ราคะ จาก พระไตรปิฎก

 
pirmsombat
วันที่  6 พ.ย. 2550
หมายเลข  5405
อ่าน  1,804

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 35

เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้หนึ่งมีความกำหนัดต่อหญิงผู้หนึ่ง ให้ของกินเครื่องนุ่งห่ม พวงมาลัย และเครื่องประดับเป็นต้น แล้วอยู่ครองเรือนกัน.นางประพฤตินอกใจเขาคบหาชายอื่น. เขาคิดว่า เราคงไม่ให้ของขวัญอันเหมาะสมแก่นางเป็นแน่ (นางจึงมีชู้) จึงเพิ่มของขวัญให้. นางยิ่งประพฤตินอกใจหนักยิ่งขึ้น. เขาคิดว่า นางนี่แม้เราให้ของขวัญ ก็ยังประพฤตินอกใจอยู่นั่นแหละ. ขืนอยู่ครองเรือนกันก็จะก่อกรรมทำเข็ญให้ เราจะไล่นางไปเสีย ดังนี้ จึงด่าเสียจนหนำใจ ท่ามกลางประชุมชน. แล้วปล่อยไปด้วยการกล่าวห้ามว่าอย่าเข้ามาบ้านข้าอีกต่อไป. นางไม่อาจทำความสนิทสนมกับเขาไม่ว่าด้วยอุบายไรๆ จึงเที่ยวไปกับพวกนักฟ้อนรำเป็นต้น. เพราะได้เห็นหญิงนั้น เขาไม่เกิดความเสียใจเลย แต่กลับเกิดความดีใจ. พึงทราบความในข้อเปรียบเทียบนั้น. ความอาลัยในอัตภาพของภิกษุนี้ พึงเห็นเหมือนเวลาที่ชายเกิดกำหนัดในหญิง. เวลาที่ประคับประคองอัตภาพ พึงเหมือนเวลาที่ชายให้ของกินและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น แล้วอยู่ครองเรือนกัน. ความที่อัตภาพ อันภิกษุรักษาอยู่นั่นแหละ เกิดอาพาธด้วยโรคดีกำเริบเป็นต้น พึงเห็นเหมือนเวลาที่หญิงนั้นประพฤตินอกใจ. เวลาที่กำหนดไว้ว่า โรคเมื่อไม่ได้ยาจึงเป็นอย่างนี้ จึงกอบยา พึงเห็นเหมือนชายกำหนดได้ว่า (หญิงนี้) ไม่ได้ของขวัญ อันคู่ควรแก่ตน จึงประพฤตินอกใจ จึงเพิ่มของขวัญให้. ความที่เมื่อโรคอย่างหนึ่งมีดีกำเริบเป็นต้น ที่ภิกษุประกอบยารักษาอยู่กลับมีอาพาธด้วยโรคอย่างอื่นกำเริบขึ้น พึงเห็นเหมือนเมื่อชายเพิ่มของขวัญให้หญิงนั้น ก็ยังประพฤตินอกใจอีก. การถึงความหมดอาลัยในอัตภาพนั้นว่า เดี๋ยวนี้ เราไม่ได้เป็นทาส ไม่ได้เป็นกรรมกรของเจ้า เราเที่ยวบำรุงเจ้าถ่ายเดียว ในสังสารอันหาเบื้องต้นมิได้เราไม่ต้องการอะไรจากเจ้า เจ้าจงขาดสูญไป หรือแตกทำลายไปก็ตาม ดังนี้แล้วกระทำความเพียรให้มั่น ถอนกิเลสด้วยมรรค พึงเห็นเหมือนการที่ชายด่าหญิงเสียจนหนำใจในท่ามกลางประชุมชน แล้วฉุดคร่าออกจากเรือนเพราะเห็นหญิงนั้นเที่ยวฟ้อนรำกับพวกนักฟ้อนรำเป็นต้น ความเสียใจย่อมไม่เกิดแก่ชายนั้น มีแต่ความดีใจอย่างเดียวเกิดขึ้นฉันใด ภิกษุนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บรรลุพระอรหัตแล้ว ความเสียใจย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะได้เห็นอัตภาพมีความป่วยไข้ด้วยโรคดีกำเริบเป็นต้น เกิดความดีใจอย่างเดียวว่า เราจักพ้นจากทุกข์ อันเกิดแต่การฆ่า การจองจำ และการบริหารขันธ์. ก็อุปมานี้พึงทราบว่า ยกมาเพื่อทำเนื้อความนี้ให้ชัดแจ้งว่า ชายย่อมละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจต่อหญิง เพราะรู้ว่าความเสียใจย่อมเกิดแก่ผู้มีจิตปฏิพัทธ์ จิต เมื่อไม่มีปฏิพัทธ์ ความเสียใจนั้น ก็ไม่มี ดังนี้ฉันใด ภิกษุนี้รู้ว่า เมื่อเราเริ่มตั้งความเพียรหรืออบรมอุเบกขาอยู่ ย่อมละเหตุแห่งทุกข์ได้ ไม่ใช่ละได้โดยประการอื่น ดังนี้ แล้วทำการเริ่มตั้งความเพียร และอบรมอุเบกขาทั้งสองอย่างนั้นให้สมบูรณ์ ย่อมละเหตุแห่งทุกข์ (คือตัณหา) ได้ ฉันนั้น.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
takecare
วันที่ 6 พ.ย. 2550
สุดยอด.........พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 7 พ.ย. 2550

........................ขออนุโมทนา........................
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 7 พ.ย. 2550

ทุกอย่างจะละได้ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอเพิ่มสมบัติค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ