ผมมีความสงสัยว่าทำไมจึงไม่ใช้คำ กามโทษ 5 ทั้งๆ ที่ กาม 5 คือ ตา หู จมูก
ลิ้น และกาย มันก็เป็นทางให้คุณและโทษแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย คือ ให้คุณที่สุด
ก็ให้ถึงซึ่งมรรคผลนิพพาน และให้โทษสูงสุดก็นรกอเวจี ขอขอบพระคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย คำว่า คุณ มีหลายความหมายครับ คุณ หมายถึง ชั้น, ลำดับ, อานิสงส์ ผล, ผูกร้อย
ร้อยรัด, เครื่องผูก, ผูกมัด จะเห็นนะครับว่า คำว่า คุณ มีหลายความหมาย ไม่ได้
หมายถึง คุณ ที่หมายถึง อานิสงส์ หรือสิ่งที่ดี ที่เป็นคุณ เท่านั้นครับ ดังนั้น กามคุณ 5
คุณ ในที่นี้ หมายถึง เครื่องผูก ผูกมัดสัตว์โลกผู้มากไปด้วยกิเลส จึงถูกเครื่องผูก คือ
กามคุณ 5 ที่น่าปรารถนา น่าพอใจ มี รูป เสียง เป็นต้น ถูกผูกไว้ด้วยกามคุณ 5 เพราะ
ยินดี พอใจใน รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส การกระทบสัมผัส ก็ย่อมถูกผูกด้วย
อำนาจกิเลส ครับ ดังนั้น คุณ ในกามคุณ 5 จึงเป็นการแสดงถึง การถูกผูกไว้ ด้วย
เครื่องผูก คือ กามที่น่าพอใจนั่นเองครับ
อีกนัยหนึ่ง คำว่า คุณ ในกามคุณ 5 ก็แสดงถึงคุณของกามที่มีเล็กน้อยเช่นกัน หาก
กามไม่มีคุณแล้ว สัตว์จะไม่ติดข้อง มัวเมาเพลิดเพลินในกามคุณ คือ รูป รส กลิ่น เสียง
กระทบสัมผัสเลยครับ คุณของกามคืออะไร คือ สุข โสมนัสอันเกิดจากกาม เช่น เห็น
รูปที่พอใจก็ยินดี ชอบ เกิดเวทนาความรู้สึกที่โสมนัส และชอบในสิ่งที่เห็น นี่คือคุณ
ของกามที่เล็กน้อย หาก รูปต่างๆ เสียง กลิ่น.. ...ทำให้ทุกข์อย่างเดียว เหล่าสัตว์ก็คง
ไม่ติดข้องครับ แต่เพราะ กาม มีคุณ คือ สุข โสมนัสอันอาศัยกาม ตามที่กล่าวมา สัตว์
โลกจึงติดข้อง พอใจ และถูกเครื่องผูกคือกามคุณ ร้อยรัดไว้ครับ
แต่ กามคุณ มีคุณน้อย แต่โทษมาก โทษมีมากมาย ทำให้มีการทะเลาะวิวาท อัน
อาศัยกามคุณ ความลำบาก ความทุกข์ใจ เพราะสิ่งที่ติดข้องมีกามคุณ 5 แปรปรวนไป
ไม่เที่ยง การถูกลงโทษ การถูกฆ่าและการที่จะต้องจมลงไปในสังสารวัฏฏ์ ไม่สามารถ
ออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ เพราะความติดข้อง และถูกเครื่องผูก คือ กาม ร้อยรัดไว้นั่นเอง
ครับ กามคุณจึงมีคุณ จึงทำให้สัตว์โลกติดข้อง แต่มีโทษมาก เพราะมีโทษมาก ผู้มี
ปัญญาทั้งหลาย จึงอบรมปัญญาเพื่อละกาม คือ กิเลสกาม ละความติดข้อง และถึง
การดับกิเลส ครับ ดังนั้น คำว่า คุณ ในกามคุณ จึงหมายถึง เครื่องผูก และยังหมายถึง
คุณ (ซึ่งมีเพียงเล็กน้อย) ของกามด้วย ตามที่กล่าวมาครับ ส่วนคำว่า กามโทษ ไม่มี
แต่มีแสดง โทษของกาม ครับ
ขออนุโมทนาครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ... กามคุณ ๕
[เล่มที่ 12] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒-หน้า 280
บทว่า กามคุณทั้งหลาย อธิบายว่า ชื่อว่า กาม เพราะอรรถว่า พึงใคร่. ชื่อว่า
คุณ เพราะอรรถว่า ผูกมัด.....บทว่า กามคุณ ชื่อว่า อาวรณา เพราะเป็นเครื่องหน่วง
เหนี่ยว............ บทว่า กามคุณ ชื่อว่า อาวรณาเพราะเป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยว.
---------------------------------------------------------------------------
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑-หน้า 50
ที่มีความหมายถึงเครื่องผูก เช่นในคำว่า ปญฺจ กามคุณา แปลว่า เครื่องผูกคือ
กาม ๕ อย่าง ดังนี้.
[เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒-หน้า 115
[๑๙๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นคุณของกามทั้งหลาย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ รูป ที่
พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม
เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยโสต. . .กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วย
ฆานะ. . รสที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหา. ..โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการเหล่านี้แล. ความสุข ความโสมนัส
ใดเล่า อาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้น นี้เป็นคุณของกามทั้งหลาย.
-------------------------------------------------------------
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ในพระไตรปิฏกไม่มีแสดงไว้ ว่า กามคุณ 5 ทำให้บรรลุมรรค ผล นิพพาน
มีแต่การอบรมเจริญปัญญา เพื่อละความติดข้องในกามคุณ 5 ที่จะทำให้พ้นทุกข์
กาม มีโทษมาก มีคุณน้อย ดุจลิ้มเลียหยาดน้ำผึ้งที่อยู่บนคมมีด ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น กามคุณทั้งหลาย เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ซึ่งไม่พ้นไปจาก รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง และเป็นสิ่งที่หลายคน
ได้ประสบและกำลังแสวงหากันอยู่ แต่ควรที่จะได้พิจารณาว่า สิ่งเหล่านั้น เป็นเพียง
สิ่งที่ปรากฏแล้วหมดไป ไม่ยั่งยืน ถึงแม้ว่าจะมีการแสวงหากามคุณ มากมายเพียงใด
ในที่สุดบุคคลก็จะต้องจากสิ่งที่น่าปรารถนาเหล่านั้นไป เมื่อถึงวาระ ที่จะต้องละ จาก
โลกนี้ เพราะทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย และไม่สามารถนำเอาอะไรติดตามตัวไปได้
เลย และแท้ที่จริงแล้ว ก็จากอยู่ทุกๆ ขณะ
ในชีวิตประจำวันสำหรับผู้ที่ไม่ได้แสวงหาปัญญา (ความเข้าใจถูก เห็นถูก) มีแต่การ
การแสวงหา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างมากมาย ก็เพราะเหตุว่า ยังไม่เห็น
ประโยชน์ ยังไม่เห็นคุณค่าของการเข้าใจพระธรรม
ดังนั้น สิ่งที่ควรจะแสวงหาเป็นอย่างยิ่ง นั้น ไม่ใช่กามคุณทั้งหลาย แต่เป็น
ปัญญา (ความเข้าใจถูก เห็นถูก) ที่จะทำให้ รู้ความจริงของสภาพธรรม จนกระทั่ง
สามารถ ที่จะละคลายความติดข้องต้องการได้ เพราะความติดข้องต้องการนี้เอง เป็น
เหตุให้เกิดความทุกข์ เกิดความเดือดร้อน เมื่อมีปัญญาที่เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ก็จะ
สามารถละคลายความติดข้องต้องการ และสามารถดับทุกข์ได้ในที่สุด ไม่ต้องเวียนว่าย
ตายเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ โดยต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ในแนวทาง
ที่ถูกต้อง ตรงตามที่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เท่านั้นจริงๆ . ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
อ่านแล้วเจริญปัญญาดีมากครับ
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
ขอขอบคุณที่ อาจารย์ Padermและ อาจารย์ khampan ได้กรุณาให้ความรู้ที่
ละเอียดมากๆ แก่ผม และผู้ใฝ่รู้อีกหลายท่านที่ได้อ่านจากที่อาจารย์ทั้งสองได้
ตอบกระทู้ผมอย่างละเอียดยิ่ง
ขออนุโมทนาค่ะ
กราบอนุโมทนาค่ะ
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด
อนุโมทนาสาธุคะ