[คำที่ ๕๑๖] สงฺกิลิฏฺฐจิตฺต
โดย Sudhipong.U  9 ก.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 34583

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สงฺกิลิฏฺฐจิตฺต

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

สงฺกิลิฏฺฐจิตฺต อ่านตามภาษาบาลีว่า สัง - กิ - ลิด - ถะ - จิด - ตะ มาจากคำว่า สงฺกิลิฏฺฐ (เศร้าหมอง) กับคำว่า จิตฺต (จิต, สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) รวมกันเป็น สงฺกิลิฏฺฐจิตฺต แปลว่า จิตที่เศร้าหมอง แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ คือ ขณะที่จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล ประกอบด้วยเครื่องเศร้าหมอง คือ กิเลส มีโลภะ เป็นต้น จิตจึงเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส อกุศลจิต ไม่ใช่มีเฉพาะในชาตินี้ เท่านั้น แต่เคยเกิดมาแล้วนับประมาณไม่ได้ นับชาติไม่ถ้วน ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค คัททูลสูตร ดังนี้

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย ควรพิจารณาว่า จิตนี้เศร้าหมอง เพราะราคะ โทสะ โมหะ มานานแล้ว”


ธรรม หมายถึง สิ่งที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะของตนๆ ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น สำหรับธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ไม่พ้นไปจากจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย) แต่ละบุคคลที่เกิดมามีชีวิตดำเนินไปในแต่ละวันนั้น ก็เป็นธรรมทุกขณะ เพราะมีธรรมเหล่านี้ คือ มีจิต มีเจตสิก และ มีรูป จึงหมายรู้ได้ว่า เป็นคนนั้น คนนี้ เป็นสัตว์บุคคลต่างๆ ในสังสารวัฏฏ์อันยาวนาน แต่ละบุคคลก็เกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเป็นไปของสภาพธรรม คือ จิต เจตสิกและรูป เพราะผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังมีตัณหา ยังมีอวิชชาซึ่งยังดับไม่ได้ ก็ยังต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป ประการที่สำคัญ คือ ไม่ว่าจะเกิดเป็นใคร มีอายุยืนนานเพียงใด ก็ดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น จิตไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันหลายขณะได้ หรือไม่ใช่ว่าจะมีจิตดวงเดียวเกิดขึ้นเป็นสิ่งยั่งยืนตลอดไป เพราะตามความเป็นจริงแล้ว มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่ขาดสาย เป็นลำดับด้วยดีไม่สับลำดับกัน ซึ่งก็เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ ทุกขณะของชีวิต ก็คือการเกิดดับสืบต่อกันของจิตนั่นเอง ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่ธรรมเท่านั้น

ชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังเป็นปุถุชน หนาแน่นไปด้วยกิเลส ย่อมจะมีอกุศลธรรมเกิดขึ้นมากทีเดียว กุศลเกิดน้อยมากถ้าเทียบกับอกุศล ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในวันนี้ ในชาตินี้เท่านั้น แต่ว่าได้เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ เพราะได้สะสมกิเลสมาอย่างมากมายนับชาติไม่ถ้วน จึงเป็นผู้ที่ถูกกิเลสครอบงำ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ กิเลสทั้งหลาย มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เป็นสภาพธรรมที่มีโทษ ไม่มีประโยชน์ใดๆ เลยทั้งสิ้น เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต กิเลสทุกประเภท เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เมื่อเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ก็ทำให้จิตเศร้าหมอง และไม่สามารถทำให้กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้นได้เลย และถ้ามีกำลังถึงกับล่วงเป็นทุจริตกรรมประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นต้น ก็สามารถนำไปเกิดในอบายภูมิได้ ทำให้ได้รับแต่ความทุกข์ความเดือดร้อนมากมาย เพราะสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดีนั้น ให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น จะนำมาซึ่งสิ่งที่ดีไม่ได้เลย

เมื่อโลภะเกิดขึ้น ก็ติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ปล่อย ไม่สละ ไม่ยอมให้จิตเป็นกุศล และไม่ปล่อยให้ออกไปจากสังสารวัฏฏ์ โลภะเป็นเหตุให้วนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ไม่สิ้นสุด ขณะที่โทสะเกิดขึ้น คุณความดีเกิดไม่ได้ จิตของผู้ถูกโทสะครอบงำย่อมไม่น้อมไปสู่กุศลธรรมเลย มีแต่ความขุ่นข้องหมองใจ ไม่พอใจ เมื่อสะสมมีกำลังมากขึ้นก็ถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรมประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนได้ โมหะก็เป็นหนึ่งในกิเลสทั้งหลายซึ่งเกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกประเภท ไม่มีเว้นเลย ขณะที่มีโมหะขณะขึ้นนั้นมืดมิด ไม่สามารถรู้สภาพธรรมที่มีจริงตามความเป็นจริงได้ ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ไม่รู้ว่าอะไรเป็นคุณเป็นโทษ และตราบใดที่ยังมีโมหะอยู่ก็ยังท่องเที่ยววนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ต่อไป นี้เพียง ๓ ประเภทใหญ่ๆ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เป็นมูลรากของอกุศล ที่ทำให้อกุศลเกิดพอกพูนหนาแน่นมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว กิเลสทั้งหมดทุกประเภท เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ทำให้จิตไม่สะอาด และยังขัดขวาง ตัดรอนโอกาสแห่งกุศลธรรมอีกด้วย เมื่อกิเลสเกิดประกอบพร้อมกับจิต ก็ทำให้จิตขณะนั้น เป็นจิตที่เศร้าหมองเพราะกิเลส

ก่อนการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีผู้ที่ให้ทาน รักษาศีล งดเว้นจากทุจริตต่างๆ และเจริญสมถภาวนา (การอบรมเจริญความสงบของจิต) จนได้ความสงบของจิตขั้นสูงสุดก็มี สามารถระงับหรือข่มกิเลสได้ด้วยกำลังของความสงบของจิต แต่ไม่มีใครสามารถดับกิเลสได้ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมีตลอดระยะเวลา ๔ อสงไขย แสนกัปป์ เมื่อครั้งที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก จนเต็มเปี่ยมแล้ว จึงทรงตรัสรู้สภาพธรรมตาม

ความเป็นจริง ถึงความเป็นพระสัมมา-สัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้วก็ได้ทรงแสดงหนทางคือการอบรมเจริญปัญญาเพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นแก่พุทธบริษัท จึงมีพระอริยสงฆ์สาวก ผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น เป็นจำนวนมาก ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ถ้าหากพุทธบริษัทยังไม่สามารถรู้แจ้งธรรมในชาตินั้นได้ก็สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีที่จะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมยิ่งขึ้นต่อไป

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ละเอียด ลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง เพราะทรงแสดงถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ทรงตรัสรู้ โดยทรงประจักษ์แจ้งตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ถ้าผู้ใดไม่ศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ให้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ย่อมไม่สามารถมีปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมและดับกิเลสได้ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา จึงเป็นคำสอนที่ประเสริฐยิ่ง ที่เป็นไปเพื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด เพื่อให้พุทธบริษัทเห็นโทษเห็นภัยของกิเลส เพื่อรู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่ายังเป็นผู้มากไปด้วยกิเลส ซึ่งจะทำให้เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะได้ขัดเกลา ละคลาย สลัดสิ่งที่เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตให้ตกไป ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย โดยมั่นใจในหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา ว่าเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สัตว์โลกพ้นจากเครื่องเศร้าหมองของจิตได้ในที่สุด ไม่มีหนทางอื่น


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย pulit  วันที่ 10 ก.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 10 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ