ในการดำรงชีวิตประจำวัน อย่างไรที่เรียกว่าเป็นการเจริญเนกขัมมะ
คำว่า เนกขัมมะ หมายถึง การออกจากกาม ๒ อย่าง ได้แก่ กิเลสกาม และวัตถุกาม การออกจากกามมี ๒ อย่าง คือ ด้วยการบรรพชา ๑ ด้วยข้อปฏิบัติ ๑ การออกบวชของผู้ที่เห็นคุณของเนกขัมมะ การเว้นกิจของคฤหัสถ์ ถือเพศบรรพชิต เป็นผู้ไม่ครองเรือน ไม่แสวงหาทรัพย์ ไม่รับเงินและทอง เป็นต้น ชื่อว่า ออกจากวัตถุกาม ด้วยการบรรพชา ข้อปฏิบัติคือ อุโบสถศีล สมถภาวนาวิปัสสนาภาวนา สติปัฏฐาน เป็นต้น ชื่อว่า ออกจากกิเลสกาม ด้วยข้อปฏิบัติบางนัย หมายรวมถึงกุศลธรรมทุกประเภทเป็นการออกจากกาม (เนกขัมมะ) ฉะนั้นเนกขัมมะ โดยนัยที่ ๒ ในชีวิตประจำวันของคฤหัสถ์ ขณะใด ที่เป็นไปกับกุศลทั้งหลายคือ การให้ทาน การรักษาศีล การฟังธรรม การสนทนาธรรม การเจริญสมถะ การเจริญสติปัฏฐาน เป็นต้น ชื่อว่าเนกขัมมะ อีกอย่างหนึ่ง การค่อยๆ ออกจากการสะสมวัตถุกาม ด้วยการรู้จักพอ ในสิ่งที่ตนมีอยู่ ไม่แสวงหา หรือสะสมมากจนเกินไป รู้จักยินดีในของที่ตนมีอยู่ ด้วยสันโดษ ขณะนั้น ก็เริ่มค่อยๆ ที่จะออกเริ่มสะสมเนกขัมมะ ให้ค่อยๆ มีกำลังขึ้น
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...
เนกขัมมะ ชื่อว่าทวนกระแสตัณหา
การเจริญเนกขัมมะของคฤหัสถ์ในชีวิตประจำวัน คือ การรู้จักพอ ไม่แสวงหาของใช้เพิ่มเพื่อขัดเกลา และเสียสละกิเลส ที่เคยติดข้องในกามคุณ ๕ ลดลงบ้าง เช่น เรามีเสื้อผ้าพอใช้อยู่แล้ว เราก็ไม่ไปแสวงหาซื้อเสื้อผ้าใหม่มาเพิ่มอีก ฯลฯ
เนกขัมมบารมี คือ การสละความสุข การติด การตรึกหรือกามวิตก พยาปาทวิตกวิหิงสาวิตก ซึ่งสละได้โดยเพศคือเป็นบรรพชิต หรือโดยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ละกามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก ในขณะใด ขณะนั้นก็เป็นเนกขัมมบารมี การไม่ตรึกเป็นไปในกาม ในความพยาบาท หรือในการเบียดเบียนบุคคลอื่น
ขออนุโมทนา
กุศลวิตกทั้งหมด คือ เนกขัมมบารมี
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
เนกขัมมะ หมายถึงกุศลทุกประการได้ แต่ถ้าเป็นเนกขัมมบารมีแล้ว ต้องเป็นธรรมที่ทำให้ถึงฝั่งคือ ดับกิเลส กุศลทั่วไปเช่น การให้ทาน ก็มีแม้ของบุคคลนอกศาสนานี้แต่ไม่ได้เห็นโทษของกิเลส และวัฏฏะ แต่ก็ให้ ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นเนกขัมมะ (กุศลทุกประการเป็นเนกขัมมะ) แต่เป็นเนกขัมมบารมีหรือเปล่า ดังนั้น เนกขัมมบารมี ต้องประกอบด้วย ปัญญาที่เห็นโทษของกิเลส และการเกิดหรือการอยู่ในวัฏฏะ เพราะฉะนั้น กุศลทุกประการ เป็นเนกขัมมะ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็น เนกขัมมบารมีครับ ดังข้อความ ในพระไตรปิฎกเรื่อง เนกขัมมบารมี
[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ 577
จิตเกิดขึ้นเพื่อจะออกจากกามภพมีการเห็นโทษเป็นอันดับแรก กำหนดด้วยความ เป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งกรุณา เป็นเนกขัมมบารมี.
[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ 578
เนกขัมมบารมี มีการออกจากกามและจากความมีโชคเป็นลักษณะ. มีการประกาศโทษของกามนั้นเป็นรส. มีความหันหลังจากโทษนั้นเป็นปัจจุปัฏฐาน. มีความสังเวชเป็นปทัฏฐาน
[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ 636
อนึ่ง เพราะการเกิดขึ้นแห่งกุศลจิตเป็นไปแล้ว ด้วยการออกจากกามและภพทั้งหลาย มีการเห็นโทษเป็นเบื้องต้น กำหนดด้วยความเป็นผู้ฉลาดในอุบายคือกรุณา ชื่อว่า เนกขัมมบารมี
ขออนุโมทนา
ขอบคุณทุกๆ ท่านค่ะ ตอนนี้ตัวเองพยายามให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม เป็นประจำ คิดว่าค่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ สติ ปัญญาคงจะเจริญขึ้นบ้างค่ะ
ขออนุโมทนากับทุกท่านค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ
ขอเชิญอ่านเพิ่มเติม ...
เตมิยชาดก ว่าด้วยพระเตมีย์ทรงบําเพ็ญเนกขัมมบารมี
ยินดีในกุศลจิตค่ะ