[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ 490
ก็เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในวิธีของอุบาสก ควรทราบข้อปกิณณกะในที่นี้ดังนี้ว่า ใครเป็นอุบาสก เพราะเหตุไรจึงเรียกว่า อุบาสก อะไรคือศีลของอุบาสก อาชีพอย่างไร วิบัติอย่างไร สมบัติอย่างไร ในปกิณณกะนั้น ใครคืออุบาสก คือ คฤหัสถ์คนใดคนหนึ่งที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง สมจริงดังที่กล่าวไว้ว่า ดูก่อนมหานาม เพราะเหตุที่อุบาสกเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ถึงพระธรรมพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ชื่อว่าอุบาสก เพราะเหตุไรจึงเรียกว่า อุบาสก เพราะนั่งใกล้พระรัตนตรัย จริงอยู่ อุบาสกนั้น ชื่อว่าอุบาสก ด้วยอรรถว่า นั่งใกล้พระพุทธเจ้า นั่งใกล้พระธรรมพระสงฆ์ก็เป็นอุบาสกเหมือนกัน. อะไรคือศีลของอุบาสกนั้น เวรมณี ๕ ข้อ เป็นศีลของอุบาสก เหมือนอย่างที่กล่าวไว้ว่าดูก่อนมหานาม เพราะเหตุที่อุบาสกเป็นผู้งดเว้น จากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท จากน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูก่อนมหานาม ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แลอุบาสกชื่อว่าเป็นผู้มีศีล อาชีพอย่างไร คือ ละการค้าขายผิดศีลธรรม ๕ อย่าง เลี้ยงชีพโดยธรรมสม่ำเสมอ.สมจริงดังที่กล่าวไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ อย่างเหล่านี้อุบาสกไม่ควรทำ ๕ อย่างอะไรบ้าง การค้าขายศัสตรา การค้าขายสัตว์การค้าขายเนื้อสัตว์ การค้าขายน้ำเมา การค้าขายยาพิษ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ อย่างเหล่านี้แล อุบาสกไม่ควรทำ ดังนี้ วิบัติอย่างไร คือ ศีลวิบัติ และ อาชีววิบัติของอุบาสกนั้นแหละ เป็นวิบัติของอุบาสก
อีกอย่างหนึ่ง อุบาสกนี้เป็นจัณฑาล เป็นมลทิน และเป็นผู้ที่น่ารังเกียจด้วยกิริยาใด กิริยาแม้นั้น พึงทราบว่าเป็นวิบัติของอุบาสก ก็วิบัติเหล่านั้น โดยอรรถได้แก่ธรรม ๕ อย่าง มีความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา เป็นต้น เหมือนอย่างที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง ย่อมเป็นอุบาสกจัณฑาล เป็นอุบาสกมลทิน และเป็นอุบาสกที่น่ารังเกียจ ๕ อย่างอะไรบ้าง คือเป็นผู้ไม่มีศรัทธา เป็นคนทุศีล เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อมงคลไม่เชื่อกรรม และแสวงหาทักขิไณยบุคคล
นอกพระพุทธศาสนา ทำบุญในทักขิไณยบุคคลเหล่านั้น ดังนี้ สมบัติอย่างไร ศีลสมบัติและอาชีวสมบัติของอุบาสกนั้นนั่นแหละ เป็นสมบัติของอุบาสก ได้แก่ ธรรม ๕ ประการมีศรัทธาเป็นต้น ที่กระทำความเป็นอุบาสกรัตนะเป็นต้น เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นอุบาสกรัตนะ เป็นอุบาสกปทุมและเป็นอุบาสกบุณฑริก ๕ ประการอะไรบ้าง คือเป็นผู้มีศรัทธา เป็นผู้มีศีล ไม่เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรมไม่เชื่อมงคล ไม่แสวงหาทักขิไณยบุคคลนอกพระพุทธศาสนา และทำบุญในพระศาสนานี้ ดังนี้
สาธุ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น