ร่วมด้วย...ช่วยกัน
ขอกราบบูชาคุณพระรัตนตรัย
การบังคับใครไม่ให้ทำอกุศลกรรม หรือไม่ให้มีอกุศลจิตนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่การช่วยให้บุคคลใดเกิดกุศลจิตและทำกุศลกรรมทีละเล็กทีละน้อยนั่นก็เป็นการลดอกุศลไปในตัว คือขณะที่กุศลจิตเกิดนั้น อกุศลจิตก็เกิดไม่ได้ และกุศลที่เกิดแล้วนั้นก็ให้ผลได้และยังเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลอื่นๆ ต่อไปอีกด้วย
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไมได้ แม้กุศลหรืออกุศลของตนเอง และกุศล อกุศลของผู้อื่น เพราะอาศัยเหตุปัจจัยไม่ใช่เราที่พยายามจะทำหรือจะให้เกิด แต่สะสมสิ่งใหม่ได้ ไม่มีคำว่าสายในการสะสมสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่ตัวตนที่พยายามแต่อาศัยเหตุปัจจัยคือการฟังพระธรรม คบสัตบุรุษ ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นต้น เป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดขึ้น เพราะอาศัยกัลยาณมิตรแนะนำสิ่งที่ดี การช่วยกัน แนะนำในทางที่ถูก ไม่ให้ไปทางเสื่อม แนะนำให้เจริญในทางกุศล นั่นจึงเป็นการเกื้อกูลที่ประเสริฐ หากไม่มีการฟังพระธรรม การคบสัตบุรุษและการตั้งตนไว้ชอบ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว การสะสมสิ่งใหม่ที่ดีๆ ในทางกุศลก็เจริญไม่ได้เลย
จะเห็นได้ว่าสภาพธรรมบังคับบัญชาไม่ได้ แต่ต้องอาศัยเหตุปัจจัย หากคบบุคคลที่เห็นผิดหรือเป็นพาลก็ทำให้เสื่อมจากกุศลธรรมเพราะย่อมแนะนำในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่แนะนำให้เห็นถูก เป็นต้น ซึ่งต่างกับการคบบุคคลที่เห็นถูก ผู้เป็นบัณฑิตย่อมแนะนำ นทางทีดี แนะนำให้เจริญกุศลทุกประการ ทั้ง ทาน ศีลและการอบรมสติปัฏฐานในทาง ที่ถูกต้องครับ
เมื่อสะสมความเห็นถูก กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา สะสมต่อไปให้เกิดความเข้าใจ มากขึ้น กุศลประการต่างๆ ก็เจริญมากขึ้น ค่อยๆ ขัดเกลากิเลสไปทีละเล็กละน้อย สมดัง พระพุทธพจน์ที่ว่า
[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔-หน้าที่ ๑๔
อนุปุพฺเพน เมธาวี โถก โถก ขเณ ขเณ กมฺมาโร รชตสฺเสว นิทฺธเม มลมตฺตโน.
"ผู้มีปัญญา (ทำกุศลอยู่) คราวละน้อยๆ ทุกๆ ขณะโดยลำดับ พึงกำจัดมลทินของตนได้ เหมือนช่างทองปัดเป่าสนิมทองฉะนั้น"
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น
ทุกคนมีอัธยาศัยที่แตกต่างกัน เพราะเหตุว่าได้สั่งสมมาทั้งกุศลและได้สั่งสมมาทั้งอกุศลอย่างหนาแน่นและเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ พฤติกรรมที่แสดงออกมาจึงมี ทั้งดีและไม่ดีและไม่เหมือนกันด้วย ถ้ากำลังของอกุศลมีมาก ย่อมเป็นเหตุให้บุคคลนั้นกระทำทุจริตกรรม ซึ่งเป็นไปตามการสั่งสมมาของบุคคลนั้น ห้ามไม่ได้ เพราะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิด ไม่มีใครที่ไม่เคยพลั้งพลาด แต่เมื่อผิด เมื่อพลั้งพลาดไปแล้ว ใครจะช่วยเตือน ใครจะช่วยบอก ใครจะช่วยแนะนำ ถ้าไม่ใช่มิตร (กัลยาณมิตร) ในชีวิตประจำวัน กัลยาณมิตรจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ อันจะทำให้ชีวิตดำเนินไปในทางที่ถูก ที่ควรมากยิ่งขึ้น
อกุศล ย่อมไม่มีใครต้องการที่จะให้เกิดขึ้น เพราะให้ผลเป็นทุกข์ ไม่นำประโยชน์อะไรมาให้เลย แต่เกิดขึ้นแล้ว จะทำอย่างไรได้ เมื่อแต่ละบุคคลได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมได้อบรมเจริญปัญญา (ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม) จนกระทั่งมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ เมื่อนั้น กิเลสก็จะน้อยลงและพฤติกรรมที่ไม่ดี ย่อมจะน้อยลงด้วย เพราะเห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณประโยชน์ของกุศล ว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรเจริญ
ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อได้ฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ พร้อมทั้งเห็นคุณค่าของพระธรรมแล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ผู้นั้นก็จะได้รับประโยชน์จากพระธรรม ซึ่งเป็นการสั่งสมเหตุใหม่ที่ดีของผู้นั้นเอง การฟังพระธรรมจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลในชีวิตประจำวัน อย่างแท้จริง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้อกุศลจิตเกิดขึ้น หรือทำให้กุศลจิตเกิดได้ เพราะสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครได้ สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่เพราะกิเลสที่ได้สั่งสมมาในอดีตมีมากจึงทำให้ ในชีวิตปัจจุบันอกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศลจิตซึ่งจะเป็นปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรมมากกว่ากุศลกรรม จึงต้องฟังพระธรรมบ่อยๆ เพราะขณะที่เข้าใจพระธรรมขณะนั้นจิตก็เป็นกุศล และขณะที่เป็นไปใน ทาน ศีล ภาวนา ขณะนั้นจิตก็เป็นกุศลค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ