อกิริยทิฏฐิ
อกิริยทิฏฐิ
อกิริย (ไม่เป็นอันทำ) + ทิฎฐิ (ความเห็น)
ความเห็นว่ากรรมที่ทำแล้วไม่เป็นอันทำ เป็นการห้ามกรรม หมายถึง ความเห็นผิดซึ่งยึดถือว่า บาปบุญที่ทำแล้ว ย่อมเป็นเพียงสักแต่ว่าอาการกระทำเท่านั้น คือ ทำความดีก็เป็นเพียงสักแต่ว่าทำเท่านั้นไม่เป็นบุญ ทำความชั่วก็เป็นเพียงสักว่าทำเท่านั้น ไม่เป็นบาป
เจ้าลัทธิชื่อ ปูรณกัสสปะ
พระพุทธโฆสาจารย์พรรณนาไว้ในสุมังคลวิลาสินีว่าท่านปูรณกัสสปะ เป็นเจ้าลัทธิของอเจลก พวกไม่นุ่งผ้า (เปลือย) ที่มีชื่อว่าปูรณะนั้น สมัยตอนเป็นเด็กหนุ่มได้ทำงานจ้างในตระกูลหนึ่งซึ่งเป็นคนที่ร้อยพอดี ท่านจึงได้นามว่าปูรณ แปลว่า เต็มหรือครบ ตามประวัติของท่านเป็นบุตรของพราหมณ์ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์กัสสปโคตร ท่านได้เรียนจบคัมภีร์เวท ครบ ๓ เวท ต่อมาได้เป็นเจ้าลัทธิที่เรียกว่า อกิริยทิฏฐิ
ท่านสอนว่าการทำใดๆ ไม่มีผล ถ้าไม่วัตถุเป็นเครื่องตอบแทน แม้แต่การทำดี ก็ต้องมีคนชมต้องได้เงินหรือได้สิ่งของต่างๆ เป็นเครื่องตอบแทนหากทำดีไม่มีคนชมเงินก็ไม่ได้หรือเป็นสิ่งของใดๆ ก็ไม่มีตอบแทนการทำนั้นๆ เปล่าประโยชน์ (เป็นโมฆะ) การทำชั่วต้องถูกด่า ถูกตำรวจจับเข้าคุกตะรางทันทีตามกฏหมาย หากทำชั่วแล้วไม่มีใครด่า ไม่ถูกจับเข้าคุกหรือไม่มีใครเห็นสิ่งทำไปก็เป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ เป็นโมฆะเรื่องเปล่าประโยชน์ทั้งนั้น สรุปว่า ทำดีทำชั่วต้องมีผลทางวัตถุเป็นเครื่องตอบแทนทุกครั้งที่ทำ ปัจจุบันนี้มีผู้ที่ปฏิญาณตนว่านับถือพระพุทธศาสนาหรือเรียกตนเองว่าพุทธศาสนิกชน แต่กลับไปปฏิบัติตามคำสอนของปูรณกัสสปะ เจ้าลัทธินี้ บางครั้งก็มาพูดว่าเรามันทำบุญไม่ขึ้นทำดีแล้วไม่ได้ดี ส่วนคนทำชั่วกลับได้ดี ทำดีได้ดีมีที่ไหนทำชั่วได้ดีมีถมไปหรืออะไรทำนองนี้มีอยู่ทั่วไป ไฉนไม่เลิกบ่นเพ้อเสียที่แล้วมาใคร่ครวญถึงสอนของพระพุทธเจ้าที่แท้จริงกันดีไหมครับ