ขันธ์ 5
ศึกษาเพิ่มเติมได้จากพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ และเล่มที่ ๗๗ ค่ะ
ขันธ์ ๕ (รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์) เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เพราะเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ เท่านั้น
ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จึงไม่ควรที่จะตามเห็นขันธ์ ๕ ว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคลล ในชีวิตประจำวันไม่พ้นจากขันธ์ ๕ เลย ไม่ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ขณะที่กุศลจิตเกิด ขณะที่อกุศลจิตเกิด เป็นต้น เป็นขันธ์ ทั้งนั้น ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่หลงเข้าใจผิดไปยึดถือในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ครับ
* พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๗ (ฉบับของมหามกุฏราชวิทยาลัย) คือ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ในแต่ละสูตรๆ เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ประมวลเรื่องขันธ์ ๕ ไว้อย่างครบถ้วนครับ *
อาจจะกล่าวได้หมดว่า ขันธ์ ๕ มีอะไรบ้าง มีรูปขันธ์ ... แต่ควรเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ขันธ์ ๕ คือ สภาพธรรมที่มีจริง สิ่งใดมีจริง สิ่งนั้นเป็นธรรม เสียง มี จริงไหม เป็นธรรม เมื่อเริ่มเข้าใจจากการศึกษาก็อาจจะกล่าวหรือตอบได้ว่า เสียงเป็นธรรม เป็นรูปขันธ์ แต่การศึกษาพระธรรม เป็นไปเพื่อการอบรมปัญญา เพื่อเข้าใจว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ในขณะนี้เอง เสียงกำลังมี ขันธ์ ๕ กำลังมี แต่ ไม่รู้ความจริงว่าเป็นแต่ธรรม จึงควรเริ่มเข้าใจก่อนว่าธรรมคืออะไร เมื่อเข้าใจแล้ว เมื่อได้ยินคำใด ไม่ว่าจะเป็นคำว่าขันธ์ ๕ อายตนะ ธาตุ ก็จะไม่สับสน ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้เอง เพียงแต่แสดงโดยนัยต่างๆ เช่น แสดงโดยขันธ์ ๕ อายตนะ ตามแต่อุปนิสัยของสัตว์โลกว่าจะเข้าใจสิ่งใด ก็ทรงแสดงสิ่งนั้น แต่ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริง ขณะนี้เอง !