๓. สุตนุสูตร การบรรลุภาวะแห่งมหาอภิญญา
โดย บ้านธัมมะ  12 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 38019

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 193

๓. สุตนุสูตร

การบรรลุภาวะแห่งมหาอภิญญา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 193

๓. สุตนุสูตร

การบรรลุภาวะแห่งมหาอภิญญา

[๑๒๗๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธะอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำสุตนุ ใกล้กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุมากรูปเข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอนุรุทธะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงไปนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามว่า ท่านอนุรุทธะบรรลุภาวะแห่งมหาอภิญญา เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งธรรมเหล่าไหน.

[๑๒๗๑] ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย เราบรรลุภาวะแห่งมหาอภิญญา เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน เราย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ เราพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่... เราพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่... เราพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย เราบรรลุภาวะแห่งมหาอภิญญา เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล อนึ่ง เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ เราจึงได้รู้ธรรมอันเลว โดยความเป็นธรรมอันเลว รู้ธรรมปานกลาง โดยความเป็นธรรมปานกลาง รู้ธรรมอันประณีต โดยความเป็นธรรมอันประณีต.

จบสุตนุสูตรที่ ๓


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 194

อรรถกถาสุตนุสูตร

สุตนุสูตรที่ ๓.

คำว่า ความเป็นแห่งมหาอภิญญา คือ ความเป็นอภิญญา.

ในคำว่า ธรรมอันเลว เป็นต้น พึงทราบใจความตามบาลีนี้ว่า

ชื่อว่า ธรรมอันเลวเป็นไฉน ความเกิดขึ้นแห่งจิตที่เป็นอกุศล ๑๒ ดวง เหล่านี้เป็นธรรมอันเลว.

ธรรมปานกลาง เป็นไฉน กุศลใน ๓ ภูมิ วิบากในภูมิทั้ง ๓ และรูปทั้งหมดทั้งเป็นกิริยาอัพยากฤตในภูมิทั้ง ๓ เหล่านี้เป็นธรรมปานกลาง.

ธรรมอันประณีตเป็นไฉน มรรคทั้ง ๔ ที่เป็นสิ่งไม่เกี่ยวเนื่อง สามัญญผล ๔ และนิพพาน ๑ เหล่านี้ เป็นธรรมอันประณีต.

จบอรรถกถาสุตนุสูตรที่ ๓