คำว่า...อโหสิกรรม
อโหสิกรรม
ได้ยินคำนี้บ่อยมาก เมื่อมีการกระทำที่ล่วงอกุศลกรรมบถ ก็จะพูดกันว่า "ขออโหสิกรรม" บ้าง "โหสิ" บ้างขอเรียนถามท่านผู้รู้ภาษาบาลีว่า การใช้คำว่า "อโหสิกรรม" เช่นนี้ ถูกต้องหรือไม่ ขอช่วยอธิบายความหมายของคำนี้ และ ช่วยยกตัวอย่างที่ถูกด้วยค่ะ ...
อนุโมทนาค่ะ
คำว่า "อโหสิกรรม" ตามศัพท์ แปลว่า กรรมได้มีแล้ว แยกศัพท์ดังนี้ อ แปลว่า ได้ โหสิ แปลว่า มีแล้ว กรรม แปลว่า กรรม บางนัยคำว่า "อโหสิกรรม" หมายถึง กรรมที่ไม่ให้ผลก็มี แต่ในปฏิสัมภิทามรรคมีความหมายถึง ๑๖ นัย ในภาษาพูดของคนไทยเรา หากกระทำผิดต่อผู้มีคุณ เมื่อสำนึกผิดก็มักใช้คำว่าขออโหสิกรรม ผู้ถูกล่วงเกิน ให้อโหสิกรรม ไม่ถือโทษ ก็ดูเหมือนจะเข้าใจกันแต่จะถูกต้องตามหลักพระธรรมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ
ขอเชิญคลิกอ่านที่นี่ ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เรื่องกรรม เป็นเรื่องที่ละเอียด ในชีวิตประจำวันก็พอที่จะเห็นได้ว่ากรรมวิจิตรมากการเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผลของกรรม (กำเนิดวิจิตร เพราะกรรมวิจิตร) เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เนื่องจากว่าเราเกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน ทำกรรมไว้มากมาย ดังนั้นกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทั้งที่เป็นกรรมดีและเป็นกรรมที่ไม่ดี เมื่อมีโอกาสที่จะให้ผลเกิดขึ้น ผลก็เกิดขึ้น จึงทำให้ได้รับในสิ่งที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ทำให้มีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง เพราะกรรมที่ได้กระทำมาแล้วทั้งนั้น (แม้แต่ เห็นในขณะนี้ ก็เป็นผลของกรรม แต่ไม่สามารถที่จะทราบว่าเป็นเพราะกรรมชนิดไหนที่ให้ผล) คำว่า อโหสิกรรม ภาษาบาลี คือ อโหสิ กมฺมํ ซึ่งแปลว่า กรรมได้มีแล้ว กล่าวคือ กรรมที่ได้กระทำไปแล้ว (อโหสิ - ได้มีแล้ว, กมฺมํ - กรรม, การกระทำ)
ขอเรียนเชิญผู้ศึกษาธรรมร่วมกันทุกๆ ท่าน เข้าไปอ่านเรื่อง อโหสิกรรม ตามที่อาจาย์ประเชิญได้ยกมา เพราะเป็นประโยชน์เพิ่มพูนความเข้าใจได้มากทีเดียว ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
ได้คลิกเข้าไปอ่านแล้ว กรรมเป็นเรื่องละเอียดมากค่ะ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
ในพระไตรปิฎกมีปรากฏคำว่า "ขอให้ (อีกฝ่ายหนึ่ง) อดโทษให้ " แต่ยุคสมัยนี้ประโยคนี้ไม่ค่อยนิยมใช้กันแล้ว และคงจะไม่ชินปากด้วยถ้าจะพูดกันจริงๆ เพราะไม่ได้สะสมมาที่จะขอโทษผู้อื่นด้วยคำๆ นี้ครับ คำบาลีที่มีปะปนอยู่ในภาษาไทย ส่วนใหญ่ผิดเพี้ยนมาก แล้วก็เป็นไปด้วยความเข้าใจที่ตื้นเขินที่พูดกันจนชินปากมานาน โดยที่ไม่รู้ความหมายอันลึกซึ้งของคำๆ นั้นเลยชินเสียจนเราหลงเข้าใจผิดว่า "เรารู้แล้ว" ใครจะมีกิริยาอาการอย่างไร พูดคำใดออกมาขณะไหน ก็เหมือนกับว่ารู้แล้ว ทราบแล้วตามนั้น (แต่จริงๆ แล้วไม่รู้อะไรเลย) ผู้ที่ศึกษาพระธรรมจนรู้ถูก เข้าใจถูก ตรงตามที่ทรงแสดง แม้จะรู้ว่าคำๆ นั้นไม่ถูกแต่ก็จะไม่คัดค้านหรือปรับวาทะกับผู้ใดด้วยอกุศลจิต เพราะรู้แล้วว่า เขาใช้กันมาตามความเคยชินอย่างนั้น และเมื่อตนทำผิดบ้าง จะใช้ถ้อยคำใดเพื่อสื่อให้ผู้ที่ตนล่วงเกินเห็นโทษของตน แล้วยกโทษให้ แม้จะเป็นคำที่ใช้จนเคยชินเพราะร่วมสมัย ก็ย่อมที่จะพูดได้ เพราะเห็นแล้วว่า ถ้อยคำที่พูดไม่สำคัญเท่ากับเจตนาที่แสดงออกมาโดยการกระทำทางกาย วาจา ที่มาจากกุศลจิตครับ (แต่ถ้าใช้คำถูกเพราะเข้าใจถูกด้วยก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้นไปครับ)
ขณะใดที่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ แสดงโทษนั้น เพื่อการที่จะสำรวมระวังต่อไป ย่อมเป็นประโยชน์ เพราะขณะนั้น เป็นผู้ตรง ที่สามารถเห็นถึงอกุศลของตนเองตามความเป็นจริง ไม่ดึงดันด้วยความถือตน สำคัญตน หรือเข้าข้างตน สิ่งนี้ย่อมดีกว่าการที่เราเรียนมากๆ รู้คำเยอะๆ จำความหมายได้เยอะๆ แต่ว่าพอถึงเวลาที่เผลอล่วงเกินผู้อื่นเข้า กลับไม่ยอมแม้แต่จะขอโทษ ไม่ยอมที่จะเห็นคุณของอภัยทาน ไม่ยอมที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมครับ
"...ขณะใดที่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ แสดงโทษนั้น เพื่อการที่จะสำรวมระวังต่อไป ย่อมเป็นประโยชน์ เพราะขณะนั้น เป็นผู้ตรง ที่สามารถเห็นถึงอกุศลของตนเองตามความเป็นจริง ไม่ดึงดันด้วยความถือตน สำคัญตน หรือเข้าข้างตน สิ่งนี้ย่อมดีกว่าการที่เราเรียนมากๆ รู้คำเยอะๆ จำความหมายได้เยอะๆ แต่ว่าพอถึงเวลาที่เผลอล่วงเกินผู้อื่นเข้า กลับไม่ยอมแม้แต่จะขอโทษ ไม่ยอมที่จะเห็นคุณของอภัยทาน ไม่ยอมที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมครับ..."
ขออนุโมทนาครับ
ได้รับความรู้ความเข้าใจที่ละเอียดดีจังเลย
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาทั้งผู้ถามและผู้ตอบค่ะ