตนาที่ไม่ดี เป็นบาปในขณะนั้น ครับ
โดยนัยเดียวกับ การให้เงินขอทาน เจตนาที่ให้ เพราะต้องการช่วยเหลือ หวังดีในขณะนั้น จิตเป็นกุศล ขณะที่หวังดี ขณะนั้นมีเจตนาส่งเสริมการค้ามนุษย์หรือไม่ มีเจตนาสนบับสนุนให้เกิดขอทานมากๆ หรือไม่ ไม่มี และที่ลืมไม่ได้อีกเช่นกัน การที่เด็กถูกจับมา หรือ มีขอทานมากขึ้น เพราะจากการให้ของเรา หรือเหตุเพราะอกุศลกรรมที่เด็ก หรือ ขอทานคนนั้นทำ ทำให้ถูกจับมา หากเด็กไม่มีอกุศลกรรมที่ทำมา ก็จะไม่ถูกจับเลย ครับ
แพทย์ต้องการช่วยเหลือคนไข้ เจตนาดี แต่ทำสุดความสามารถแล้ว เกิดข้อผิดพลาดขณะที่ทำ ทำให้คนไข้เสียชีวิต แพทย์ มีเจตนาทำให้คนไข้ตายหรือไม่ หรือเจตนาช่วยเหลือ แม้ผลที่ออกมาทำให้คนไข้เสียชีวิต เมื่อเป็นเจตนาดี เป็นกุศลจิตที่คิดจะช่วยเหลือ ก็ไม่เป็นบาป เป็นกุศลในขณะนั้น ส่วนคนไข้ก็มีกรรมของตนเองที่จะต้องตาย ครับ
และที่เคยเป็นข่าว คนอยากจะกระโดดตึก ตำรวจเกลี้ยกล่อม เมื่อคนจะกระโดดเผลอ จึงวิ่งเข้าหา เพื่อล็อกตัว แต่พลาด ทำให้คนนั้น ตกตึก ขณะที่ตก ก็พยายามจะหยิบคว้าสิ่งของให้ตัวเองรอดตาย แต่สุดท้ายก็ตกลงมาเสียชีวิต เจตนาตำรวจดีหรือไม่ดี เจตนาดี แต่ผลคือทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต หากวัดเพียงผล ก็กลายเป็นตำรวจบาป แต่ในความเป็นจริง ตำรวจมีเจตนาดี เป็นกุศล ไม่บาป แม้ผู้ที่ถูกช่วยเหลือจะเสียชีวิตก็ตาม ครับ
การที่ทานอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ ขณะนั้นมีเจตนาฆ่าสัตว์หรือไม่ เพราะหากคิดสั้นๆ ถ้าไม่กินเนื้อสัตว์ สัตว์ก็ตายน้อยลง แต่เพราะ เรากินเนื้อกัน สัตว์เลยต้องตาย ขณะที่ทานเนื้อสัตว์ มีเจตนาฆ่าหรือไม่ ไม่มีเจตนาฆ่า จึงไม่เป็นการฆ่าสัตว์ หรือ มีเจตนาสนับสนุนการฆ่าในขณะนั้น ส่วนสัตว์ หากไม่มีกรรมที่จะต้องตายของตนเอง ก็จะไม่ตาย ไม่ถูกจับฆ่าเลย แม้โดยทั่วไป เราก็ไม่ทานเนื้อมนุษย์กัน แต่ทำไมยังมีการฆ่ามนุษย์กันอยู่ เพราะ ตาย เพราะกรรมของบุคคลนั้นเอง ครับ
การปล่อยปลา การให้ขอทานก็โดยนัยเดียวกัน ตามที่กล่าวมาครับ พระพุทธศาสนา พิจารณาที่สภาพจิต สำคัญที่เจตนาในขณะนั้นว่าเป็นเจตนาดี หรือ ไม่ดี ที่จะเป็นกรรมดี กรรมชั่ว ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
บุญหรือกุศลนั้นอยู่ที่สภาพจิต สภาพจิตที่ดีงาม เกิดขึ้นในขณะใดก็เป็นบุญ เป็นกุศลแล้ว ในขณะนั้น สำหรับผู้ที่เห็นคุณของกุศล เห็นโทษของอกุศล ท่านก็จะไม่ละเลยโอกาสของการเจริญขึ้นของกุศลธรรม เป็นโอกาสที่จะปล่อยสัตว์ ก็ปล่อย ซึ่งเป็นการให้ชีวิตเป็นทาน เป็นการช่วยเหลือสัตว์ให้พ้นจากการจองจำ ให้ความเป็นอิสระ ทำให้สัตว์ได้พ้นจากความเดือดร้อนในขณะนั้น เป็นความปรารถนาดีที่มีต่อสัตว์ เป็นกุศลจิต เมื่อกุศลจิตเกิดขึ้น ก็ช่วยเหลือทันที ปล่อยทันที เท่าที่จะเป็นไปได้เพราะ ถ้ากุศลจิตไม่เกิด แล้ว ก็จะเป็นโอกาสให้อกุศลจิต เกิด ซึ่งอกุศลนี้ไม่มีประโยชน์เลยแม้แต่นิดเดียว เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว กุศลธรรม เป็น ธรรมที่ควรอบรมเจริญในชีวิตประจำวัน ส่วนอกุศลธรรม ควรละเว้นให้ห่างไกล ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
การปล่อยสัตว์ทุกชีวิต เป็นการเจริญเมตตา เป็นมหากุศลค่ะ
ขออนุโมทนาในกุศลค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ