วันนี้ได้ฟังเทปท่านอาจารย์สุจินต์ ตอนที่ 1489 มีช่วงหนึ่งอาจารย์บรรยายทำนองว่า สิ่งที่ปรากฏ หากเห็นด้วยสติแล้ว ก็จะเห็นทีละลักษณะ ไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคล ใดๆ น่าใจหาย ...
ผมนึกถึงเนื้อความส่วนหนึ่งในหนังสือ พุทธธรรม ของพระพรมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตโต ซึ่งมีตอนหนึ่งมีเนื้อความ ทำนองว่า เมื่อเริ่มพิจารณา อนัตตา และเริ่มเห็นอนัตตา จะมีความรู้สึกกระทบกระเทือนจิตใจ ทำนองนี้
ประสบการณ์ส่วนตัวของผม ผมว่าเป็นอย่างนั้น เพราะเมื่อเริ่มเห็นอนัตตา มันกระทบอัตตาที่มีอยู่ดั้งเดิม ทำให้รู้สึกโหวงเหวง น่ากลัว
ยิ่งบางขณะที่พิจารณาเห็นว่า อดีตชาติดับไปแล้ว ปัจจุบันก็กำลังเป็นอดีต ไม่มีตัวตนที่แท้ ยิ่งสะเทือนใจอย่างมาก ท่านใดเคยมีประสบการณ์ ทำนองนี้บ้างครับ
เรียนเชิญสหายธรรมร่วมสนทนา ครับ
ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยนะครับ
ผมเข้าใจว่า ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ท่านใช้คำว่า "น่าใจหาย" ท่านคงหมายถึงว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เราเคยยึดถือหนักหนา ว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเรา แท้จริงเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดดับตามเหตุปัจจัย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงไม่มีอะไรที่เป็นเราเป็นของเราจริงๆ
แต่ถ้าเราพูดถึงคำว่า ใจหาย ในความหมายความรู้สึกทั่วๆ ไป (เช่น ต้องย้ายบ้าน ย้ายที่ทำงาน ต้องจากคนที่รักไปไกลๆ ก็รู้สึกใจหาย) นั่นเป็นลักษณะของความรู้สึกไม่สบายใจซึ่งเกิดกับโทสมูลจิต ซึ่งเป็นอกุศลจิตเท่านั้น เช่นเดียวกับความรู้สึกหวาดกลัวโหวงเหวง ทั้งหมดเป็นลักษณะของความรู้สึกไม่สบายใจที่เกิดกับโทสมูลจิต ซึ่งเกิดจากการที่เราต้องจากสิ่งที่เรายึดถือติดข้อง
แต่ถ้าหากเป็นเรื่องของสติปัญญาแล้วเป็นเรื่องของกุศลจิต ในขณะที่มีสติมีปัญญา จะไม่มีความไม่สบายใจในขณะนั้นครับ แม้ในขั้นการฟังขั้นพิจารณาเข้าใจว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดความเบาใจ และถ้าปัญญาเจริญขึ้นๆ จนสติเริ่มระลึกตรงลักษณะสภาพธรรมทีละเล็กทีละน้อย จนปัญญาเจริญถึงระดับที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ก็ยิ่งจะมีความเบาใจมากขึ้นครับ
ทั้งหมดเป็นเรื่องของปัญญาความเข้าใจโดยตลอดครับ ขณะใดที่ไม่สบายใจ สะเทือนใจ ขณะนั้นเป็นอกุศลไม่ใช่ปัญญา แต่ขณะที่ปัญญาเกิดก็จะอาจหาญร่าเริงที่ได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงครับ ซึ่งทั้งหมดก็ต้องอาศัยการฟังธรรมศึกษาพระธรรมจากกัลยาณมิตร ที่มีปัญญาความเข้าใจธรรม สามารถอธิบายธรรมให้เราเข้าใจได้ มีท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เป็นต้น
และเมื่อได้ฟังหรืออ่านพระธรรม ไม่ว่าจะใครเป็นผู้กล่าว หรือจะกล่าวด้วยพยัญชนะอะไร ก็ต้องพิจารณาจนเป็นความเข้าใจของตนเอง และต้องตรงกับสภาพธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ไกลจากกิเลส
ความจริง ธรรมปรากฏอยู่ตลอดเป็นปกติมาช้านาน เป็นอนัตตามาช้านาน ณ ขณะนี้ก็ยังปรากฏ ที่น่าใจหายเพราะคิดว่ามีเรา และเมื่อเริ่มรู้ว่าไม่มีเรา ในที่สุดจึงโหวงเหวงน่ากลัว แต่ความจริง ณ ขณะก่อนนี้และขณะนี้ ก็ไม่มีและไม่เคยมี แต่ถูกลวงว่ามี เหมือนเช่นดวงดาว ยังเห็นว่ามีแต่ดาวดวงนั้นเปล่งแสงอยู่ มีอยู่ แต่ดาวดวงนั้นดับไปหลายปีแสงแล้ว ที่หลงว่าไม่ไช่อนัตตาเพราะจำ ที่ใจหายเพราะจำครับ
ที่ทุกข์เพราะอวิชชาคือการไม่รู้ และเห็นตามความจริงไม่ทัน เพราะจำ และจำว่าเป็นเรา ของเรา ญาติเราครับ ถ้าเข้าใจว่าอนัตตาก็คือสิ่งที่ต้องเจอทุกเมื่อเชื่อวัน ก็จะไม่ใจหายครับ
ขออนุโมทนาด้วยครับ
ขอร่วมสนทนานิดนึงครับ อาจจะตรงไปหน่อยนะครับ คือใจไม่ได้หายไปไหนหรอกครับ ใจอยู่ที่ขณะรู้สึกว่าใจหาย ใจคือสภาพรู้ มีอาการรู้เกิดขึ้นเป็นลักษณะครับ และมีความเป็นใหญ่เป็นประธานในการรับรู้อารมณ์ด้วยครับ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
เป็นความจริงครับ ขณะที่มีความรู้สึกข้างต้น เป็นโทสมูลจิตหรือโมหมูลจิตแน่นอน ไม่ใช่กุศลจิตแน่นอนอยู่แล้ว ในขณะ (ขณะ) ที่ธรรมารมณ์นั้นปรากฏ ก็ต้องไม่มีสติและปัญญาเจตสิกเกิดขึ้นร่วมด้วยแน่ แต่จิตเกิดดับเร็วมาก และกุศลก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ อกุศลก็เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลได้ เพียงแต่มันเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีจริงเกิดขึ้นจริง
ขออนุโมทนากับทุกคำตอบครับ
ป.ล.ต้องขออภัยด้วยครับ คำถามของผมคงไม่ชัดเจน
คือเดิม ผมเห็นด้วยกับคุณ daris ครับในความมุ่งหมายท่านอาจารย์ที่ว่า "ผมเข้าใจว่า ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ท่านใช้คำว่า "น่าใจหาย" ท่านคงหมายถึงว่า สภาพธรรมทั้งหลาย ที่เราเคยยึดถือหนักหนา ว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเรา แท้จริงเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดดับตามเหตุปัจจัย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงไม่มีอะไรที่เป็นเราเป็นของเราจริงๆ "
แต่น่าใจหายของส่วนตัวของผม คือ ตามที่ คุณ daris ว่า
"แต่ถ้าเราพูดถึงคำว่า ใจหาย ในความหมายความรู้สึกทั่วๆ ไป (เช่น ต้องย้ายบ้าน ย้ายที่ทำงาน ต้องจากคนที่รักไปไกลๆ ก็รู้สึกใจหาย) นั่นเป็นลักษณะของความรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งเกิดกับโทสมูลจิต ซึ่งเป็นอกุศลจิตเท่านั้น เช่นเดียวกับความรู้สึกหวาดกลัว โหวงเหวง ทั้งหมดเป็นลักษณะของความรู้สึกไม่สบายใจที่เกิดกับโทสมูลจิต ซึ่งเกิดจากการที่เราต้องจากสิ่งที่เรายึดถือติดข้อง"
แต่ที่ว่า เจตนาของท่านอาจารย์จะมุ่งหมายความหมายนัยไหน เพื่อประกอบบริบทการบรรยาย คือนัยของความหมายทั่วไป หรือนัยที่มีสติเกิดร่วมด้วย ผมก็ไม่แน่ใจ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นได้ทั้งสองนัย ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นมีสติปัฏฐานเกิดขึ้นในขณะนั้นๆ หรือไม่ แล้วแต่แต่ละบุคคล
บุคคลเห็นสิ่งใด สิ่งนั้นก็ไม่ได้เห็น
สิ่งใดเห็นแล้วก็ไม่เห็นสิ่งนั้น
เมื่อไม่เห็นก็หลงติด
เมื่อติดก็ไม่หลุดพ้น ดังนี้.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค
ขออนุโมทนา