ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๑๙
~ มีความเป็นมิตรที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี เพราะรู้ว่าถ้าไม่มีการฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครจะเข้าใจถูกต้องได้ ด้วยเหตุนี้ ก็รู้ว่า คนที่ฟังคำอื่นมีมากแล้วก็คิดอย่างอื่นที่ไม่ตรงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว ก็ช่วยกันศึกษาธรรม ด้วยความละเอียด รอบคอบ ลึกซึ้ง เพื่อไม่ผิด เพื่อที่จะได้รักษาความถูกต้อง แล้วให้คนอื่นได้เข้าใจความถูกต้อง ซึ่งละเอียดอย่างยิ่ง อันนี้ก็เป็นประโยชน์ทั้งตนเองและคนอื่นด้วย
~ สิ่งใดเป็นประโยชน์ที่สุดในสังสารวัฏฏ์ เพราะว่าอยู่มาก็หลายชาติ เดี๋ยวก็เป็นนั่น เดี๋ยวก็เป็นนี่ เดี๋ยวก็เป็นโน่น พอถึงชาตินี้ก็เป็นอย่างนี้แหละ เพียงเท่าที่จะเป็น เฉพาะชาตินี้เท่านั้น ชาติต่อไปก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้แล้วว่า จะไปเป็นอะไรต่อไป แต่ก็ต้องเป็น เพราะเหตุมีที่จะให้เป็นก็ต้องเป็น ไม่เป็นไม่ได้ แต่ว่าการที่จะได้มี โอกาสได้ฟังธรรมเข้าใจ ก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในสังสารวัฏฏ์
~ เป็นผู้ที่ตรง รู้ตามความเป็นจริงว่า จะขัดเกลากิเลสซึ่งมีมากในฐานะที่สะสมมาแล้ว โดยเพศของคฤหัสถ์ เป็นไปได้แน่นอน เมื่อมีความเข้าใจ แต่ถ้าบวชโดยไม่รู้อะไร เลย ไร้ประโยชน์ เพราะเหตุว่า ไม่เข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น
~ คนหมู่มาก ไม่ถูกต้อง แล้วถ้าเรามีความกรุณา (เกื้อกูลให้เข้าใจความจริง ย่อมเป็นประโยชน์) ปัญญาทำให้มีความกรุณาไม่ใช่ทำให้โกรธชังคนที่ไม่มีความรู้ แต่เพราะเขาไม่รู้ (จึงทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง) และอาจจะมีบางคนที่เมื่อได้ฟังคำติ (คำชี้ให้เห็นโทษ) นั้นแล้ว สำนึกรู้ได้ เพราะฉะนั้น การกล่าวติ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพราะปัญญาทำให้สามารถที่รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก กล่าวติสิ่งที่ผิด เพื่อให้คนได้ฟังแล้วรู้ว่า นั่นผิด จะแก้ไขไหม? ถ้าไม่มีปัญญา จะกล่าวได้ไหมว่าอะไรถูก อะไรผิด?
~ คำจริงและความจริง ไม่เป็นประโยชน์กับทุกคนหรือ ไม่ว่าใครทั้งนั้น และการพูดคำ จริง เป็นการอนุเคราะห์ให้เขาเข้าใจถูกต้องใช่ไหม? เป็นความหวังดีหรือเปล่า? การ ที่จะทำลายพระพุทธศาสนา หรือการไม่ประพฤติปฏิบัติ ตามพระธรรมวินัย เป็น โทษอย่างยิ่ง สำหรับคนนั้นและสำหรับคนอื่นๆ ด้วย เพราะทำให้คนอื่นเข้าใจผิดไป หมดเลย เพราะฉะนั้นกล้าที่จะพูดความจริงให้คนอื่นรู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด หรือไม่ เพราะอย่างไร ก็ตาย แล้วจะกลัวอะไรในเมื่อคำนั้นเป็นประโยชน์ ยิ่งพูดยิ่งเป็น ประโยชน์ใช่ไหมหรือเก็บไว้ไม่กล้าพูด?
~ สภาพธรรมที่เป็นอกุศล เป็นอกุศล ไม่ว่าอกุศลของใคร ของท่านเอง ของญาติพี่น้อง ของเพื่อนฝูง ของใครก็ตาม กุศลธรรมก็เป็นกุศลธรรม ไม่ว่าจะเป็นของบุคคลที่ท่านรัก หรือว่าคนที่เป็นศัตรูก็ตาม กุศลธรรมของบุคคลนั้นก็เป็นกุศลธรรม เป็นผู้ที่จริง เป็นผู้ที่ตรง ถ้าท่านพูดปด ขณะนั้นเป็นผู้ที่บำเพ็ญสัจจะบารมีหรือเปล่า และบางครั้งเมื่อพูดปดไปแล้ว ก็ยังไม่เป็นผู้ที่มีสัจจะบารมีพอที่จะรับว่า ท่านพูดปด แต่ก็ยังพูดปดต่อไปอีกเพื่อที่จะแก้เรื่องที่พูดปดไว้
~ ถ้าท่านมัวเมา หลงติดปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ได้มาแล้วก็ยังติด ที่เกิดเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศล วันไหนได้ลาภ ติดไหม? วันไหนได้ยศ ติดไหม วัน ไหนได้สุข ติดไหม วันไหนได้สรรเสริญ ติดไหม แล้วยังปรารถนาอีกต่อไปเรื่อยๆ เพื่อจะให้ได้สิ่งที่ติดอยู่แล้วอย่างมากๆ ติดต่อไปอีกมากๆ ปรารถนาต่อไปอีกๆ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่บารมีที่จะทำให้ละกิเลสได้เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด)
~ ถ้ายังไม่รู้ว่าเป็นอกุศล คุ้นเคยกับอกุศล ชินกับอกุศล หลงไปกับอกุศล พอใจไปกับ อกุศล ย่อมไม่เห็นความน่ารังเกียจของอกุศล คือ โลภะ เห็นแต่ความไม่แช่มชื่น ของโทสะ ไม่ปรารถนาที่จะไม่ให้มีโทสะเท่านั้น แต่ลืมอกุศลธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ โลภะ
~ อดทนที่จะไม่ให้เกิดโลภะ หรือเกิดโทสะ หรือโมหะในขณะนั้น คือ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง
~ วันหนึ่งๆ นั้นพ่ายแพ้ต่ออกุศลธรรม เพราะอกุศลธรรมมีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นมากกว่ากุศลธรรม
~ ถ้าท่านยังเป็นคนที่ย่อหย่อน เกียจคร้านในการกุศล ลำบากจัง เหนื่อยนัก หรือว่าเสียเวลามาก หรือว่าลำบากนิดหน่อยก็แล้วแต่ในความรู้สึกของท่าน ขณะนั้นเป็นอกุศล ถูกครอบงำแล้วด้วยอกุศล กุศลจึงเกิดไม่ได้
~ ถ้ารู้ว่าท่านเป็นผู้ที่ทำกุศลยาก เพราะเป็นผู้ที่ย่อหย่อนเกียจคร้านในการเจริญกุศล ก็จะต้องเป็นผู้ที่ขยันเสียเดี๋ยวนี้ทันที เพราะชีวิตแต่ละขณะไม่ใช่ยืนยาวเลย ชั่วขณะจิตเดียว ขณะจิตเดียวที่จะเป็นกุศลหรืออกุศลขึ้นอยู่แต่ละขณะจิต เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรที่จะทอดธุระ หรือว่ายังเป็นผู้ที่ยังคงย่อหย่อนเกียจคร้านในการเจริญกุศล มิฉะนั้นแล้ว ก็จะขาดวิริยบารมีซึ่งจะไม่ทำให้อกุศลเบาบางเลย แต่ทางเดียวที่จะทำให้อกุศลเบาบางได้ คือ เป็นผู้ที่ขยัน ไม่เกียจคร้านในการเจริญกุศลทั้งปวงที่สามารถจะกระทำได้
~ กิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) จะพาไปสู่กิเลสแต่ปัญญาจะพาออกจากกิเลสเพราะ ฉะนั้นถ้าไม่มีปัญญาแล้วอะไรๆ ก็ไม่สามารถที่จะนำออกจากกิเลสได้ด้วยเหตุนี้ กิเลส จะแก้กิเลสเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แต่ต้องเป็นธรรมฝ่ายดี โดยเฉพาะ คือ ความเข้าใจที่ถูกต้องจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกต้องขึ้น
~ ความเข้าใจที่ถูกต้อง จะกั้นไม่ให้ไปสู่ทางที่ผิด อารักขา (รักษาไม่ให้ไปสู่ทางที่ผิด) เพราะเหตุว่าได้ฟังจนกระทั่งเป็นอุปนิสัยที่จะมีความเข้าใจที่มั่นคงว่าเดี๋ยวนี้ต่างหากที่ไม่รู้ธรรม (สิ่งที่มีจริง) ที่มี เพราะฉะนั้น จะรู้ ก็คือ ธรรมเดี๋ยวนี้แหละไม่ใช่ธรรมอื่นเลยไม่ว่าอะไรทั้งสิ้นและเลือกก็ไม่ได้
~ ถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง จะทำอะไร ก็ผิดทั้งนั้น เพราะไม่เข้าใจ, ธรรมเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องลึกซึ้ง และเป็นเรื่องละ ซึ่งละยาก แต่ให้ทราบว่าไม่ใช่เราที่ละ แต่ปัญญาต่างหาก ละเพราะฉะนั้น ปัญญากำลังละความไม่รู้ในขณะที่กำลังเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย
~ เกิดแล้วก็ตาย ไม่มีใครไม่ตาย แต่ระหว่างเกิดกับตาย มีอะไรเกิดบ้าง ตายบ้าง อยู่เรื่อยๆ ทุกขณะ จนกว่าจะถึงขณะสุดท้าย เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่สามารถที่จะฟังได้ตลอด เพราะเหตุว่าพอฟังแล้วก็เข้าใจขึ้นๆ เข้าใจละเอียดขึ้น แล้วก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่มีค่า สามารถที่จะทำให้รู้ความจริงซึ่งถูกปกปิดไว้นานแสนนานถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ เหตุกับผลต้องตรงกัน อกุศลธรรม ธรรมฝ่ายที่ไม่ดี ก็จะต้องนำไปสู่ภพภูมิที่ไม่ดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นธรรมฝ่ายดี ก็นำไปสู่ภพภูมิที่ดี
~ ชีวิตประจำวันไปนรกง่ายไหม ลองคิดดู เพราะอกุศลมาก แต่ตราบใดที่ยังไม่ถึงขั้นที่กระทำทุจริตกรรมคือเบียดเบียนให้คนอื่นเดือดร้อน ก็ยังไม่ใช่เหตุที่สมควรที่จะนำไปสู่อบายภูมิ แต่ว่าสามารถที่จะสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทำให้เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยอย่างนั้น เพราะฉะนั้น คนเราเกิดมา เราเห็นคนที่ต่างกัน คนดี คนชั่ว แสดงว่าก่อนที่จะชั่วอย่างที่คนอื่นเห็น ก็ต้องสะสมความไม่ดีทีละเล็กทีละน้อย และคนดี ก็จะต้องสะสมคุณความดีไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็จะเกิดมาเป็นอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้น จะเป็นอย่างไหน นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าคิด
~ เพราะไม่รู้ ก็เป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรมมากมาย เช่น เด็กๆ เราจะเห็นได้ว่าอาจจะฆ่าสิ่งที่มีชีวิตหรือว่าพูดคำที่ไม่จริงต่างๆ เพราะว่า ไม่ได้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า เป็นโทษ นั่นคือเด็ก พอโตขึ้นถ้ายังคงสะสมความไม่ดีอย่างนั้นมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นอันตราย นี่เป็นเรื่องของชาวบ้านธรรมดา แต่ถ้าเป็นพระภิกษุ แค่อาบัติ (การล่วงละเมิดพระวินัย) ที่คนธรรมดาประพฤติไม่อาบัติคือเป็นคฤหัสถ์ เช่น พูดล้อกันเล่น แสดงหนัง แสดงละคร คฤหัสถ์สามารถกระทำได้ ไม่เหมือนกับผู้ที่บวชเป็นบรรพชิตทำไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เพศที่ต่างกัน เพียงทำสิ่งที่เคยทำในฐานะที่เคยเป็นคฤหัสถ์ก็ไปสู่อบายภูมิได้ ถ้าไม่ปลงอาบัติ ถ้าไม่แก้ไขให้ถูกต้อง ถ้าไม่สำนึก [สำนึกหมายความว่าเห็นว่าเป็นโทษแล้วก็กล่าวโทษแล้วก็สำนึกว่าต่อจากนั้นไปจะไม่ทำอย่างนั้นอีก] แต่ถ้ากระทำอยู่บ่อยๆ ก็แสดงว่าเป็นโทษที่แก้ไขยาก แล้วเป็นอลัชชี (ผู้ไม่มีความละอาย) ถ้าภิกษุเป็นอย่างนี้ ก็เป็นเหตุนำไปสู่อบายภูมิ
~ ไม่ศึกษาพระธรรม ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยแล้วคนบวชได้อะไร เป็นโทษ หรือว่าเป็นบุญ? เพราะเหตุว่ารับสิ่งของที่เขาให้ โดยหวังว่าบุคคลนั้นศึกษาพระธรรม และประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยต่างหาก ไม่ใช่ว่าให้แล้วไปทำอะไรก็ได้ ไปร้อง เพลงก็ได้ ไปขโมยก็ได้ ไปเสพยาเสพติดก็ได้ไม่ใช่เพื่ออย่างนั้นเพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ไม่ละอายและก็เป็นบาปจึงไม่ใช่บวช แต่เป็นบาป
~ ถ้าไม่เข้าใจธรรมก็จบเรื่องการบวชเลย จะบวชไปทำไม?
~ การบวช ไม่ใช่ง่าย ไม่ใช่ของเล่นไม่ใช่ใครก็ทำได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ เมื่อเห็นเพศนี้เดินมา ต้องรู้ว่าผู้นี้มีอัธยาศัยใหญ่ที่สละอาคารบ้านเรือนทรัพย์สมบัติศึกษาพระธรรมขัดเกลากิเลสเพื่อตนเองและเพื่อดำรงพระศาสนา จึงได้รับการเคารพจากคฤหัสถ์ แต่ถ้าผู้ใดไม่เป็นอย่างนี้จะเคารพไหม? เคารพอะไร? เพราะว่าเคารพ ต้องเคารพในคุณความดี แต่ถ้าไม่มีคุณความดีพอที่จะดำรงเพศบรรพชิต แต่กลับทำลายโดยการที่ไม่รักษาพระวินัย และไม่ศึกษาพระธรรมด้วย แล้วเคารพอะไรเคารพในผู้ที่ทำลายพระศาสนาอย่างนั้นหรือ?
~ พระภิกษุที่ล่วงละเมิดพระวินัย เป็นผู้ที่ไม่เคารพในพระบรมศาสดา และเป็นผู้ที่ไม่ตรง ไม่จริงใจแสดงเพศเป็นภิกษุโดยการที่ห่มจีวรถือบาตรบิณฑบาต แต่ว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย [คือ ไม่ศึกษาธรรม ไม่ได้น้อมประพฤติตามพระวินัย ไม่ขัดเกลากิเลส] เพราะฉะนั้น ก็เป็นการหลอกคนอื่นให้เข้าใจว่าตนเองเป็นผู้ที่สละอาคารบ้านเรือนมีความประพฤติที่ดี เขาเห็นอย่างนี้ใช่ไหม เขาจึงได้ทะนุบำรุงด้วยปัจจัย (เครื่องอาศัยให้ชีวิตเป็นไป) ไม่ว่าจะเป็นอาหารบิณฑบาต จีวร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เพราะฉะนั้น ไม่ควรค่าต่อการที่จะได้รับสิ่งนั้น เพราะเขาให้ด้วยการหวังว่าผู้นั้นจะศึกษาธรรมเข้าใจธรรม แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่ได้มาเหมือนขโมยเขาไหม เขาไม่ได้ให้คนอย่างนี้ เขาให้คนที่ศึกษาธรรมประพฤติปฏิบัติตามธรรม แต่เป็นผู้ที่ไม่ศึกษาธรรมและไม่ประพฤติปฏิบัติตามธรรม ก็ไปเอาของของที่คนเขาศึกษาธรรมประพฤติปฏิบัติตามธรรมมาใช้เป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ก็เป็นโทษอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่ไม่อาย ไม่ตรง ไม่จริงใจ
~ ถ้ารู้ตัวเองว่าบวชเพื่ออะไร จะเป็นผู้ที่มีชีวิตที่สบาย เบา ในเพศบรรพชิต อยู่อย่างผาสุก
~ เวลากล่าวส่อเสียดเป็นทุกข์ไหม แต่ถ้าสามารถเห็นโทษแล้ว ไม่พูดอย่างนั้น ก็สบาย
~ บรรพชิต สละ ละแล้วซึ่งเงินและทอง ไม่ใช่แค่นั้น สละรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย และ ไม่ใช่แค่นั้น ลาภ ยศ สรรเสริญ ก็สละด้วย สบายไหม ไม่ต้องไปติดข้องในสิ่งเหล่านั้น แต่สำหรับคฤหัสถ์ คิดว่าถ้าไม่สามารถที่จะดำเนินชีวิตในเพศที่เป็นที่บรรพชิตอย่างนั้นได้ ก็มีความสุขในชีวิตของคฤหัสถ์ โดยการที่ฟังพระธรรมมีความเข้าใจและขัดเกลากิเลส สามารถที่จะเข้าใจธรรมขัดเกลากิเลสได้ เพราะเมื่อกิเลสมีอย่างไร ก็รู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่ลวงคนอื่นหรือหลอกตัวเองว่าไม่มีกิเลสแล้ว
~ ภิกษุที่รับและยินดีในเงินและทองก็เป็นภิกษุทุศีล แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจธรรม จะไม่กระทำอย่างนั้นไม่ว่าในยุคใดสมัยใดก็ตาม
~ บางคนก็คงสงสัยว่าทำไมต้องพูดเรื่อง "ภิกษุในธรรมวินัย ไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทอง" บ่อยๆ พูดมาก พูดจนบางคนเบื่อแสนเบื่อ แต่เขาเห็นประโยชน์ไหมว่า ให้คนที่ไม่เข้าใจได้เข้าใจไม่ว่าทั้งพระธรรมและพระวินัย เป็นพุทธบริษัททำไม อยู่คนเดียวหรือ หรือว่ามีชาวพุทธคนที่นับถือพระพุทธศาสนาแต่ยังไม่เข้าใจธรรมวินัยมาก เป็นประโยชน์ไหมถ้าสามารถที่จะให้ทุกคนพ้นจากความผิดที่กระทำไปด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งกับตนเองและคนอื่นด้วยและแก่พระพุทธศาสนาด้วย
~ ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ไม่เข้าใจธรรม ก็ทำลายพระศาสนา แม้การให้เงินพระภิกษุก็ทำลายพระพุทธศาสนาแล้ว
~ แม้ยังไม่เข้าใจลึกซึ้ง แต่ก็ยังรู้ว่านรกไม่ใช่สิ่งที่ควรจะไป ให้เข้าใจถูกเห็นถูกต้อง ตั้งแต่เด็ก ว่า "ภิกษุใดรับและทอง ภิกษุนั้นก็ไปนรกซึ่งเป็นที่ที่ไม่ควรจะไป"
~ จะมีภิกษุที่ผิดพระธรรมวินัย ก็คือ มีนรก
~ คำพูดที่ว่า "ภิกษุใดไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย ภิกษุนั้นตกนรก" หวังดีหรือไม่ เป็นกัลยาณมิตรมิตรที่ดีไหม ที่หวังให้ทุกคนพ้นโทษจากการที่จะตกนรก ผู้ที่กล่าวตามพระธรรมวินัยหวังดีต่อคนอื่นที่จะให้ได้เข้าใจอย่างถูกต้องหรือเปล่า (หวังดี)
~ จะเป็นอะไรกับการพูดความจริงที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ด้วย เพื่อคนอื่นๆ ทั้งหลายด้วย ทั้งผู้ที่ประพฤติผิดและผู้ที่ส่งเสริมให้ประพฤติผิด แล้วทำไมจะไปเกียจคร้านกับการกล่าวคำที่มีประโยชน์
~ ทำความดีอย่างไรก็ไม่เข้าใจพระพุทธศาสนาถ้าไม่ศึกษา ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนา ไม่ใช่เพียงทำความดีอย่าง คำสอนอื่นๆ แต่สอนให้เข้าใจความจริง ซึ่งถ้าไม่ศึกษาแล้ว ไม่มีทางจะเข้าใจถูกได้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีผู้ศึกษาให้เข้าใจ แต่มีภิกษุที่ไม่เข้าใจธรรมและเป็นมหาโจร จะเลือกอย่างไหน? ไม่ใช่ช่วยกันทำลายพระศาสนา เพราะถ้าไม่เข้าใจพระพุทธศาสนาเมื่อไหร่ ก็ทำลายเมื่อนั้น
~ จะนับถือพระพุทธศาสนาได้อย่างไร ถ้าไม่เข้าใจคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เข้าใจคำสอนที่ถูกต้องเท่านั้น ที่สามารถจะทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีความเมตตา มีความหวังดีและมีความอดทนที่จะให้คนอื่นที่เขากำลังเข้าใจผิด ไม่เข้าใจธรรม ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ต้องช่วยกันต่อไป.
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๑๘
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
กราบขอบพระคุณอาจารย์คำปั่น อักษรวิลัยด้วยความเคารพ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
กราบอนุโมทนาค่ะ
กราบอนุโมทนาสาธุนะคะ
ขออนุโมทนาครับ