ตอนหนึ่งในพุทธประวัติ พระโพธิสัตว์ลอยถาดแล้วจมไปยังนาคพิภพ
อยากทราบว่าทำไมมันขัดแย้งกับเหตุการณ์ปัจจุบันครับ
ขอรบกวนท่านผู้รู้ช่วยให้อรรถาธิบายด้วยครับ
พอดีผมต้องไปสอนเด็กครับ
ขอบพระคุณมากครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จากที่ผู้ถามได้กล่าว คือ ปัจจุบัน แม่น้ำเนรัญชรา ที่เป็น แม่น้ำที่พระโพธิสัตว์ลอยถาดของนางสุชาดา ปัจจุบันนี้ ในเดือน ๖ น้ำกลับแห้ง แต่ เมื่อ สมัยที่พระโพธิสัตว์ลอยถาด ซึ่งถอยไป สองพันห้าร้อยกว่าปี กลับมีน้ำให้ลอยถาด ให้จมลงไป และ ทวนกระแสน้ำ และ จมลงที่ นาคพิภพ ของ กาฬนาคราช ปัญหาคือ ทำไมจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในปริมาณ ระดับน้ำ ที่จุดเดิม และปัจจุบัน แม่น้ำเนรัญชรา ก็แห้ง ราวกับทะเลทราย
- ก่อนอื่นควรเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม คือ ที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นดับไป ไม่เที่ยงเลย นั่นคือ จิต เจตสิกและรูป ซึ่ง สิ่งต่างๆ ที่บัญญัติว่าเป็นแม่น้ำ ก็เพราะ อาศัยการประชุมรวมกันของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม แม้ รูปธรรม ก็ไม่เที่ยงเกิดขึ้นและดับไป ปรากฏความไม่แน่นอน และ ธาตุน้ำภายนอก ที่สมมติว่าเป็นแม่น้ำ ก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน แม้ตัวมันเอง ที่เกิดขึ้นดับไป และ จำนวน ปริมาณน้ำก็ไม่แน่นอนด้วย ตามความไม่เที่ยงของสภาพธรรม ซึ่งจะขออธิบาย ตามนัยทางโลก และ เข้าสู่ความจริงของสภาพธรรม ในเรื่อง แม่น้ำเนรัญชราที่เหือดแห้งไปในปัจจุบัน ครับ
ตามธรรมดาของโลก เมื่อเวลาผ่านไป สองพันห้าร้อยกว่าปี ฤดูกาล ก็เปลี่ยนไป ตามสภาพอากาศ และ ตามฝีมือของมนุษย์ที่ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น ในสมัยพุทธกาล ฝน ฤดูกาล ต่างๆ ย่อมตกต้องตามฤดูกาล เพราะ ยุคสมัยนั้น เป็นยุคที่เจริญ หน้าฝนก็สามารถมีได้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ของอินเดีย ที่เรียกทางจันทรคติว่าเป็นเดือน ๖ ที่เป็นเดือนที่พระพุทธเจ้าทรงลอยถาด และ ตรัสรู้ในเดือนนั้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ก็เป็นอย่างนั้น คือ ฝนมาเดือน ๖ คือ เดือนพฤษภาคม
แต่ปัจจุบัน หน้าฝนก็เลื่อนออกไป ฝนเริ่มตกในตอนกลางของ ค่อนไปทางเหนือของประเทศที่เป็นรัฐพิหารในปัจจุบัน อันเป็นที่ตั้ง ของ เมือง GAYA หรือ พุทธคยา ประมาณ เดือน มิถุนายน ซึ่งตกมากจริงๆ เป็นหน้าฝน ก็คือ เดือนกรกฎาคม
โดยมาก เราจะไม่ไปสังเวชนียสถานในช่วงเวลานั้น เพราะ เป็นหน้าฝน แต่ที่เราเห็นและไปพุทธคยากัน จะไปเดือนตุลาคม จนถึง เดือน มีนาคม คือ ตุลาคม เป็นช่วงต้นหนาว และ หน้าหนาว เป็นเดือน พฤศจิกายน ถึง กุมภาพันธ์ และ มีนาคม ก็เริ่มอุ่นขึ้น กำลังดี ช่วงเวลา ตุลาคม ถึง มีนาคม น้ำจึงแห้ง เพราะ ไม่ใช่หน้าฝน แม้เดือนพฤษภาคม ในปัจจุบัน เป็นหน้าร้อนของอินเดีย เพราะ สภาพอากาศที่เปลี่ยนไปของอินเดีย ที่ผ่านไป สองพันห้าร้อยกว่าปี ทั้งที่เป็นเดือน ๖ ทางจันทรคติ น้ำก็แห้ง เพราะไม่ใช่หน้าฝน เหมือนสมัยพุทธกาล
ดังนั้น เมื่อเราไม่ได้ไปเดือนกรกฎาคม เราก็ไม่ได้เห็นว่า แม่น้ำเนรัญชรามีน้ำไหม เพราะ โดยทั่วไปที่เราไปก็จะไปช่วงเวลาที่ไม่ใช่หน้าฝน น้ำจึงแห้ง แต่ หาก ผู้ร่วมสนทนา ได้เห็นภาพ แม่น้ำเนรัญชรา ตอนหน้าฝนประมาณเดือนกรกฎาคม จะเห็นครับว่า น้ำมาก เต็มอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะเป็นช่วงหน้าฝน และ ฝนตกมาก ในช่วงเวลานั้น ครับ
สามารถค้นหา เข้า google และพิมพ์คำว่า Incredible India แม่น้ำเนรัญชราหน้าฝน จะเห็นวีดีโอ ยูทูป แสดงถึงปริมาณน้ำ เนรัญชราช่วงหน้าฝน โดยเฉพาะ คลิปวีดีโอตอนท้ายๆ จะเห็นว่ามีน้ำมาก ครับ
ซึ่ง เวลาผ่านไป สองพันห้าร้อยกว่าปี ฤดูกาลเปลี่ยนไป หน้าฝนมาช้า ทำให้ช่วงเดือนพฤษภาคม ที่เป็นเดือน ๖ ทางจันทรคติ ยังไม่เข้าหน้าฝน น้ำจึงแห้ง ครับ
แต่ ตามที่กล่าวแล้ว แม่น้ำเนรัญชรา ไม่ได้แห้งตลอดวลา ครับ เพราะ ช่วงหน้าฝนมีน้ำมาก และ เราไม่ได้ไปสังเวชนียสถานในช่วงหน้าฝนของอินเดีย
เหตุผลอีกประการหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไป สองพันห้าร้อยกว่าปี ดินตะกอนต่างๆ ก็ทับถม ทำให้ พื้นดินสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้ น้ำแทนที่จะไหลมา มีน้ำ ก็ไหลได้น้อย เพราะ ดินชั้นตะกอนสูงขึ้น หากใครเคยไปเจดีย์พุทธคยา จะเห็นว่า พื้นที่ตอนลงไปที่เจดีย์ จะต้องลงไป ที่บันได ต่ำลงไปหลายขั้น อยู่ต่ำมาก แสดงว่า เมื่อ สมัยในอดีต พื้นที่นี้เคยอยู่ต่ำ แต่เพราะ ดินตะกอนมีการทับถม สะสมมานานเป็นพันปี นักโบราณคดี จึงต้องขุดลึกลงไป ต่ำมากๆ ซึ่ง แม่น้ำเนรัญชรา ก็อยู่ใกล้บริเวณนั้น แม่น้ำก็เคยอยู่ต่ำ แต่ปัจจุบัน ก็ถูกดินตะกอน ที่พัดมาจากสายน้ำ ทำให้ตื้นเขินมากกว่าแต่ก่อน เมื่อเทียบกับสมัยพุทธกาล น้ำที่ควรจะไหลลงสู่ต่ำ ก็ไหลได้น้อยลง เพราะ พื้นดินสูงขึ้นจากแต่ก่อนมาก ครับ
จากที่กล่าวมาทั้งหมด แสดงถึง ความไม่แน่นอน และ ไม่เที่ยงขอสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม แม้แต่ อาโปธาตุภายนอก ที่บัญญัติว่าน้ำ ก็มีความไม่เที่ยง เป็นธรรมดา ซึ่งใน มหาหัตถิปโทปมสูตร ก็ได้แสดงครับว่า อาโปธาตุภายนอก มี มหาสมุทร เป็นต้น
บางสมัย ช่วงเวลา ก็มีน้ำมาก ลึก เป็นร้อยๆ โยชน์ บางสมัย น้ำก็น้อย เพียงเท่ากับคน และบางช่วงเวลา น้ำมหาสมุทรเพียงข้อเท้า และบางคราว บางเวลา น้ำในมหาสมุทร ที่มีมากๆ บางเวลาก็เหลือแค่ข้อนิ้วมือเท่านั้น
นี่คือ พระดำรัสที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ความจริงของอาโปธาตุภายนอก คือ น้ำในมหาสมุทร ที่เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่ามีมากแค่ไหนในปัจจุบัน บางคราวก็เหลือเพียงข้อนิ้วมือเท่านั้น แสดงถึงความไม่เที่ยงของสภาพธรรม ไม่ต้องกล่าวถึง แม่น้ำเนรัญชรา ที่จะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย แม้เดือนเดียวกัน แต่คนละช่วงเวลา ปริมาณน้ำก็ต่างกันเป็นธรรมดา ได้ ครับ ตามเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น
ซึ่งประโยชน์ของการพิจารณา อาโปธาตุภายนอก คือ น้ำ มีน้ำในมหาสมุทร แม่น้ำเนรัญชรา เป็นต้น คือ แม้น้ำที่เป็นรูปภายนอก ก็ยังปรากฏความไม่เที่ยง ไม่แน่นอน จะกล่าวไปไย ถึงกายนี้ ที่เป็นที่ประชุมของธาตุต่างๆ มีธาตุน้ำด้วย ก็ไม่เที่ยง ไม่แน่นอน ไม่ยั่งยืนเลย ควรหรือที่จะติดข้องด้วยตัณหา มานะ และความเห็นผิดว่า เป็นกายของเรา เพราะ สิ่งใดไม่เที่ยง ย่อมเป็นทกุข์ และไม่ใช่เรา ครับ
ประโยชน์คือ การพิจารณา ตัวเอง คือ สภาพธรรมตามความเป็นจริงน้อมเข้ามาในตน แม้ในขั้นการฟัง ขั้นพิจารณา ก็เป็นประโยชน์ เพราะ คิดถูก และเป็นไปเพื่อความเห็นถูก ที่จะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมที่เป็นธาตุแต่ละอย่างในขณะนี้ว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
เชิญคลิกอ่านที่นี่ มีประโยชน์มาก ครับ
แม้น้ำก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา [มหาหัตถิปโทปมสูตร ]
คือว่าจะรบกวนถามถึง นาคพิภพ ครับ กลายเป็นทะเลทราย
แล้วตอนนี้มี นาคพิภพ และถาด ทองอีก ๓ ใบหรือเปล่าครับ
ขออนุโมทนา
เรียนความเห็นที่ 4 ครับ
นาคพิภพ อยู่ใต้บาดาล คือ ใต้พื้นดินของแม่น้ำลงไปอีก ครับ
เพราะฉะนั้น ก็ยังมีถาด ๓ ใบ ยังมีนาคพิภพอยู่ ครับ เพราะ นาคพิภพ ตรงนี้ที่เป็นที่อยู่ของ กาฬนาคราช และ มีถาดที่พระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ลอย และยังอยู่ในภพนาคราช และ นี่ก็เป็นถาดใบที่ ๔ ก็ยังอยู่ คือ ลอยลงไป ซ้อนอยู่ข้างล่างสุดของถาดทั้ง ๓ ใบ และ เมื่อพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๕ จะอุบัติขึ้น ก็ต้องลอยถาดทอง และก็ไปซ้อน อยู่ข้างล่างทั้ง ๔ ใบ ครับ เพราะฉะนั้น ถาดทองทั้ง ๓ ใบยังอยู่ ในที่ที่อันควร มีใต้บาดาลพิภพ เพราะ ด้วยอานุภาพของอธิษฐานของพระโพธิสัตว์ ในขณะที่ลอยถาด ย่อมสามารถผ่านไปใต้บาดาลของภพนาคราชได้ ถาดทั้ง ๓ ใบก็ยังอยู่ในภพนาคราช ที่อยู่ใต้ดินอยู่ ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของอาจารย์ผเดิมครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ความเป็นไปของสรรพสิ่ง ไม่เที่ยงแท้จริงๆ .
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การศึกษาธรรม เป็นการศึกษาเพื่อให้เข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งต้องเข้าใจถูกว่า นามธรรมเป็นนามธรรม รูปธรรมเป็นรูปธรรม โดยไม่ปะปนกัน เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ก็ตาม ที่เกิดแล้วดับไป จะเที่ยง จะยั่งยืน ไม่ได้ เกิดแล้วก็ดับไป ดังพระพุทธพจน์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "สังขาร แม้อย่างหนึ่ง ที่เที่ยง ย่อมไม่มี" ความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ซึ่งจะขาดการฟัง การศึกษาการพิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผลของธรรมไม่ได้เลย
เมื่อกล่วถึงแม่น้ำแล้ว ควรที่จะได้ข้อคิดจากตรงนี้เพิ่มเติมด้วยว่า แม่น้ำสายต่างๆ บางครั้ง บางเวลา ยังปรากฏความแห้ง ความลดระดับให้เห็นได้บ้าง แต่ตัณหา ซึ่งเป็นความอยาก ความติดข้องต้องการ ไม่มีวันเต็ม ปรากฏแต่ความพร่องอยู่ตลอดเวลา มีแต่จะติดข้องยิ่งๆ ขึ้นไป ผู้ที่จะดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือ พระอนาคามีบุคคล ส่วนผู้ดับความยินดีพอใจในภพได้คือ พระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้หมดโลภะ หมดตัณหาอย่างแท้จริง หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส จนกว่าจะสามารถดับได้จนหมดสิ้น ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
นาคพิภพ เป็นภูมิที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ยังมีอยู่ใต้ดิน
ประโยชน์ไม่ได้อยู่ที่รู้
แต่อยู่ที่การศึกษาธรรมะให้เข้าใจ และ ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน ค่ะ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
"ทุกขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย"
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ
ขออนุโมทนา
พระมหาเจดีย์พุทธคยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๓
(สังเกตนะคะว่าตั้งอยู่บนเนินดิน ซึ่งสูงกว่าปัจจุบันมาก)