นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ คือ
อัปปฏิวิทิตสูตร
... จาก ...
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๕๗
... นำสนทนาโดย ...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๕๗
๗. อัปปฏิวิทิตสูตร *
[๑๕] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ธรรมทั้งหลาย อันชนพวกใดยังไม่ แทงตลอดแล้ว ชนพวกนั้น ย่อมถูกจูงไป ในวาทะของชนพวกอื่น ชนพวกนั้น ชื่อว่า ยังหลับไม่ตื่น กาลนี้ เป็นกาลสมควร เพื่อจะตื่น ของชนพวกนั้น.
[๑๖] พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า
ธรรมทั้งหลาย อันชนพวกใดแทง ตลอดดีแล้ว ชนพวกนั้น ย่อมไม่ถูกจูงไป ในวาทะของชนพวกอื่น บุคคลผู้รู้ดี ทั้งหลายรู้ทั่วถึงโดยชอบแล้ว ย่อมประพฤติ เสมอในหมู่สัตว์ผู้ประพฤติไม่เสมอ. อรรถกถาอัปปฏิวัทิตสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ ๗ ต่อไป :-
บทว่า ธมฺมา ได้แก่ สัจจธรรม ๔. บทว่า อปฺปฏิวิทิตา ได้แก่ ยังมิได้แทงตลอดด้วยญาณ.
บทว่า ปรวาเทสุ ได้แก่ ในวาทะอันประกอบด้วยทิฏฐิ ๖๒. จริงอยู่ วาทะเหล่านั้น ชื่อว่า วาทะของชนพวกอื่น เพราะเป็นวาทะของพวกเดียรถีย์อื่น นอกจากวาทะในศาสนานี้.
บทว่า นียเร ได้แก่ ย่อมเคลื่อนไปตามธรรมดาของตน บ้าง บุคคลอื่นย่อมจูง (นำ) ไป บ้าง. ในบทเหล่านั้น เมื่อถือเอาวาทะว่าเที่ยงเป็นต้น เอง ชื่อว่า ย่อมเคลื่อนไป. เมื่อถือเอาวาทะ ว่า เที่ยงนั้น ตามถ้อยคำของผู้อื่น ชื่อว่า ถูกผู้อื่นจูงไป.
บทว่า กาโล เตสํ ปพุชฺฌิตุ อธิบายว่า กาลนี้ เป็นกาลสมควรเพื่อจะตื่นของบุคคลเหล่านั้น. จริงอยู่ พระพุทธเจ้า ทรงอุบัติขึ้นในโลก พระธรรมอันพระองค์ย่อมทรงแสดงพระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ทั้งปฏิปทา ก็เป็นปฏิปทาที่เจริญ เทวดาจึงกล่าวว่า ก็มหาชนเหล่านี้หลับแล้วในวัฏฏะ ยังไม่ตื่น ดังนี้.
ในบทว่า สมฺพุทฺธา ได้แก่ ผู้ตรัสรู้แล้วโดยชอบ ด้วยเหตุด้วยการณ์. จริงอยู่ ผู้ตรัสรู้ ๔ จำพวก คือ พระสัพพัญญูพุทธะ ปัจเจกพุทธะ จตุสัจจพุทธะ และ สุตพุทธะ. ในพุทธะเหล่านั้น ผู้บำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ แล้วบรรลุพระสัมมาสัมโพธิ ชื่อว่าพระสัพพัญญูพุทธะ. ผู้บำเพ็ญบารมีสิ้น ๒ อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปจึงบรรลุด้วยตนเอง ชื่อว่า พระปัจเจกพุทธะ. พระขีณาสพผู้สิ้น อาสวะ โดยไม่เหลือ ชื่อว่า จตุสัจจพุทธะ. ผู้เป็นพหูสูต ชื่อว่า สุตพุทธะ. พุทธะมีในก่อนแม้ทั้ง ๓ ย่อมสมควรในอรรถนี้.
บทว่า สมฺมทญฺญาย ได้แก่ รู้ด้วยเหตุด้วยการณ์.
บทว่า จรนฺติ วิสเม สมํ อธิบายว่า ย่อมประพฤติเสมอในโลกสันนิวาสอันไม่เสมอ หรือในหมู่สัตว์อันไม่เสมอ หรือว่า กิเลสชาตอันไม่เสมอดังนี้แล.
จบอรรถกถาอัปปฏิวิทิตสูตรที่ ๗.
* หมายเหตุ คำว่า อัปปฏิวิทิตะ แปลว่า ยังไม่ได้แทงตลอดแล้ว
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
อัปปฏิวิทิตสูตร
เทวดาองค์หนึ่ง ได้ลงมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กล่าวคาถาในสำนัก ของพระองค์ (สรุปได้) ว่า ผู้ที่ยังไม่ได้แทงตลอดธรรมตามความเป็นจริง ก็ย่อมจะถูกจูงไปด้วยความเห็นผิด คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงของธรรม ยังเป็นผู้หลับในสังสารวัฏฏ์ ยังไม่ตื่นจากกิเลส บัดนี้ เป็นกาลอันสมควร ที่จะตื่นขึ้นของชนพวกนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบเทวดาองค์นั้น ด้วยพระคาถา (สรุปได้) ว่า ผู้ที่ได้แทงตลอดธรรม ตามความเป็นจริง ก็ย่อมจะไม่ถูกจูงไปด้วยความเห็นผิด เป็นผู้ประพฤติเสมอ (ประพฤติธรรม) ในเมื่อหมู่สัตว์ยังเต็มไปด้วยความไม่เสมอ คือ กิเลสทั้งหลาย.
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
ความเห็นถูก ความเห็นผิด
การรู้แจ้งแทงตลอดธรรมเป็นอย่างไร
แบ่งปันสิ่งที่บันทึกจากชั่วโมงพื้นฐานพระอภิธรรม 12 พ.ค. 2556
กำลังถูกปลุกหรือเปล่า
ถ้ายังมีความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ความไม่รู้ ความสงสัยในลักษณะ ของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะทำให้ความเห็นผิดเข้าใจผิดเพิ่มขึ้นทีละเล็ก ทีละน้อย จนในที่สุดจะปรากฏเป็นความเห็นผิดที่ใหญ่หลวงหรือเป็นโทษ เป็นอันตรายมาก
อ้างอิงจาก ... ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๒๗
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
กราบนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า
กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง
กราบขอบพระคุณ อ.คำปั่น ในธรรมทานด้วยค่ะ
ยินดีในกุศลจิตครับ