[คำที่ ๒๙๖] สามเณร
โดย Sudhipong.U  27 เม.ย. 2560
หัวข้อหมายเลข 32416

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ "สามเณร"

คำว่า สามเณร เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า สา – มะ - เน - ระ] หมายถึง เหล่ากอของสมณะ (ผู้สงบ) หรือ เชื้อสายของผู้สงบ การบวชเป็นสามเณร ไม่ได้กำหนดอายุตายตัวว่าจะต้องมีอายุเท่านั้นเท่านี้ แต่ต้องเป็นผู้รู้เดียงสา สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นอะไร สามารถจับก้อนข้าวไล่กาได้ ที่สำคัญ คือ จะต้องเป็นผู้เข้าใจธรรม เห็นคุณจริงๆ ของการที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต จึงจะบวชได้ ไม่ใช่ว่าใครอยากจะบวชก็บวชได้ เพราะการบวช ไม่ใช่เรื่องง่าย ตามข้อความจาก ธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า

"บทว่า ทุปฺปพฺพชฺชํ ความว่า ชื่อว่า การละกองแห่งโภคะน้อยก็ตาม มากก็ตาม และละเครือญาติ แล้วบวชมอบอุระ (ถวายชีวิต) ในศาสนานี้ เป็นการยาก. บทว่า ทุรภิรมํ ความว่า การที่กุลบุตรแม้บวชแล้วอย่างนั้น สืบต่อความเป็นไปแห่งชีวิต ด้วยการเที่ยวไปเพื่อภิกษา (เที่ยวบิณฑบาต) ยินดียิ่ง ด้วยสามารถแห่งการคุ้มครองคุณคือศีลอันไม่มีประมาณ และบำเพ็ญข้อปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรมให้บริบูรณ์ เป็นการยาก"


เมื่อกล่าวถึงการบวช ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใด ก็ตาม เริ่มตั้งแต่สมัยพุทธกาล จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ล้วนมีความมุ่งหมายเป็นอย่างเดียวกัน คือ ขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล แสดงให้เห็นถึงอัธยาศัยของบุคคลผู้ที่จะบวชจริงๆ ว่า การอยู่ครองเรือน เป็นการหลั่งไหลของอกุศลประการต่างๆ มากมาย จึงสละทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งวงศาคณาญาติ ทรัพย์สมบัติทั้งปวง มุ่งสู่ความเป็นบรรพชิต พร้อมที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสในเพศที่สูงยิ่งกว่าคฤหัสถ์ ผลสูงสุดของการบวช คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคล ตามลำดับขั้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าบวชแล้วไม่ได้น้อมไปในการศึกษาพระธรรม ไมได้อบรมเจริญปัญญา ไม่ได้ขัดเกลากิเลสของตนเองเลย ย่อมไม่ได้ประโยชน์จากการบวช นอกจากจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังเพิ่มโทษให้กับตนเองอีก ซึ่งมีตัวอย่างมากมายของผู้ที่บวชแล้ว แต่ต้องไปเกิดในอบายภูมิ อันเป็นผลจากการไม่น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

สำหรับ สามเณร หมายถึงเหล่ากอของสมณะ นับเนื่องในเพศบรรพชิต ซึ่งเป็นผู้ที่มีศรัทธา มีความจริงใจในการที่จะสละอาคารบ้านเรือน เพื่อมุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง เพื่อฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ เมื่อบวชเป็นสามเณร แล้ว ก็จะต้องสมาทานศึกษาในสิกขาบท ๑๐ คือ

-งดเว้นจากการฆ่าสัตว์

-งดเว้นจากการลักทรัพย์

-งดเว้นจากการประพฤติอพรหมจรรย์ (การเสพเมถุน)

-งดเว้นจากการพูดเท็จ

-งดเว้นจากดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

-งดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

-งดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีและดูการเล่น

-งดเว้นจากการลูบทา ทัดทรง ประดับตกแต่งร่างกายด้วยระเบียบดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อม เครื่องทาอันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว

-งดเว้นจากการนั่งและการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่

-งดเว้นจากการรับเงินทอง

นอกจากนั้น สามเณรยังจะต้องประพฤติในสิ่งที่ควรทำ ตามความเป็นไปของเพศบรรพชิตด้วย ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรก็ได้ เช่น เล่นคึกคะนองต่างๆ เป็นต้น ทำในสิ่งที่ไม่เหมาะควรไม่ได้ แต่ถ้าบวชเป็นสามเณรแล้ว ไม่ศึกษาพระธรรม ไม่ขัดเกลากิเลสของตนเอง ประพฤติในสิ่งที่ไม่เหมาะสมประการต่างๆ ย่อมเป็นโทษแก่ตนเองโดยส่วนเดียว จะอ้างถึงการเป็นเด็ก ไม่ได้ เนื่องจากเด็กก็สามารถที่จะดีได้ รวมถึงวัยอื่นๆ ด้วย แต่ถ้าเป็นในทางตรงกันข้าม ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จะเป็นเพศใด ถ้าประพฤติไม่เหมาะควร ไม่คล้อยตามพระธรรมวินัยแล้ว ย่อมไม่ดี ทั้งนั้น และที่สำคัญ กิจหรือภาระหน้าที่ที่สำคัญของเพศบรรพชิต คือ ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมน้อมประพฤติตามพระธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการศึกษาพระวินัยให้เข้าใจก็จะทำให้รู้ได้ถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามไว้ และในส่วนที่พระองค์ทรงอนุญาต ก็จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลที่ดีให้ได้กระทำเฉพาะในสิ่งที่ถูกที่ควร และ เว้นในสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับเพศของตนซึ่งเป็นเพศที่สูงยิ่ง ถ้าย่อหย่อนไม่สำรวมตามพระธรรมวินัย ย่อมมีแต่จะเพิ่มโทษคืออกุศลธรรมให้ตนเองโดยส่วนเดียว

จะเห็นได้จริงๆ ว่า การออกบวชเป็นบรรพชิตเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะต้องสละทุกสิ่งทุกอย่าง เช่นสละทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ทั้งหมด สละวงศาคณาญาติ สละความสะดวกสบาย สละความสุขอย่างคฤหัสถ์ทั้งหลาย เป็นต้น สิ่งที่ทำได้ยากต่อมา ก็คือ การยินดียิ่งในการประพฤติพรหมจรรย์ (ประพฤติประเสริฐ) ถ้าไม่มีอัธยาศัยของบรรพชิต ย่อมอยู่อย่างยากลำบาก เพราะต้องฝืนกับอัธยาศัยของตน ถ้าขาดปัญญาเป็นผู้ไม่เห็นประโยชน์ของบวชแล้ว ก็อยู่ไม่ได้ สิ่งที่ทำได้ยากต่อมา ก็คือ การเป็นบรรพชิตที่ดีมีการประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ถ้าบวชเข้าไปแล้วไม่ประพฤติตามหลักพระธรรมวินัย ย่อมมีโทษมาก เท่ากับว่าเป็นผู้ที่ขาดความเคารพในพระรัตนตรัย ขาดความตรงต่อตัวเองที่ว่า ปฏิญญาตนจะเป็นเพศบรรพชิต แต่ไม่ประพฤติตามธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้

ดังนั้น การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ จะเป็นหญิงหรือชาย ก็ตาม ถ้าหากว่ามีโอกาสที่จะได้ศึกษาพระธรรมฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา พร้อมทั้งเจริญกุศลประการต่างๆ นั่น ย่อมเป็นชีวิตที่มีค่าเป็นอย่างมาก เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถทราบได้ว่าจะละจากโลกนี้ไป (ตาย) เมื่อใด และเมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว จะไปเกิดในภพภูมิใด ถ้าหากไปเกิดในอบายภูมิ ย่อมหมดโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาพระธรรม ไม่มีโอกาสที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ฉะนั้นแล้ว ทุกๆ วันจึงเป็นโอกาสที่ดี ที่จะทำชีวิตที่ยังมีอยู่นี้ให้เป็นชีวิตที่มีค่ามากที่สุด ด้วยการเป็นคนดีและฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นการฟังการศึกษาในสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในสังสารวัฏฏ์ที่น้อยคนนักจะได้ฟังได้ศึกษา.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ