ท่านพระสารีบุตรเป็นใคร (ผู้เลิศด้านปัญญา) ใครเป็นผู้ตรัสว่าท่านพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกผู้เลิศด้วยปัญญา (พระผู้มีพระภาคเจ้า) แล้วใครจะไม่นับถือท่านพระสารีบุตร ผู้นั้นไม่เคารพพระรัตนตรัย หรือ ไม่นับถือสังฆรัตนะที่จะเคารพ แม้แต่คำที่ได้ยินบ่อยๆ นะคะ พระรัตนตรัยต้องสาม จะมีเพียงหนึ่งได้ไหม เพียงสองได้ไหม เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฟังพระธรรมแล้วนะคะ ไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ได้เป็นอริยสาวก คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเป็นประโยชน์ไหม
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าต้องพิจารณาไตร่ตรองโดยรอบคอบจริงๆ นะคะ แล้วใครกล้าที่จะบอกว่าไม่ฟังคำของสาวก ซึ่งเป็นพระอริยสาวก เป็นพระสังฆรัตนะ แล้วคนนั้นเป็นอะไร เป็นใครคะ ไม่เป็นอะไรเลย ที่จะเข้าใกล้พระศาสนาก็ไม่ได้เข้าใกล้ เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่กล่าวตู่คำของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นทุกคำที่เป็นคำของสาวก ต้องตรงกับความจริง ตรงกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว ไม่ได้ค้านกันเลย เพราะฉะนั้นจะฟังคำของใคร เมื่อไหร่ แต่คำนั้นเป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว ได้ทรงแสดงไว้แล้ว ย่อมเป็นประโยชน์
สามารถรับฟังไฟล์เสียง ประเด็น พุทธวัจนและคำพระอริยสาวก ได้ที่ลิ้งนี้ครับ
คำของอริยสาวก
@ คำของตนเองที่อธิบายพุทธวจน คำนั้นก็ไม่ใช่พุทธวจนแล้ว
@ สอนให้ทำอานาปานาสติ ดูลมหายใจแล้วอธิบายเอง ตามความเข้าใจ ลืมอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ แต่เลือกอารมณ์ ก็อธิบายผิดตามพุทธวจน
@ สอนว่าอภิธรรมเป็นคัมภีร์แต่งขึ้นภายหลัง แต่ พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬา แสดงว่า มีการสนทนาอภิธรรมเมื่อคราวมีพระชนม์อยู่
@ ประเด็นกล่าวตู่อ้างว่า พระอภิธรรมเป็นคัมภีร์แต่งขึ้นภายหลัง จากสาวก หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ไม่ใช่คำของพระพุทธเจ้า
ขอยกข้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬา ไม่มีอรรถกถาจารย์อธิบาย แสดงความจริงว่า พระพุทธเจ้า ตรัสว่ามีพระอภิธรรม ตั้งแต่ที่พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ และ ภิกษุทั้งหลายสมัยนั้นก็สนทนาพระอภิธรรมกัน
พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาท - หน้าที่ 275
ข้อความบางตอนจาก
อัสสสูตรที่ ๑
... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุรุษกระจอกสมบูรณ์ด้วยเชาวน์ สมบูรณ์ด้วยวรรณะ และสมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรากล่าวว่า นี้เป็นเชาวน์ของเขา และเมื่อถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็วิสัชนาได้ ไม่จนปัญญา เรากล่าวว่านี้เป็นวรรณะของเขา และเขามักได้จีวร บิณฑบาตเสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เรากล่าวว่า นี้เป็นความสูงและความใหญ่ของเขา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษกระจอกเป็นผู้สมบูรณ์ ด้วยเชาวน์ สมบูรณ์ด้วยวรรณะ และสมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลายบุรุษกระจอก ๓ จำพวกนี้แล ฯ
และเรื่อง ภิกษุสนทนากันเรื่องพระอภิธรรมสมัยพระพุทธเจ้ายังไม่ปรินิพพาน
พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต - หน้าที่ 352 (ฉบับมหาจุฬา ไม่มีอรรถกถา)
ข้อความบางตอนจาก
๖. จิตตหัตถิสาริปุตตสูตร
[๓๓๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ก็สมัยนั้น ภิกษุผู้เถระหลายรูปกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัต นั่งประชุมสนทนาอภิธรรมกถากันอยู่ที่โรงกลม ได้ทราบว่า ในที่ประชุมนั้น ท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตร เมื่อพวกภิกษุผู้เถระกำลังสนทนาอภิธรรมกถากันอยู่ พูดสอดขึ้นในระหว่าง ลำดับนั้น ท่านพระมหาโกฏฐิตะได้กล่าวกับท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตรว่า ท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตร เมื่อภิกษุผู้เถระกล่าวสนทนาอภิธรรมกถากันอยู่ พูดสอดขึ้นในระหว่าง ขอท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตร จงรอคอยจนกว่าภิกษุผู้เถระสนทนากันให้จบเสียก่อน ฯ
ประเด็นการกล่าวอ้าง เพียงเห็นศพสีเหลืองแล้วพยากรณ์ว่าเป็นพระอนาคามี
- ผู้ที่จะพยากรณ์ใครว่าเป็นพระอริยบุคคลขั้นไหน ต้องเป็นผู้มีพระปัญญา ดั่งเช่น พระพุทธเจ้า เป็นต้น พระอริยสาวกในอดีต มีท่านพระสารีบุตร อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแต่งตั้งเป็นผู้เลิศทางปัญญารองจากพระองค์ ก็ไม่ได้พยากรณ์ใครว่าเป็นพระอนาคามี เพียงเห็นศพสีเหลือง เพราะศพสีเหลือง เกิดขึ้นได้ แม้ไม่ได้ฟังคำพระพุทธเจ้า และผู้นั้นที่พยากรณ์ มีญาณ ปัญญาระดับใด จึงพยากรณ์ เพียงศพสีเหลืองว่าได้ฟังคำพระพุทธเจ้าก่อนตายเป็นพระอนาคามี เพราะ การเห็นด้วยตาเนื้อ ไม่ใช่การเห็นด้วยตาปัญญาที่ได้ฌานอภิญญา พระพุทธเจ้าตรัสว่าเธออย่าประมาณคนอื่น เพราะเธอไม่มีปัญญาเช่นเรา
การยกพุทธวจน แต่ ตนเองอธิบายผิด ก็ชื่อว่าคำของตนเองเป็นคำของอัญญเดียรถีย์ นอกศาสนา ไม่ใช่แม้คำของพระอริยสาวก เพราะ อธิบายไม่สอดคล้องตามพระธรรมวินัย ทำลายพุทธวจน มีเรื่องปฏิเสธพระอภิธรรม และ พยากรณ์ศพสีเหลือง เป็นต้น พระอภิธรรมก็อันตรธานไป จากคำของผู้อ้างตนเป็นสาวก กล่าวตามพุทธวจนแต่อธิบายผิด ว่าอภิธรรมเป็นคำแต่งภายหลัง และคนปัจจุบัน ส่วนมากก็ชื่นชมชอบกัน แต่ไม่พิจารณาความลึกซึ้งของพระธรรม เพราะคำที่บุคคลอธิบายต่อจากพุทธวจน ที่อธิบายผิด ก็ชื่อว่าสาวกภาษิตนอกศาสนา สมกับพระพุทธพจน์ ฉบับมหาจุฬาที่ว่า
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
สังยุตตนิกาย นิทานวรรคข้อความบางตอน ...
๗. อาณิสูตร ว่าด้วยลิ่ม
[๒๒๙] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี ...
“ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้มีตะโพนชื่ออานกะของพวกกษัตริย์ผู้มีพระนามว่าทสารหะ เมื่อตะโพนแตก พวกกษัตริย์ทสารหะได้ตอกลิ่มอื่นลงไป ต่อมาไม้โครงเก่าของตะโพนชื่ออานกะก็หายไปเหลือแต่โครงลิ่ม ฉันใดภิกษุทั้งหลาย ในอนาคต เมื่อผู้อื่นกล่าวสูตรที่ตถาคตกล่าวไว้ล้ำลึก มีเนื้อความลึกซึ้ง เป็นโลกุตตรธรรม ประกอบด้วยความว่าง ภิกษุทั้งหลายจักไม่ตั้งใจฟังให้ดีไม่เงี่ยหูฟัง ไม่เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อรู้ทั่วถึง และไม่ให้ความสำคัญธรรมว่า ควรเรียนควรท่องจำให้ขึ้นใจ ฉันนั้นแต่เมื่อผู้อื่นกล่าวสูตรที่ท่านผู้เชี่ยวชาญได้รจนาไว้ เป็นบทกวี มีอักษรวิจิตรมีพยัญชนะวิจิตร อยู่ภายนอก เป็นสาวกภาษิต ภิกษุเหล่านั้นกลับตั้งใจฟังด้วยดีเงี่ยหูฟัง เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อรู้ทั่วถึง และจักสำคัญธรรมว่า ควรเรียน ควรท่องจำให้ขึ้นใจ ฉันใด แต่เมื่อผู้อื่นกล่าวสูตรที่ตถาคตกล่าวไว้ล้ำลึก มีเนื้อความลึกซึ้งเป็นโลกุตตรธรรม ประกอบด้วยความว่าง ก็จักอันตรธานไป ฉันนั้น
ขอเชิญอ่านข้อความพระไตรปิฎกฉบับบมหาจุฬาที่ไม่มีอรรถกถา เป็นพระพุทธพจน์ที่แสดงว่าควรฟังคำของพระอริยสาวก มีท่านพระสารีบุตร และ พระมหาโมคคัลลานะ เป็นต้น
พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ - หน้าที่ 337
๑๑. สัจจวิภังคสูตร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเสพ จงคบสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด ทั้งสองรูปนี้เป็นบัณฑิตภิกษุ ผู้อนุเคราะห์ผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ สารีบุตรเปรียบเหมือนผู้ให้กำเนิดโมคคัลลานะเปรียบเหมือนผู้บำรุงเลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อมแนะนำในโสดาปัตติผลโมคคัลลานะ ย่อมแนะนำในผลชั้นสูง สารีบุตรพอที่จะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผยจำแนก ทำให้ง่ายซึ่งอริยสัจ ๔ได้โดยพิสดาร พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคต ได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปยังพระวิหาร
พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาท - หน้าที่ 23
[๑๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นบุคคลอื่นแม้คนเดียว ผู้ยังธรรมจักรที่ยอดเยี่ยมอันตถาคตให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามโดยชอบ เหมือนสารีบุตรนี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรย่อมยังธรรมจักรที่ยอดเยี่ยม อันตถาคตให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามโดยชอบทีเดียว