ธรรมเอก
ข้อความต่อไปมีว่า คำว่า “ธรรมทั้งหมดแล ชื่อว่าอธิวจนธรรม” คือธรรมเป็นเหตุของธรรมเป็นชื่อ อธิบายว่าขึ้นชื่อว่า ธรรมที่ไม่เป็นเหตุของธรรมเป็นชื่อหามีไม่ ธรรมเอกย่อมประมวลเข้าในธรรมทั้งหมด
ธรรมทั้งหมดก็ประมวลเข้าในธรรมเอก ประมวลเข้าอย่างไร อธิบายว่า นามบัญญัตินี้ ชื่อว่า เป็นธรรมเอก ธรรมเอกนั้นย่อมประมวลเข้าในธรรมทั้ง ๔ ภูมิทั้งสิ้น ทั้งสัตว์ทั้งสังขารชื่อว่าพ้นไปจากนามหามีไม่ ถ้าไม่มีชื่อ ก็ไม่สะดวกที่จะทำให้เข้าใจกันได้
ฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรม แต่ก็ยังไม่พ้นจากชื่อ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ คือ
ขันธบัญญัติ ๕
อายตนบัญญัติ ๑๒
ธาตุบัญญัติ ๑๘
สัจจบัญญัติ ๔
อินทรียบัญญัติ ๒๒
บุคคลบัญญัติหลายจำพวก นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้พระธรรมที่ทรงแสดงก็ไม่พ้นไปจากชื่อ นามบัญญัติต่างๆ
นิรุตติ การพูด คือ การกล่าวอรรถออกโดยทางอักขระชื่อว่า นิรุตติ
พยัญชนะ นามที่ชื่อว่า พยัญชนะ (คำ) เพราะอรรถว่า ประกาศอรรถ
อภิลาป เสียง ที่ชื่อว่า อภิลาป เพราะอรรถว่าเป็นเสียงที่บุคคลพูด คือลำดับแห่งการประชุมของอักษรที่เป็นไปตามเสียง
ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป