ธรรมะและธรรมชาติ
ธรรมะ คือ สิ่งที่มีจริงทั้งหมด ทั้งที่เป็นธรรมชาติ และไม่ใช่ธรรมชาติ โดยปรมัตถ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เป็นธรรมะ บางแห่งคำว่า ธรรมะ หมายเอาเฉพาะกุศลธรรม เช่น คำว่า ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม บางแห่งหมายเอาพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แสดงไว้ทั้งหมดเป็นธรรมะ (ปริยัติธรรม) ฉะนั้น ในพระไตรปิฎก จึงมีหลายความหมาย แต่คำว่า ธรรมะ คือ ธรรมชาติ ไม่มีในพระไตรปิฎก
ธรรมะ คือ ทุกอย่างที่มีจริง เช่น เห็นมีจริง รู้สึกชอบไม่ชอบมีจริง ความรู้สึกเป็นมิตร เป็นเจตสิกเกิดกับจิตที่เป็นฝ่ายกุศลมีจริง เป็นธรรมะ
สิ่งใดที่มีจริง ไม่ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้เรียกว่าธรรมะไช่หรือไม่ครับ
ถ้าจะเรียบเรียงให้อ่านและเข้าใจง่ายก็เป็นว่า สิ่งใดที่มีจริง แม้ว่าเราไม่รู้ สิ่งนั้นก็มีจริง สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นธรรมะ เป็นความหมายเดียวกับที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้กรุณาตอบใช่หรือไม่
ขอขอบพระคุณที่ให้ความชัดเจน
ธรรมะ กับ ธรรมชาติต่างกันอย่างไร
ถ้าพูดถึงธรรมชาติ บางคนอาจคิดถึงภูเขา ต้นไม้ น้ำทะเล ดาว แต่ถ้าพูดถึงธรรมแล้ว เป็นสิ่งซึ่งหมายถึง สิ่งที่มีจริงๆ เป็นสิ่งซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงธรรมชาติก็จะต้องเข้าใจด้วยว่า ธรรมชาติในทางธรรม หรือ ธรรมชาติในทางโลก ธรรมชาติในทางธรรมก็คือ ธรรม หมายถึง ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นธรรมะ เป็นธาตุ ใช้คำว่า ธาตุ ก็ได้ หรือ ธรรมะ ก็ได้
ความหมายของคำว่า “ธรรมะ”
ธรรมะเป็นสิ่งที่มีจริง พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม คือ ตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ สิ่งที่มีจริงๆ ก่อนการตรัสรู้ ไม่มีใครพบว่าเป็นธรรมะเพราะเห็นว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรา เป็นเขา เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ แต่เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ตรัสรู้ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง แต่ลักษณะของธรรมนั้น เป็นสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ซึ่งจะต้องค่อยๆ ไตร่ตรองตามลำดับ เช่น ขณะนี้อะไรจริง กำลังเห็นมีจริงๆ สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริงๆ เสียงมีจริงๆ จิตที่ได้ยิน รู้เสียงนั้นมีจริงๆ ความสุขมีจริง ความทุกข์มีจริง ลักษณะของแข็งมีจริง สภาพที่กำลังรู้แข็งมีจริง ทั้งหมดนี้เป็นธรรม
เพราะฉะนั้น ก็จะต้องศึกษาให้ทราบว่าที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา แต่ถ้าไม่มีตัวธรรมะที่เกิดขึ้นปรากฏ เราก็ไม่มี แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้น เพราะความไม่รู้ ก็เลยถือว่าสิ่งที่เกิดนั้นเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา เช่น รูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น แต่เพราะความไม่รู้ก็ยึดถือรูปนั้นว่า เป็นเรา แม้แต่สภาพของจิตใจ หรือความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่เมื่อไม่รู้ก็ยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่า เป็นเรา
เพราะฉะนั้น จากการที่เคยเป็นเราทั้งหมด ความรู้โดยการศึกษา จะทำให้เข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด ซึ่งมีจริงๆ ที่มีจริงๆ เพราะว่าเกิดขึ้นปรากฏ ถ้าไม่เกิดปรากฏ ก็ไม่มีใครสามารถจะไปรู้ ไปเห็น ไปเข้าใจได้ แต่เพราะว่าในขณะนี้เอง สิ่งที่ปรากฏเป็นสิ่งที่มีจริง และเกิดขึ้นแล้วจึงปรากฏ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ตรงกับไตรลักษณะที่ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ สภาพธรรมใดที่มีปัจจัยเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับไป ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา
สิ่งที่มีจริงที่เรียกว่าธรรมะ คือ สิ่งที่เคยมี สิ่งที่มีอยู่ และสิ่งที่จะมีต่อไป ตามเหตุ ปัจจัย ทั้งหมดนี้เรียกว่าธรรมะไช่หรือไม่ครับ
สิ่งที่มีจริงที่เคยเกิดแล้วดับไปแล้ว (ในอดีต) ที่จะเกิดต่อไป (ในอนาคต) สิ่งที่กำลังมีอยู่ (ปัจจุบัน) ทั้งหมดเป็นธรรมะ
ขอขอบพระคุณสำหรับการอธิบายที่ใช้ภาษาได้อย่างรัดกุม เนื่องจากกระผมไม่เคยได้ศีกษาธรรมะมาก่อน เมื่อได้อ่านคำอธิบายจากมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาทำให้เข้าใจได้ง่าย และแทบจะไม่มีข้อขัดแย้งให้สงสัยในภาษาที่ใช้ ทำให้ความเข้าใจชัดเจน พ้นไปจากการติดกับดักของภาษา ต้องขอชมเชยเป็นอย่างยิ่ง