ตรงต่อความจริง นั่นแหละว่าง่าย
โดย เมตตา  8 ก.ย. 2567
หัวข้อหมายเลข 48435

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ 204

พรรณนาคาถาว่า ขนตี

บัดนี้ จะพรรณนาในคาถาว่า ขนฺตี นี้

ความอดทนชื่อว่า ขันติ ชื่อว่า สุวจะ เพราะมีความว่าง่าย เพราะเป็นผู้ถือเอาโดยเบื้องขวา กรรมของผู้ว่าง่าย ชื่อว่า โสวจัสสะ ความเป็นแห่งกรรมของผู้ว่าง่าย ชื่อว่า โสว จัสสตา ชื่อว่า สมณะ เพราะระงับกิเลสทั้งหลายได้

บทว่า ทสฺสนํ ได้แก่ การเพ่งดู. การสนทนาธรรม ชื่อว่า ธรรมสากัจฉา คำที่เหลือมีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้นแล นี้เป็นการพรรณนา

ส่วนการพรรณนาความ พึงทราบดังนี้ อธิวาสนขันติ ชื่อว่า ขันติ ที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยขันตินั้น แล้วย่อมไม่มีอาการผิดปกติเป็นผู้เหมือนไม่ได้ยินบุคคลที่ด่าด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ และเหมือนไม่เห็นบุคคลผู้เบียดเบียนด้วยการฆ่าและการจองจำเป็นต้น เหมือนขันติวาทีดาบสฉะนั้น. เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

อหุ อตีตมทฺธานํ สมโณ ขนฺติทีปโน ตํ ขนฺติยาเยว ิตํ กาสิราชา อเฉทยิ

สมณะผู้แสดงขันติ ได้มีมาแล้วในอดีตกาล พระเจ้ากาสีได้ทรงทำลายสมณะผู้ตั้งอยู่ในขันตินั่นแล

หรือย่อมใส่ใจว่าเขาทำดีแล้ว เพราะไม่มีความผิดยิ่งไปกว่านั้น เหมือน ท่านปุณณเถระ ฉะนั้น อย่างที่ท่านกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าผู้คนชาวสุนาปรันตกะ จักด่าจักบริภาษข้าพระองค์ไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์ จักใส่ใจว่า . ผู้คนชาวสุนาปรันตกะเหล่านี้ เป็นผู้ เจริญหนอ ผู้คนชาวสุนาปรันตกะเหล่านี้ เป็นผู้เจริญ ดีหนอ ผู้คนเหล่านี้ไม่ตีข้าพระองค์ด้วยมือดังนี้ เป็นต้น

และที่ภิกษุประกอบด้วยขันตินั้นแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่แม้แต่ฤษีทั้งหลายก็พึงสรรเสริญ. อย่าง ท่านสรภังคฤษี กล่าวไว้ว่า โกธํ วธิตฺวา กทาจิ โสจติ มกฺขปฺปทานํ อิสฺโข วณฺณยนฺติ สพฺเพสํ วุตฺตํ ผรุสํ ขเมถ เอตํ ขนฺตึ อุตฺตมมาหุ สนฺโต

คนฆ่าความโกรธได้แล้วย่อมไม่เศร้าโศกในกาล ไหน ฤษีทั้งหลายย่อมสรรเสริญการละความลบหลู่ คนควรอดทนคำหยาบที่คนทั้งปวงกล่าวแล้ว สัตบุรุษ ทั้งหลายสรรเสริญขันตินั้นว่าสูงสุด ย่อมเป็นผู้ที่แม้แต่เทวดาทั้งหลายก็พึงสรรเสริญ อย่างที่ท้าวสักกะจอมทวยเทพตรัสไว้ว่า

โย หเว พลวา สนฺโต ทุพฺพลสฺส ติติกฺขติ ตนาหุ ปรมํ ขนฺตึ นิจฺจํ ขมติ ทุพฺพโล

ผู้ใดเป็นคนแข็งแรง อดทนต่อคนอ่อนแอ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญขันตินั้นของผู้นั้นว่าเป็น เยี่ยมคนอ่อนแอย่อมต้องอดทนอยู่เป็นประจำ ย่อมเป็นผู้ที่แม้แต่พระพุทธะทั้งหลายก็พึงสรรเสริญ. อย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า อกฺโกสํ วธพนฺธญฺจ อทุฏฺโฐ โย ติติกฺขติ ขนฺตีพลํ พลาณีกํ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ ผู้ใดไม่โกรธอดกลั้นการด่าการฆ่าและการจองจำได้เราเรียกผู้นั้นซึ่งมีขันติเป็นกำลังมีกองกำลังว่า พราหมณ์ ก็ขันตินั่นนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบคุณเหล่านั้น และคุณอื่นๆ ที่ทรงสรรเสริญในที่นี้. เมื่อถูกเพื่อนสพรหมจารีว่ากล่าวโดยธรรม ก็ไม่ถึงความฟุ้งซ่าน ความนิ่งงันหรือคิดถึงคุณและโทษ วางความเอื้อเฟื้อ ความเคารพ และความมีใจตกลงต่ำเป็นเบื้องหน้าอย่างยิ่งแล้ว เปล่งถ้อยคำว่า ดีละขอรับ ดังนี้ ชื่อว่า โสวจัสสตา ความว่าง่าย . โสวจัสสสตานั้น ตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุได้โอวาทและอนุศาสนี จากสำนักเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย และเพราะเป็นเหตุละโทษและบรรลุคุณ

การเข้าไปหาการบำรุงการระลึก การฟังและการเห็นนักบวชทั้งหลายผู้ระงับกิเลสแล้ว อบรมกายวาจาจิตและปัญญาแล้ว ประกอบด้วยความสงบอย่างสูง ชื่อว่า การเห็นสมณะทั้งหลาย การเห็นสมณะแม้ทั้งหมด ท่านกล่าวว่าทัสสนะ โดยเทศนาอย่างต่ำ การเห็นสมณะนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเหตุไร เพราะมีอุปการะมาก จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเรากล่าวว่าการเห็นภิกษุเหล่านั้น มีอุปการะมาก เพราะบุญอันใด กุลบุตรผู้ต้องการประโยชน์ เห็นภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลมาถึงประตูเรือน ผิว่าไทยธรรมมีอยู่ ก็พึงนับถือด้วยไทยธรรมตามกำลัง ผิว่าไม่มี ก็พึงไหว้อย่างเบญจางคประดิษฐ์ เมื่อการไหว้อย่างเบญจางคประดิษฐ์ยังไม่พร้อม ก็พึงประคองอัญชลีนมัสการ เมื่อการนอบน้อม ยังไม่พร้อม ก็มีจิตผ่องใส แลดูด้วยจักษุที่น่ารัก ด้วยบุญที่มีการแลดูเป็นมูลอย่างนี้ โรคหรือโทษ ฝ้าหรือต่อมจะไม่มีในจักษุ ตลอดหลายพันชาติ จักษุทั้งสองก็จะผ่องใส มีสิริ มีวรรณะ ๕ เสมือนบานประตูแก้วมณีที่เปิดในรัตนวิมาน เขาจะได้สมบัติในเทวดาและมนุษย์ ประมาณแสนกัป ข้อที่เขาเกิดเป็นมนุษย์เป็นคนมีปัญญาพึงเสวยวิปากสมบัติเห็นปานนี้ ก็ด้วยบุญที่สำเร็จมาแต่การเห็นสมณะ ซึ่งเขาประพฤติมาโดยชอบ ไม่น่าอัศจรรย์เลย แม้สำหรับสัตว์เดียรัจฉาน บัณฑิตทั้งหลาย ก็พรรณนาวิบากสมบัติของการเห็นสมณะ ที่เพียงทำศรัทธาให้เกิดแล้วอย่างเดียวไว้อย่างนี้ ในบาลีประเทศใด บาลีประเทศนั้นมีว่า

นกฮูก ตากลม อาศัยอยู่ที่เวทิยกบรรพตมาตลอด กาลยาวนาน นกฮูกตัวนี้สุขแท้หนอ เห็นพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริญ ซึ่งลุกขึ้นแต่เช้า . มันทำจิตให้เลื่อมใสในตัวเรา และภิกษุสงฆ์ผู้ ยอดเยี่ยม ไม่ต้องไปทุคติถึงแสนกัป มันจุติจากเทวโลก อันกุศลกรรมตักเตือนแลัวจักเป็นพระพุทธะ ผู้มีอนัน ตยาณ ปรากฏพระนามว่า โสมนัสสะ ดังนี้

ในเวลาพลบค่ำ หรือในเวลาย่ำรุ่ง ภิกษุฝ่ายพระสูตร ๒ รูป ย่อมสนทนาพระสูตรกัน ฝ่ายพระวินัยก็สนทนาพระวินัยกัน ฝ่ายพระอภิธรรมก็สนทนาพระอภิธรรมกัน ฝ่ายชาดกก็สนทนาชาดกกัน ฝ่ายอรรถกถาก็สนทนาอรรถกถากันหรือสนทนากันในกาลนั้นๆ เพื่อชำระจิตที่ถูกความหดหู ความฟุ้งซ่านและความสงสัยชักนำไป การสนทนาตามกาลนี้ ชื่อว่า การสนทนาธรรมตามกาล การสนทนาธรรมตามกาลนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งคุณทั้งหลายมีความฉลาดในอาคมคือนิกายทั้ง ๕ เป็นต้นแล

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ มงคล คือ ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การเห็นสมณะ ๑ และการสนทนาธรรมตามกาล ๑ ด้วยประการฉะนี้. ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคส ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล

จบ พรรณนาความแห่งคาถาว่า ขนฺตึ จ


อ.อรรณพ: กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ ซาบซึ้งตามระดับปัญญาว่า ยิ่งเห็นพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่มขึ้นๆ มากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผู้ว่าง่ายเพิ่มขึ้นเท่านั้น แล้วที่ท่านอาจารย์กล่าว ยิ่งเห็นความเป็นบารมีในชีวิตประจำวันเมื่อได้เข้าใจ คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่เริ่มเข้าใจ แล้วก็เพิ่มขึ้นๆ เพราะว่าท่านอาจารย์ได้กล่าวตั้งแต่ตันของการสนทนากับ อ.วิชัย ว่า ตรงต่อความจริง นั่นแหละ คือว่าง่าย เพราะความจริงเป็นอย่างนี้ พระองค์ทรงแสดงอย่างนี้เป็นจริง ก็ตรงต่อคำจริงที่ทรงแสดงถึงความจริงนั้น

เพราะฉะนั้น เมื่อตรงต่อคำจริงซึ่งแสดงถึงความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงก็เป็นสัจจบารมี ตรงต่อความจริงจาก คำ ที่ได้ฟัง แล้วเมื่อได้ฟังพระธรรมตามโอกาส หรือตามกาล แล้วก็เริ่มตรงต่อความจริง ก็ค่อยๆ ที่จะมี สัจจบารมี อย่างนั้น แล้วก็เห็นประโยชน์จึงมีความอดทน ขันติบารมี ที่จะฟังพระธรรมไตร่ตรองด้วยดีต่อไปๆ ความอดทนเหล่านั้นก็นำไปสู่ความว่าง่ายเพิ่มขึ้นๆ

และเมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวว่า เมื่อเห็นพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยิ่งว่าง่ายเพิ่มขึ้นๆ ก็เป็นมงคลข้อ การเห็นสมณะ คือผู้สงบสูงสุด ก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็พระอริยะทั้งหลายที่ท่านมีธรรมที่สงบ แล้วก็แสดงธรรมเพื่อที่จะถึงความสงบจากกิเลสอกุศลไปตามลำดับ จึงมีมงคล สนทนาธรรมตามกาล ไพเราะที่สุดครับท่านอาจารย์ มิเช่นนั้น เราก็จะไม่เข้าใจในพระพุทธพจน์ทั้งหลาย หรือพระธรรมต่างๆ ที่พระองค์ทรงแสดง

ว่าง่าย ก็คือเข้าใจถูก เข้าใจตรงตามความเป็นจริงเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น แม้ไม่ได้แสดงโดยบารมี ว่า มีบารมีชื่อว่า ว่าง่าย แต่ สัจจบารมี ตรงต่อความจริง นั่นแหละว่าง่าย

ความอดทน ขันติบารมี ที่จะอบรมเจริญปัญญา และกุศลธรรมทั้งหลาย ขัดเกลากันต่อไป แล้วก็ อธิฐานบารมี ที่เป็นความตั้งใจมั่น ไม่หวั่น ไม่ว่าจะยังมีกิเลสอกุศลอยู่ ยังเกิดความไม่พอใจ ความอะไรต่ออะไรก็เล็กน้อย เป็นเรื่องเล็กน้อยที่จะได้ขัดเกลาต่อไป นี่ครับ บารมีในชีวิตประจำวันในเรื่องว่าง่ายนี่ จะเห็นบารมีจริงๆ

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

มุงตรงต่อความจริง

ตรงต่อความจริง

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

กราบยินดีในกุศลจิตของ อ.อรรณพ ด้วยความเคารพค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 8 ก.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ


ความคิดเห็น 2    โดย nattawan  วันที่ 9 ก.ย. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย swanjariya  วันที่ 9 ก.ย. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระพระคุณและยินดียิ่งในกุศลทุกประการค่ะน้องเมตตา


ความคิดเห็น 4    โดย สิริพรรณ  วันที่ 10 ก.ย. 2567

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและยินดียิ่งในกุศลพี่เมตตาด้วยค่ะ