อุเบกขาบารมี คือ การวางเฉยในสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้ หรือช่วยคนอื่นได้ เช่น ข้าราชการต้องมีการปรับตำแหน่งซีต่างๆ กรณีที่เราคิดว่าความสามารถเรายังไม่พอเราก็ไม่ทำ แบบนี้เรียกว่าอุเบกขาหรือไม่
ควรทราบว่า อุเบกขาบารมี คือ ขณะจิตที่วางเฉย คือเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย ขณะนั้น ตัตรมัชฌัตตัตตาเจตสิก เป็นประธานในมหากุศลญาณสัมปยุตจิต ของผู้ที่เข้าใจธรรมะ เข้าใจบารมี เข้าใจหนทางในการเจริญอริยมรรค คือ เรื่องบารมีไม่ใช่ทั่วไปแต่ต้องเป็นผู้มีปัญญา อีกอย่างหนึ่ง คำว่าอุเบกขา มีหลายอย่าง อุเบกขาที่เป็น อกุศลก็มี อุเบกขาพรหมวิหารก็มี อุเบกบารมีก็มี ฯ ฉะนั้น อุเบกขาที่เป็นกุศล ในขณะนั้นมีการพิจารณาว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน ไม่หวั่นไหวไปกับโลภะหรือโทสะ เป็นต้น
[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ 579
อุเบกขาบารมี
มีความเป็นไปโดยอาการที่เป็นกลางเป็นลักษณะ มีเห็นความเสมอกันเป็นรส. มีการสงบความเคียดแค้นและความเสื่อมเป็นปัจจุปัฏฐาน มีการพิจารณาความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตนเป็นปทัฏฐาน
[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ 536
ข้อความตอนหนึ่งจาก
อรรถกถาเอกราชจริยา
อุเบกขาบารมี เพราะมีพระทัยเสมอในความผิดที่อำมาตย์โหดและพระเจ้าทัพพเสนะกระทำในอุปการะที่พวกแสวงหาประโยชน์มีอำมาตย์เป็นต้น ของพระองค์ให้เกิดขึ้น ทรงวางเฉยในคราวที่ถึงความสุขในราชสมบัติ ในคราวที่ถูกพระราชาข้าศึกฝังในหลุม. สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า :- ข้าแต่ท่านผู้เป็นจอมชน ท่านจงบรรเทาความสุขด้วย ความทุกข์ หรือจงอดกลั้นความทุกข์ด้วยความสุข. สัตบุรุษ ทั้งหลายย่อมวางเฉย ในสุขและทุกข์ทั้งสองอย่าง เพราะเกิด ขึ้นแล้ว
[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ 545
เชิญคลิกอ่านที่
๑๕. มหาโลมหังสจริยา ... ว่าด้วยจริยาวัตรของมหาโลมหังสบัณฑิต
อุเบกขาบารมี ในที่นี้หมายถึง กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาเท่านั้น เช่น เราอยากจะ ช่วยคนที่ได้รับความลำบากเดือนร้อน แต่เราช่วยเขาไม่ได้ จิตขณะนั้น ต้องไม่เป็น อกุศล เราก็วางเฉย พิจารณาว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตน
พระโพธิสัตว์ ย่อมเห็นสัตว์เป็นผู้น่าสงสาร จึงเป็นผู้วางเฉยในความผิดของสัตว์ ทั้งหลาย อุเบกขาบารมี มีปัญญาเกิดร่วมด้วย และมีความกรุณาเป็นสิ่งเกื้อกูล คือมี ความสงสารสัตว์ทั้งหลาย จึงวางเฉย อันประกอบด้วยปัญญา ที่สำคัญการวางเฉยอัน อาศัยเรือน คือ รูป เสียง ซึ่งเป็นการวางเฉยที่เป็นอกุศล วางเฉยด้วยความไม่รู้หรือด้วยโลภะ จึงไม่ใช่การวางเฉยที่เป็นบารมี แต่การวางเฉยที่เป็นอุเบกขาบารมีต้องมี ปัญญานะครับ และเป็นกุศลด้วย
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
คำถาม ข้าราชการต้องมีการปรับตำแหน่งซีต่างๆ กรณีที่เราคิดว่าความสามารถเรายังไม่พอ เราก็ไม่ทำ แบบนี้เรียกว่าอุเบกขาหรือไม่ ถ้าหมายความว่าเราไม่ทำการประเมิน (เขียนผลงาน) เพื่อทำให้ตัวเองเลื่อนตำแหน่ง เนื่องจากเห็นว่า ตนเองยังไม่เหมาะสม กับตำแหน่งที่เลื่อน แบบนี้เรียกว่าเป็นอุเบกขาหรือไม่ ขอแสดงความคิดเห็นนะคะ ว่าขณะที่คิดอย่างนั้น แสดงว่าเป็นคนอุเบกขาในยศตำแหน่ง น่าจะเป็น ตัตรมัชฌัตตัตตาเจตสิก ใช่หรือไม่ใช่คะ มูลนิธิฯ หรือบ้านธัมมะ หรือท่านผู้รู้ ช่วยตอบ ด้วยค่ะ
ถ้าหมายความว่า เราไม่ทำการประเมิน (เขียนผลงาน) เพื่อทำให้ตัวเองเลื่อน ตำแหน่ง เนื่องจากเห็นว่าตนเองยังไม่เหมาะสมกับตำแหน่งที่เลื่อน แบบนี้เรียกว่า เป็นอุเบกขาหรือไม่ ขอแสดงความคิดเห็นนะคะ ว่าขณะที่คิดอย่างนั้น แสดงว่า เป็นคนอุเบกขาในยศตำแหน่ง น่าจะเป็น ตัตรมัชฌัตตาตาเจตสิก ใช่หรือไม่ใช่คะ มูลนิธิฯ หรือบ้านธัมมะ หรือท่านผู้รู้ ช่วยตอบด้วยค่ะ เข้าใจคำว่า อุเบกขา ก่อนครับ อุเบกขา เป็นความรู้สึกเฉย ซึ่งเป็นเวทนาก็ได้ อุเบกขาเวทนาเกิดกับกุศลหรืออกุศลก็ได้ อุเบกขาที่เป็นพรหมวิหาร (มีองค์ธรรมตัตรมัชฌัตตัตตาเจตสิก) ต้องเป็นกุศลเท่านั้น เช่น วาง เฉยเพราะเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ดังนั้น จากตัวอย่างที่คุณกล่าวมา เป็นความมักน้อย แต่อุเบกขาที่ เป็นพรหมวิหารซึ่งมีองค์ธรรมเป็นตัตรมัชฌัตตัตตาเจตสิก จะต้องมีสัตว์ บุคคล เป็นอารมณ์ ไม่ใช่มีสิ่งไม่มีชีวิตเป็นอารมณ์ (ยศ) เช่น จะวางเฉยกับต้นไม้หรือยศก็ไม่ได้ ครับ แต่เป็นผู้มักน้อยในคุณของตัวเองได้ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขอขอบพระคุณทุกท่านมากเลย ที่ให้ข้อคิดเห็น ทำให้เข้าใจเรื่องของอุเบกขาบารมี มากยิ่งขึ้น ปกติก็ชอบอ่านหนังสือธรรมะ และฟังเทปของอจ.สุจินต์อยู่ แต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจนัก ต้องขออนุโมทนาบุญแก่ทุกท่านด้วยที่ให้ธรรมะเป็นทาน ทำให้เกิดปัญญา
ขออนุโมทนาครับ
ขอเชิญอ่านเพิ่มเติม ...
มหานารทกัสสปชาดก ทรงบําเพ็ญอุเบกขาบารมี
ยินดีในกุศลจิตค่ะ