ศีล...ในชีวิตประจำวัน
ศีล ๕ รักษาง่าย หรือยาก (วัดใจเรื่องศีล)
เมื่อสำรวจตัวเอง จึงรู้ว่ายากมากจริงๆ ศีล ๕ ในชีวิตประจำวัน ก็ไม่เคยบริสุทธิ์ ครบทั้ง ๕ ข้อ
ศีลข้อ ๑ ก็ยังมีการฆ่า ปลวก มดเล็กๆ ยุง เป็นต้น
ศีลข้อ ๒ ข้อนี้พอจะรักษาได้สมบูรณ์ (แต่ถ้าโอกาสอำนวย และวัตถุนั้นเป็นที่รัก ที่ พอใจมากๆ ๆ และลับหู ลับตา ก็ชักไม่ค่อยแน่ใจ)
ศีลข้อ ๓ ยังไม่ล่วง
ศีลข้อ ๔ ข้อนี้ด่างพร้อย บางครั้งทะลุ ขาด เพราะทุกวันต้องพูด แม้ไม่มุสา แต่ก็ สัมผัปปลาปวาจา ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา เป็นประจำ คำพูดเป็นไปด้วย "เดรัจฉาคาถา" บ่อยๆ
ศีลข้อ ๕ ข้อนี้ไม่ล่วง (แต่ไม่ใช่เพราะเห็นโทษ) เพราะร่างกายไม่รับของมึนเมา ชีวิตประจำวันของฆราวาส ศีลแต่ละข้อ เป็นเครื่องสำรวจตัวเองว่า ข้อไหนที่ยังหย่อน ก็จะสำรวมระวังเพิ่มขึ้น ข้อไหนที่สมบูรณ์ และ ข้อไหนที่ยังไม่สมบูรณ์ (วัดใจ เรื่อง ศีล)
สำหรับพระโสดาบัน ท่านเป็นอริยบุคคล เป็นผู้สมบูรณ์ในศีล ๕
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
เมื่อเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรมและย่อมมีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นไม่อยู่ในอำนาจบังคับ บัญชา ก็จะเห็นได้ว่าตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน หากเหตุปัจจัยพร้อมก็สามารถล่วงศีลได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่ตัวตนที่จะพยายามรักษาศีล หรือมีตัวตนที่จะพยายามรักษา แต่จะรักษาได้ดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับสภาพธรรมฝ่ายดีคือปัญญา เมื่อปัญญามากขึ้นไม่ต้องมีตัวตนที่จะไปรักษา พยายาม ธรรมทำหน้าที่รักษากาย วาจาให้เป็นไปในทางที่ดี คล้อยตามกำลังของปัญญาที่เจริญขึ้นจากการฟังพระธรรมที่ถูกต้องนั่นเองครับ
จึงควรพิจารณาว่าศีลจะบริสุทธ์ไม่ล่วงอีกเลยเมื่อเป็นพระโสดาบัน หนทางที่จะไปถึงนั้นคืออย่างไร บางครั้งเรามักจะนึกถึงศีล 5 ศีล 8 ศีลของเพศบรรพชิต แต่หากเข้าใจในเรื่องของการอบรมปัญญาแล้ว ศีลอีกประเภทหนึ่งเป็นไปเพื่อการไปสู่ความเป็นพระโสดาบัน นั่นก็คือ อินทรียสังวรศีล คือการสำรวมทางตา หู...ใจ ขณะไหน ขณะที่สติปัฏฐานเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ทางตา หู..ใจ ขณะนั้นมีศีลแล้วคือ อินทรียสังวรศีลอันไปเพื่อดับกิเลสเป็พระโสดาบัน จนทำให้ศีล 5 บริสุทธิ์
ดังนั้นเมื่อมีความเข้าใจถูกจึงไม่ใช่จะพยายามให้ศีล 5 บริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นไปไม่ได้ แต่อบรมหนทางให้ศีล 5 บริสุทธิ์ คือการอบรมเจริญสติปัฏฐานรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา นั่นก็เป็นศีลแล้ว (อินทรียสังวรศีล) อันเป็นไปเพื่อการดับกิเลสและเป็นการเดินหนทางถูกอย่างแท้จริง ซึ่งก็เป็นศีลในชีวิตประจำวันเช่นกัน
ขออนุโมทนาครับ
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขออนุโมทนา
ศีล เป็น คุณรวมกำลังอย่างเลิศ ศีล เป็นเสบียงทางอย่างสูงสุด ศีล เป็นผู้นำทางอย่างประเสริฐสุด เพราะ ศีล (มีกลิ่น) ขจรไปทั่วทุกทิศ (พระโอวาทานุสาสนี)
การสำรวจตนเองจะถูกต้องเถรตรงตามความเป็นจริงได้ ก็ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะที่เกิดขึ้นระลึกไปสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ และสติสัมปชัญญะนี้ก็มาจากการได้ยินได้ฟังพระธรรมจนเป็นปัญญาของตนเอง แต่สติสัมปชัญญะก็เกิดยาก ในขณะที่ความคิดนึกเกิดบ่อยกว่าและส่วนใหญ่ก็ตรึกด้วยอกุศล การระลึกได้ที่จะประพฤติดีด้วยกายวาจาที่ดีงาม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ก็เป็นกุศลขั้นหนึ่งในขั้นของศีลควรอย่างยิ่งที่จะเจริญ ผู้ที่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานย่อมรู้กำลังของกุศล อกุศลของตน ตามความเป็นจริง เมื่อสติเกิด ย่อมระลึกได้ในเรื่องของศีลซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวันว่า ศีลข้อใดที่ยังมีการล่วงเป็นประจำ ศีลข้อใดนานๆ ทีถึงจะล่วงออกไปที ศีลข้อใดที่วิรัติได้บ้าง ศีลข้อใดที่วิรัติได้บ่อย และศีลข้อใดไม่เคยล่วงเลย ยิ่งปัญญาเจริญมาก ก็ยิ่งที่จะสามารถพิจารณาได้ละเอียดขึ้นไปจนถึงความดำริในใจในทางกุศลหรืออกุศลแม้ขณะที่ไม่ได้ล่วงศีล และละเอียดขึ้นไปจนกระทั่งเห็นจริงๆ ว่าเป็นธรรมะทั้งหมด ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล สะสมกำลังและความละเอียดของปัญญาไปจนกว่าจะสามารถประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมะโดยทั่ว และดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
ผู้ที่มีปัญญา ย่อมจะมีเหตุให้คิดได้ว่า "ไม่ควรเข้าข้างตนเอง" เพราะสามารถระลึกได้แม้อกุศลเพียงเล็กน้อยที่มาทำให้เฉไป ทำให้ไม่ตรง ด้วยอคติประการต่างๆ และเพราะรู้ว่าตนยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ขณะใดที่หลงลืมสติ ประกอบกับกิเลสที่สะสมมามีกำลังมากจนถึงกับทำให้ล่วง ก็อาจจะล่วงได้ พิจารณาจนรู้อยู่แก่ใจว่ากำหนดไว้ก่อนไม่ได้ ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามเจตนาแต่เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น เรื่องของศีลที่จะงดเว้นได้ ก็ต้องเป็นไปตามวิรตีเจตสิกที่จะเกิดขึ้นวิรัติทันทีในขณะนั้น ซึ่งหลักใหญ่มาจากการสะสมคุณธรรมในอดีต และการได้เกิดปัญญาเห็นโทษของทุจริตกรรมประการต่างๆ หลังจากที่ได้ยินได้ฟังพระธรรมนั่นเอง ผู้ที่มีความเข้าใจในพระธรรม ย่อมที่จะไม่มุ่งหน้าที่จะรักษาศีลด้วยความหวังว่าจะเป็นคนดีได้ตามความต้องการหรือมุ่งหน้าที่จะศึกษาเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานให้มากๆ เพื่อให้สติเกิดมากๆ โดยที่ไม่เคยจะน้อมนำพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ในเรื่องของกุศลขั้นอื่นๆ มาพิจารณาประกอบกับความประพฤติของตนที่มีต่อผู้อื่นเลย
...ขออนุโมทนาครับ...
ศีลข้อ ๑ ส่วนใหญ่ไม่ล่วง แต่สัตว์เล็ก เช่น มด ระมัดระวังน้อยเกินไปจึงเป็นเหตุให้มดตาย
ข้อ ๔ ล่วงค่อนข้างบ่อย
ข้อ ๒ ๓ ๕ ไม่ล่วงแน่นอน
ขออนุโมทนาค่ะ
ตราบใดที่ยังไม่ใช่ท่านพระโสดาบันผู้ซึ่งไม่ล่วงศีล ๕ อีกเลย ในชีวิตปัจจุบันยังมีกิเลสอย่างหยาบซึ่งไม่พ้นไปจาก โลภ โทสะ โมหะ เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมก็กระทำทุจริตกรรมล่วงศีลได้ ทุจริตกรรมทั้งหลายล้วนเกิดจากการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ในความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลทั้งสิ้น จึงควรที่จะศึกษาพระธรรม เห็นโทษของอกุศลกรรม อบรมเจริญกุศลทุกประการ ไม่ควรล่วงศีลเพราะเป็นปัจจัยไปเกิดในทุคติภูมิจึงไม่ควรประมาทกิเลสอย่างหยาบ ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาเพื่อขัดเกลากิเลสจนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ศีลบารมี เป็นคุณธรรม เป็นเครื่องช่วยให้ถึงฝั่ง ศีลเรียกว่าตบะ เพราะเผาความเศร้าหมองอันเกิดแต่ทุจริต
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องที่ระวังยากเป็นอย่างยิ่ง สืบเนื่องมาจากความเป็นผู้คุ้นเคยกับอกุศล และสั่งสมอกุศลมาอย่างมากมาย สังเกตได้ชัดว่าในชีวิตประจำวัน มีอกุศลรอบด้านเป็นไปตามการสั่งสมมาของแต่ละบุคคล ตามความเป็นจริงแล้วปกติคนเรามีอกุศลมากมาย ทั้งโลภะ ความติดข้อง ยินดี พอใจ มีโทสะ ความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจหรือ มีความริษยาผู้อื่น เป็นต้น แต่เมื่อใดที่ล่วงละเมิดศีล จะเป็นข้อหนึ่งข้อใดก็ตามเมื่อนั้น ย่อมแสดงให้เห็นถึงกำลังของ อกุศลว่ามีมาก การที่จะกำจัดอกุศลที่สั่งสมมาอย่างเนิ่นนานให้ออกไปจากจิตใจนั้น จะต้องใช้เวลาอันยาวนานทีเดียว ในการอบรมเจริญปัญญา สั่งสมความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ยิ่งๆ ขึ้นไป ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ เพราะได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จึงทำให้มีการระลึกได้ว่า ชีวิตที่กำลังดำเนินไปในแต่ละวันนั้น กาย วาจา และจิตใจ เป็นอย่างไร (วัดใจ....ตัวเองได้เลย)
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
คนที่มีพรหมวิหาร 4 สมบููรณ์ ศีลย่อมบริสุทธิ์
อนุโมทนาค่ะ
สำรวจตนเอง
พบว่า
ยังเป็น "คุณประมาท" อยู่ทุกวัน
บางข้อ รักษาไว้ได้ดี
และมีเป็นบางข้อ ที่เปื้อน ด่าง
หรือขนาดแหว่งไปบ้างนิดๆ หน่อยๆ ...ทุกวัน
และแม้จะเพียง เป็นบางข้อ ก็เรียกว่า ไม่ได้รักษาเป็นปกติ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ
จึงควรพิจารณาว่า ศีลจะบริสุทธ์ ไม่ล่วงอีกเลย เมื่อเป็นพระโสดาบัน หนทางที่จะไปถึงนั้นคืออย่างไร บางครั้งเรามักจะนึกถึง ศีล 5 ศีล 8 ศีลของเพศบรรพชิต แต่หากเข้าใจในเรื่องของ การอบรมปัญญาแล้ว
ศีลอีกประเภทหนึ่ง เป็นไปเพื่อการไปสู่ความเป็นพระโสดาบัน นั่นก็คือ อินทรียสังวรศีล คือการสำรวมทางตา หู...ใจ ขณะไหน ขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้ลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ทางตา หู..ใจ
ขณะนั้น มีศีลแล้ว คือ อินทรียสังวรศีลอันไปเพื่อดับกิเลส เป็พระโสดาบัน จนทำให้ศีล 5 บริสุทธิ์ ดังนั้น เมื่อมีความเข้าใจถูกจึงไม่ใช่จะพยายามให้ศีล 5 บริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นไปไม่ได้แต่อบรมหนทางให้ศีล 5 บริสุทธิ์ คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่มีในขณะนี้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา นั่นก็เป็นศีลแล้ว (อินทรียสังวรศีล) อันเป็นไป เพื่อการดับกิเลสและเป็นการเดินหนทางถูก อย่างแท้จริง ซึ่งก็เป็นศีลในชีวิตประจำวัน เช่นกัน
ขออนุโมทนาครับ
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอขอบพระคุณมากค่ะขออนุโมทนา