ขอเรียนถามเรื่องวิบาก

 
พุทธรักษา
วันที่  25 ก.ย. 2550
หมายเลข  4922
อ่าน  1,872

ข้อความบางตอน ในหนังสือ "ปรมัตถธรรมสังเขป" กล่าวว่า ... " ... ขณะใดเห็นรูป สีสันวัณณะที่ "น่าพอใจ" จักขุวิญญาณที่เกิดขึ้น เป็นกุศลวิบาก."

ทำไมอารมณ์ของวิบากจิต ของแต่ละคนจึงต่างกันทั้งๆ ที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสในสิ่งเดียวกัน ตัวอย่างเช่น กลิ่นทุเรียน "น่าพอใจ" สำหรับบางคน แต่ "ไม่น่าพอใจ" สำหรับบางคน.เป็นต้น. แม้แต่การเกิดในอบาย สัตว์นั้นยังพอใจในภพนั้นๆ ทั้งๆ ที่เป็นอกุศลวิบาก.

ผิดถูกประการใด กรุณาแนะนำด้วยค่ะ.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 26 ก.ย. 2550

วิบาก คือ ผลของกรรม ความยินดีพอใจ และไม่พอใจ ไม่ใช่วิบาก เนื่องจากจิตเป็นนามธรรมที่เกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็วมาก จิตขณะเห็นเป็นวิบาก รูปสีสันวัณณะ ไม่ใช่วิบาก จิตที่เกิดต่อเนื่องในชวนวิถีไม่ใช่วิบาก

จริงอยู่ สิ่งเดียวกัน แต่หลายคนรู้ในสิ่งเดียวกันที่ส่วนมากสมมติว่าดี สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ที่ดี จิตที่รู้เป็นกุศลวิบาก ส่วนความพอใจและไม่พอใจที่เกิดภายหลังไม่ใช่วิบาก ... ความพอใจในภพ ในขันธ์ที่ตนมีหรือเป็นอยู่เป็นตัณหาประเภทหนึ่ง เรียกว่า ภวตัณหา เป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งหลายที่ยังมีตัณหา หลังจากเกิดขึ้นครั้งแรกในทุกภพภูมิ ย่อมมีความพอใจในความมีขันธ์ของตน

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Sam
วันที่ 26 ก.ย. 2550

ขอให้แยก "ความน่าพอใจ" และ "ความไม่น่าพอใจ" ออกจาก "ความพอใจ" และ "ความไม่พอใจ" เพราะว่าขณะที่กุศลวิบากจิตเกิดขึ้น ย่อมรู้อารมณ์ที่น่าพอใจ และขณะที่อกุศลวิบากจิตเกิดขึ้น ย่อมรู้อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ โดยที่ต้องไม่ลืมว่าวิบาก เป็นนามธรรมเท่านั้น รูปไม่ใช่วิบาก

ส่วนความพอใจ หรือความไม่พอใจที่เกิดขึ้น เป็นขณะจิตที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล หรือแม้แต่สัตว์ชนิดต่างๆ ก็มีความพอใจได้ แม้แต่ในอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจหรืออาจไม่พอใจในอารมณ์ที่น่าพอใจ วิบากจิตที่รู้อารมณ์ที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ กับจิตที่เกิดขึ้นพอใจหรือไม่พอใจ เกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็วมาก ยากที่บุคคลทั่วไปจะรู้ได้ แต่พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งธรรมทั้งปวง และได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด

การศึกษาธรรมและสอบถามท่านผู้รู้ จะช่วยละคลายความสงสัยได้

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 26 ก.ย. 2550

จิตเกิดดับอย่างรวดเร็ว จิตเกิดขึ้นทีละขณะแล้วก็ดับไป ขณะที่ได้กลิ่น รู้อารมณ์ที่ดี ขณะนั้นเป็นผลของกุศลวิบาก หลังจากได้กลิ่น ชวนะ เป็นโลภะ หรือโทสะ ก็ได้ ตามการสะสมของแต่ละคนไม่เหมือนกันค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 26 ก.ย. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขณะที่วิบากจิตเกิด เช่น เห็น ได้ยิน เป็นต้น ขณะที่เห็น ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น สิ่งที่ถูกเห็นเรียกว่า อารมณ์ (อารมณ์ของจิตเห็น) ขณะที่เห็นสิ่งที่ดีเป็นกุศลวิบาก ขณะที่เห็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นอกุศลวิบาก เมื่อจิตเห็นดับไป จิตอื่นๆ ก็เกิดต่อจนถึง ชวนจิต ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นอกุศลและกุศลบ้าง ซึ่งการจะเป็นกุศลหรืออกุศลนั้น แล้วแต่การสะสมของบุคคลนั้น ที่สะสมมาครับ แม้จะเห็นสิ่งเดียวกัน (อารมณ์) แต่จิตก็ต่างกันก็ได้ คือ เป็นกุศลหรืออกุศล เช่น การเห็นพระพุทธเจ้า สิ่งที่ถูกเห็นเป็นอารมณ์ที่ดีมาก เป็นกุศลวิบาก แต่ไม่จำเป็นว่าเมื่อเห็นสิ่งที่ดีมากแล้วจะต้องเป็นกุศลจิตครับ พวกไม่นับถือศาสนาพุทธหรือเห็นผิด เห็นพระพุทธเจ้าแล้วก็เกิดโทสะ เพราะอะไร เพราะเขาสะสมความเห็นผิดมานั่นเอง บางพวกเห็นพระพุทธเจ้า เกิดศรัทธา (กุศลจิต) เพราะเขาสะสมความเห็นถูกมา บางพวกเห็นพระพุทธเจ้า เกิดอกุศลจิตที่เป็นโลภะที่ติดข้องในรูปพระพุทธเจ้า เพราะสะสมมาครับ ดังนั้น วิบากจิต เช่น การเห็น ... ได้ยินที่ดี หรือไม่ดี (อารมณ์) ไม่ใช่ตัวตัดสินว่า จิตจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตครับ แล้วแต่การสะสมมาจริงๆ ลองอ่านข้อความในพระไตรปิฎกนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 26 ก.ย. 2550
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ครูโอ
วันที่ 26 ก.ย. 2550

จะได้รับอารมณ์อะไร ก็แล้วแต่ "กุศลกรรม อกุศลกรรม" ที่จะให้ผล แต่จะรู้สึก คิดนึกอย่างไร ก็แล้วแต่ "เจตสิก ต่างๆ " ที่จะปรุงแต่งจิต ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ตุลา
วันที่ 27 ก.ย. 2550

ขออนุโมทนากับความคิดเห็นของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
อิคิว
วันที่ 27 ก.ย. 2550

จักขุวิญญาณเป็นวิบาก จัดเป็นกามาวจรจิต ชนิดอเหตุกจิต ถ้าจักขุวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก ก็เรียกว่า อเหตุกกุศลวิบากจิต ถ้าจักขุวิญญาณที่เป็นอกุศลวิบาก ก็เรียกว่า อกุศลวิบากจิต อเหตุกจิตคือจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ แต่เป็นจิตที่เป็นผลของกรรมในอดีต ไม่เป็นไปในอำนาจ

เหตุในที่นี้คือเหตุ ๖ ได้แก่โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ

ปรมัตถ์ธรรมสังเขป หน้า 256 กล่าวว่า

จักษุวิญญาณ ไม่ได้เกิดร่วมกับ โลภะ โทสะ โมหะ และโสภณเจตสิกใดๆ เลย จักษุวิญญาณเกิดร่วมกับเจตสิกเพียง ๗ ดวง คือ ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก มนสิการเจตสิก ซึ่งเจตสิกทั้ง ๗ ดวงนี้เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ เป็นเจตสิกที่ต้องเกิดกับจิตทุกดวง ฯลฯ

จักษุวิญญาณเป็นวิบากจิตที่มีสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวงเท่านั้น ไม่มีโสภณเจตสิกหรืออกุศลเจตสิกใดๆ เกิดร่วมด้วยเลย ฉะนั้น จักษุวิญญาณจิตจึงเป็นอโสภณจิต แต่ไม่ใช่อกุศลจิต ฯลฯ ..

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
พุทธรักษา
วันที่ 27 ก.ย. 2550

เข้าใจ ชัดเจน ขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
พุทธรักษา
วันที่ 28 ก.ย. 2550

จากข้อ ๘. เข้าใจแล้วว่า การศึกษาเรื่อง "จิต" อย่างละเอียด ให้เข้าใจ มีความสำคัญมาก

ขออนุโมทนาในความกกรุณาของท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Komsan
วันที่ 28 ก.ย. 2550

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
noynoi
วันที่ 12 ส.ค. 2552

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 12 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Kalaya
วันที่ 14 พ.ค. 2563

อนุโมทนาค่ะ และขอบคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 20 มี.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ