สติและปัญญาสามารถระลึกรู้บัญญัติได้หรือไม่

 
Sam
วันที่  20 ต.ค. 2551
หมายเลข  10176
อ่าน  1,705

ขอเรียนถามเกี่ยวกับการปฏิบัติดังนี้ครับ

1. สติและปัญญาสามารถระลึกรู้บัญญัติได้หรือไม่ (ทั้งที่เป็นคำและเป็นนิมิต)

2. หากได้ สติและปัญญานั้นเป็นสติปัฏฐานหรือไม่ และเป็นสัมมาสติและสัมมาทิฏฐิในมรรคมีองค์แปด (องค์ห้า) หรือไม่

3. การระลึกศึกษาในบัญญัติ (ทั้งที่เป็นคำและเป็นนิมิต) ช่วยให้เกิดการระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมได้หรือไม่

4. ขอคำแนะนำเพิ่มเติมในประเด็นนี้และที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อป้องกันความเห็นผิดด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 20 ต.ค. 2551

สติและปัญญาสามารถรู้ได้ทุกอย่าง แต่สิ่งที่จะทำให้ปัญญาแทงตลอด สิ่งนั้นต้องเป็นสภาวธรรม คือต้องมีสภาวะจริงๆ ดังนั้นการอบรมเจริญขึ้นของสติและปัญญาจึงต้องอาศัยการรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง คือรู้ลักษณะความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่รู้ เพราะไม่รู้จึงหลงติดข้องและสำคัญผิดว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา

อนึ่งบัญญัติไม่มีสภาวลักษณะ คือ อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะ ขณะที่รู้บัญญัติไม่ใช่ปัญญาขั้นสติปัฏฐาน ไม่ใช่ปัญญาขั้นวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่ปัญญาขั้นโลกุตตระตามหลักพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์แสดงว่า วิปัสสนาภูมิ ภูมิของวิปัสสนาต้องเป็นธรรมะที่มีลักษณะ เช่น ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทริย์ สัจจะ ปฏิจจสมุปบาท ดังนั้นผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานหรือวิปัสสนา จึงต้องศึกษาปรมัตถธรรมที่เป็น อารมณ์ของวิปัสสนาให้เข้าใจอย่างถูกต้องจึงจะรู้แจ้งความจริงได้

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 20 ต.ค. 2551

1. ปัญญามีหลายระดับ ถ้าเป็นปัญญาของพระสารีบุตรรู้ได้ทุกอย่างค่ะ

2. สติเกิด มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ ไม่มีก็ได้ ถ้าสติปัฏฐานเกิดมีมรรค 5 หรือ 6 ค่ะ

3. คำสอนของพระพุทธเจ้าคือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ตามลำดับ การศึกษาปริยัติ คือ

การเรียนรู้ธรรมทั้งหลาย เพื่อให้เข้าถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 20 ต.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

1. สติและปัญญาสามารถระลึกรู้บัญญัติได้หรือไม่ (ทั้งที่เป็นคำและเป็นนิมิต)

สติและปัญญามีหลายระดับ เช่น ขณะให้ทาน ระลึกที่จะให้ขณะนั้นก็มีสติโดยระลึกมีเรื่องราว (บัญญัติ) คิดจะให้ขอทาน เป็นต้น ขณะที่อบรมสมถภาวนา เช่น เมตตา ก็ต้องมีสติและปัญญาเกิดร่วมด้วย เมตตาก็ต้องมีสัตว์ บุคคล (บัญญัติ) เป็นอารมณ์ เห็นได้ว่าสติและปัญญาสามารถระลึก (สติ) และรู้ตามความเป็นจริง (ปัญญา) แม้ที่เป็นบัญญัติเรื่องราวได้ครับ

2. หากได้ สติและปัญญานั้นเป็นสติปัฏฐานหรือไม่ และเป็นสัมมาสติและสัมมาทิฏฐิในมรรคมีองค์แปด (องค์ห้า) หรือไม่

ดังได้กล่าวแล้วว่าสติและปัญญามีหลายระดับ ขึ้นอยู่กับว่าเกิดกับกุศลระดับใด ถ้าเป็นกุศลที่เป็นวิปัสนนาภาวนา (สติปัฏฐาน) จะต้องมีสภาพธรรม สิ่งที่มีจริงเป็นอารมณ์ ดังนั้นสติและปัญญาในขั้นสติปัฏฐาน จึงมีอารมณ์ คือสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่บัญญัติเพราะว่าสติและปัญญาขั้นสติปัฏฐาน เป็นการอบรมเพื่อรู้ความจริง ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา หากรู้บัญญัติก็เป็นเรื่องราว ไม่สามารถไถ่ถอนความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์บุคคลได้ จึงมีสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสิ่งที่สติและปัญญารู้ในขั้นสติปัฏฐานครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 20 ต.ค. 2551

3. การระลึกศึกษาในบัญญัติ (ทั้งที่เป็นคำและเป็นนิมิต) ช่วยให้เกิดการระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมได้หรือไม่

การศึกษาธรรมก็ต้องอาศัยชื่อเรื่องราวเพื่อเข้าใจตัวจริงของสภาพธรรมที่มีอยู่ ถ้าไม่อาศัยคำ เรื่องราวก็สื่อไม่ถูกต้องและไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจถึงตัวจริงของสภาพธรรม ดังนั้นขณะที่ศึกษาเรื่องชื่อก็เป็นผู้ตรงว่าเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ถ้าไม่มีชื่อก็คงไม่เข้าใจเพราะไม่มีคำให้สื่อให้เข้าใจ เช่น ใช้คำว่าเห็นมีจริงเป็นสภาพธรรมก็เพื่อเข้าใจตัวจริงในขณะนี้ อาศัยชื่อเพื่อเข้าใจตัวจริง แต่ไม่ใช่มุ่งจะจำชื่อ ลืมว่าควรเข้าใจสภาพธรรมขณะนี้

4. ขอคำแนะนำเพิ่มเติมในประเด็นนี้และที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อป้องกันความเห็นผิดด้วยครับ

การศึกษาธรรมลืมไม่ได้ จุดประสงค์ต้องถูกต้อง เพื่อละ ละความไม่รู้ ปัญญาละ ไม่ใช่เราไปละ ปัญญาต้องมีเหตุเกิดขึ้นเริ่มจากฟังให้เข้าใจ (ปัญญาขั้นการฟัง) อาศัยชื่อเรื่องราวเพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมครับ

ขออนุโมทนา อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 20 ต.ค. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 21 ต.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ajarnkruo
วันที่ 21 ต.ค. 2551

๑. สติระลึกและปัญญารู้บัญญัติได้ เป็นการรู้ทางใจ

๒. ไม่ใช่ครับ บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน เพราะไม่มีสภาวะปรากฏ แต่ขณะนั้นจิตมีจริง เจตสิกที่เกิดประกอบกับจิตมีจริง เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้

๓. การระลึกศึกษาบัญญัติ ถ้าหมายถึง สติในขั้นคิดนึกเป็นคำว่า นี่แข็ง นี่อ่อน นี่เห็น ไม่ใช่เรา เป็นธรรมะ หรือระลึกในนิมิตของสภาพธรรมนั้นๆ ว่า ไม่ใช่ของจริง เพียงตรึกถึงเท่านั้น ของจริง คือความคิดที่ปรากฏแล้วหมดไป ขณะนั้นก็ยังไม่ใช่สติปัฏฐานเพราะเป็นการคิดในเรื่องราวของธรรมะ เป็นกุศลก็จริง แต่ไม่เข้าถึงลักษณะของธรรมะที่กำลังปรากฏ แต่จะเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้สติปัฏฐานเกิดได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเห็นถูกในพระธรรมเป็นสำคัญ ถ้าเห็นผิดก็ไม่เป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด

๔. ควรเข้าใจว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้ความเห็นผิดก็เป็นธรรมะ ป้องกัน ยับยั้ง ด้วยความเป็นตัวตนไม่ได้ เกิด-ดับ ตามเหตุปัจจัย เราศึกษาพระธรรมเพื่อให้เข้าใจขึ้น จนกว่าจะเห็นถูกจริงๆ ว่าไม่มีเราทำ ไม่ใช่หน้าที่ของเรา เป็นหน้าที่ของสังขารขันธ์ฝ่ายโสภณที่จะปรุงแต่งจิตให้เป็นจิตฝ่ายดี ป้องกันจิตฝ่ายไม่ดีไม่ให้เกิดได้ชั่วคราว ยับยั้งกระแสของอกุศลได้ชั่วคราว จนกว่าจะเจริญขึ้นๆ ตามลำดับขั้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Sam
วันที่ 21 ต.ค. 2551

ขอบพระคุณสำหรับทุกความเห็นครับ มีประโยชน์มาก

ขอเรียนให้ทราบเพิ่มเติมว่า ความเข้าใจที่มีขณะนี้ไม่ติดขัดอยู่กับการรู้ความแตกต่างระหว่างคำหรือเรื่องราวกับสิ่งที่มีจริง แต่สิ่งที่มีจริงที่รู้ในขณะนี้ปรากฏเป็นกลุ่ม เป็นความต่อเนื่อง (ฆนบัญญัติ) ที่รู้ได้ทางทวารต่างๆ โดยไม่ต้องใส่ชื่อเลย ทำให้เกิดความสงสัยว่าควรพิจารณาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นต่อไป จนกว่าลักษณะของสภาพธรรมจะค่อยๆ ปรากฏชัดขึ้น หรือว่านี่คือ การหลงทาง จึงได้เรียนถามมา ณ ที่นี้ หากผู้รู้ท่านใดมีจิตเมตตา กรุณาชี้แนะด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
prachern.s
วันที่ 21 ต.ค. 2551

ขอเรียนคุณ Sam ว่าเป็นธรรมดาที่จะเป็นอย่างนี้ เพราะปัญญายังไม่ถึงขั้นวิปัสสนาญาณ ปัญญาย่อมไม่สามารถแยกขาดความเป็นกลุ่มก้อนได้ แต่การฟังธรรม การสนทนาธรรม การพิจารณาธรรม ย่อมทำให้ปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้น ยังไม่ต้องสนใจเรื่องอื่นก็ได้ครับ ..

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
petcharath
วันที่ 21 ต.ค. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ปริศนา
วันที่ 21 ต.ค. 2551

แต่การฟังธรรม การสนทนาธรรม การพิจารณาธรรม ย่อมทำให้ปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้น ยังไม่ต้องสนใจเรื่องอื่นก็ได้ครับ ..

.......................................................

จาก ความเห็น ที่ ๙
ขออนุโมทนาค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
SIRICHAI
วันที่ 21 ต.ค. 2551

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้งหลายและท่านเจ้าของกระทู้นะครับ ผมก็ไม่ต่างกับคุณ Sam เวลาสติปัฏฐานเกิดจะแยกสภาพธรรมไม่ออกเป็นส่วนใหญ่ แต่พอจะแยกบางสภาพธรรมที่ปรากฏและระลึกรู้ได้บ่อยได้บ้าง และก็ยังกังวลอยู่ว่าเข้าใจถูกหรือผิด เป็นทางที่ตรงกับที่ท่านอ.สุจินต์สอนหรือไม่ จะต้องปรับปรุงตลอดเวลาเพราะความเข้าใจผิดอยู่แค่เอื้อมครับ

ขออนุโมทนาและขอบคุณจริงๆ ที่ทำให้ผมเข้าใจเพิ่มขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
choonj
วันที่ 22 ต.ค. 2551

ขออนุโมทนาความเห็นที่ ๗ ที่ ๘ และความเห็นที่ ๙ โดยเฉพาะความเห็นที่ ๗

กล่าวไว้ได้ไพเราะมาก ผมว่าควรอ่านไห้เข้าใจ จะเป็นประโยชน์ ๑) สติทำหน้าที่ระลึกอย่างเดียว ปัญญาทำหน้าที่รู้อย่างเดียว สติระลึกได้ทุกอย่างปัญญาก็รู้ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นสติปัญญา ระลึกและรู้บัญญัติได้ ๒) ๓) และ ๔) อ้างถึงความเห็นที่ ๗ ของ อ.ครูโอ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
majweerasak
วันที่ 22 ต.ค. 2551

ขอร่วมสนทนาและแสดงความเห็นด้วยครับ

๑. สติและปัญญาสามารถระลึกรู้บัญญัติได้หรือไม่ (ทั้งที่เป็นคำและเป็นนิมิต)

หากมีปัจจัยพร้อม สติและปัญญาสามารถระลึกได้ทุกอย่าง (แต่ทีละอย่าง)

๒. หากได้ สติและปัญญานั้นเป็นสติปัฏฐานหรือไม่ และเป็นสัมมาสติและสัมมาทิฏฐิในมรรคมีองค์แปด (องค์ห้า) หรือไม่

สติและปัญญาขั้นศีล และทาน (ซึ่งมีการรู้บัญญัติด้วย) ไม่ใช่สติปัฏฐาน

สติและปัญญาขั้นสมถภาวนาหรือการอบรมความสงบอย่างเดียว (ซึ่งมีการรู้บัญญัติ ด้วย) ไม่ใช่สติปัฏฐาน

สติและปัญญาขั้นเข้าใจคำและเรื่องราวขณะฟังพระธรรม (ซึ่งมีการรู้บัญญัติด้วย) ไม่ใช่สติปัฏฐาน

สติและปัญญาขั้นเข้าใจคำและเรื่องราวขณะพิจารณาพระธรรม (ซึ่งมีการรู้บัญญัติด้วย) ไม่ใช่สติปัฏฐาน

แต่ขณะที่มีศีล ให้ทาน อบรมความสงบ ฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรม นั้นหากมีปัจจัยพร้อมแล้ว สติปัฏฐานเกิดแทรกได้

ตามความเข้าใจของผมแล้ว จะเป็นสติปัฏฐานหรือไม่ (ชื่อ) นั้นไม่สำคัญ สำคัญที่ความเข้าใจถูกค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยจากการฟัง การพิจารณาพระธรรม และค่อยๆ เข้าใจถูกในสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้นี่เอง

๓. การระลึกศึกษาในบัญญัติ (ทั้งที่เป็นคำและเป็นนิมิต) ช่วยให้เกิดการระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมได้หรือไม่

ขณะที่ฟัง และพิจารณาพระธรรม หากขณะนั้นมีการเข้าใจคำและเรื่องราว (ซึ่งเป็นบัญญัติ) ย่อมเป็นปัจจัยให้มีความเห็นถูกเพิ่มขึ้น และเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานหรือการระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมได้ (ไม่งั้นคงไม่ต้องฟังพระธรรม)

๔. ขอคำแนะนำเพิ่มเติมในประเด็นนี้และที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อป้องกันความเห็นผิดด้วยครับ

หากมีความเห็นผิดประการใด ผู้รู้กรุณาทักทวง และแนะนำ ด้วยเช่นกันครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
happyindy
วันที่ 22 ต.ค. 2551

ความคิดเห็นที่ 12 เวลาสติปัฏฐานเกิดจะแยกสภาพธรรมไม่ออกเป็นส่วนใหญ่

.....

ขออนุโมทนาค่ะ

แต่แบบว่าอินดี้งงครับท่าน

เพราะเข้าใจว่า เมื่อใดที่ สติ เกิด

ที่จะไม่เข้าใจหรือแยกไม่ออก ไม่ควรเป็นไปได้

เพราะถ้าแยกไม่ออกบอกไม่ถูก

แปลว่า นั่นไม่ใช่สติปัฏฐาน

แต่มันคือการคิดนึก

การคิดนึกมีจริง

อินดี้ก็มักคิดเอาเองอยู่บ่อยๆ ไป

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
suwit02
วันที่ 22 ต.ค. 2551

เห็นด้วยกับคุณอิน

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
SIRICHAI
วันที่ 23 ต.ค. 2551

ขอบพระคุณ คุณ happyindy ที่ช่วยชี้แนะผมนะครับ ช่วยปรับความเข้าใจผมให้ตรงกับที่ท่านอ.สุจินต์ได้สอนมากเลยครับ สภาพธรรมและสติที่ปรากฏเป็นเช่นนี้ครับ

เช่นขณะที่ผมดู TV

๑. จะมีสีที่เป็นสภาพสว่างจากจอที่ปรากฏทางตา สีแต่ละสีมีความสว่างต่างๆ กันไป ไม่เหมือนกันแดงก็อย่างหนึ่งเขียวก็อย่างหนึ่งครับ

๒. จะมีสภาพดังของเสียงปรากฎทางหู เสียงแต่ละเสียงมีความดังไม่เหมือนกันต่างๆ กันไปครับ ผมจะแยกออกระหว่าง สภาพสว่างของสีที่ปรากฏทางตาจะเป็นคนละขณะกับเสียงที่ปรากกฏทางหู และที่แยกไม่ออกคือ เสียงกับสภาพรู้เสียง แต่สภาพได้ยินเสียงแล้วชอบเสียงแยกออกว่ามีสภาพที่ต่างกับสภาพดังของเสียง อาจเป็นเพราะว่าสติเพิ่งเริ่มเกิดซึ่งยังไม่ไช่ขั้นญาณะใดๆ เลย จึงยังแยกไม่ออกระหว่างเสียงกับรู้เสียงครับ

ขออนุโมทนาทุกท่านที่เกื้อกูลผม

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
choonj
วันที่ 23 ต.ค. 2551

ขออนุโมทนาความเห็นที่ ๑๔ majweerasak ต้องมีประสบการณ์มากที่สามารถเขียนได้อย่างนี้ ผมก็มีความเข้าใจตามที่เขียนมา และเห็นด้วยทุกข้อแต่ไม่สามารถเขียนออกมาได้ เช่นท่าน ซึ่งประสบการณ์ผมยังน้อยครับ ในขณะที่ระลึกและศึกษาบางครั้งก็เตือนตัวเองว่าอย่าคิดมากไปนะเมื่อเข้าใจและก็จบ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
orawan.c
วันที่ 23 ต.ค. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
Sam
วันที่ 24 ต.ค. 2551

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
choonj
วันที่ 24 ต.ค. 2551

เรียน คุณอินดี้ ผมให้กำลังใจตอบความคิดเห็นที่ ๑๗ สิ่งที่เข้าใจต้องมั่นคงเปลี่ยนไปไม่ได้ การสนทนาก็จะทำให้เข้าใจมั่นคงขึ้น จะได้ไม่งง เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
pornpaon
วันที่ 24 ต.ค. 2551

น้ำใสใจจริง

สหายธรรม ย่อมสนทนาซักถาม ทบทวน ชี้แจง อธิบาย

เพื่อเกื้อกูลกัน เพื่อความเข้าใจถูก

ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
เซจาน้อย
วันที่ 25 ต.ค. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
SIRICHAI
วันที่ 26 ต.ค. 2551

ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่านครับ

ต่อเนื่องจากความคิดเห็นที่ ๑๗ นะครับ การคิดนึกเป็นเรื่องปกติและธรรมดาที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่เริ่มต้นอบรมเจริญสติปัฏฐานจะหยุดไม่ไห้คิดก็ไม่ได้ครับ อาการคิดนึกของผมเป็นเช่นนี้ครับ

เมื่อสีปรากฏทางตา แล้วจิตรู้สีนั้นแล้วมีความคิดนึกตามมาว่าอาการใดหนอ คือสี อาการใดหนอ คือรู้สี เมื่อสติเกิดจะแยกได้เลยครับว่า สภาพสว่างของสีกับสภาพคิดนึกถึงความสว่าง อาการสว่าง สภาพสว่างของสีมันต่างกัน สภาพที่ระลึกรู้ สภาพที่สังเกต สภาพที่สำเนียก แล้วรู้ความแตกต่าง ของสภาพธรรมะที่ปรากฏดังกล่าว เรียกว่าสติปัฏฐาน ครับ แต่ก็มีบางจังหวะที่สติปัฏฐานไม่เกิดแต่เป็นคิดนึกแทนเป็นเช่นนี้ครับ

เมื่อสีปรากฏทางตา แล้วจิตรู้สีนั้นแล้วมีความคิดนึกตามมาว่า อาการใดหนอ คือสี อาการใดหนอ คือรู้สี เมื่อสติปัฏฐานไม่เกิดจะแยกไม่ได้เลยครับว่า สภาพสว่างของสีกับสภาพคิดนึกถึงสีต่างกันอย่างไร อันนี้คือคิดนึกครับ ตามความเข้าใจเป็นเช่นนี้ครับ

ช่วยชี้แนะด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
prachern.s
วันที่ 27 ต.ค. 2551

เรื่องของความคิดตามการศึกษามาเป็นธรรมดาครับ แต่ความคิดก็เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง เบื้องตนยังไม่ต้องใส่ใจที่จะแยกสิ่งต่างๆ ว่าเป็นนามหรือรูป แต่ควรใส่ใจโดยความเป็นธรรมะ เพราะการยึดถือมีมาก มิฉะนั้นก็เป็นจะเป็นเราเข้าไปพยายามแยกรูปนามอยู่ดี ดังนั้นทั้งหมดเป็นธรรมะ

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
Sam
วันที่ 27 ต.ค. 2551

ขอบพระคุณทุกคำแนะนำครับ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
suwit02
วันที่ 27 ต.ค. 2551

สาธุ

ประเด็นตามความเห็นที่ ๑๗ และ ๒๔ น่าสนใจ

ขออนุโมทนาคุณศิริชัยผู้ตั้งกระทู้

10216 เหตุอันใดหนอสติจึงยังไม่สามารถแยกสภาพของสีและอาการรู้สี

ผมได้รับประโยชน์มาก

ที่นี่น่ารื่นรมย์

ขอพระสัทธรรม ทำให้ใจของท่านทั้งหลายเบิกบาน

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
akrapat
วันที่ 27 ต.ค. 2551

สติปัฏฐาน ต้องระลึกรู้ในสภาวะที่เป็นสภาวธรรมจริงๆ คือระลึกรู้ในกายกับใจ (เวทนา จิต ธรรม) เคยได้ฟังท่านอาจารย์สุจินต์พูดว่า ถ้ารู้เรื่องที่จิตคิดนั้นไม่จริง (เป็นบัญญัติ) แต่ถ้ารู้ว่าจิตกำลังคิด นั้นแหละของจริง (ปรมัตถ์) แต่ไม่ได้ห้ามไม่ให้จิตคิดนะครับ เพราะธรรมดาของจิตจะต้องคิด แต่ถ้ารู้ว่าจิตกำลังคิดนั่นแหละ สติเริ่มเกิดแล้ว แต่ถ้ากำลังสงสัยว่านี่ใช่สติปัฏฐานหรือเปล่า นั่นแสดงว่า ปัญญาขั้นวิปัสสนายังไม่เกิด คือสติที่เป็นสติปัฏฐาน ยังไม่เกิดบ่อยพอที่จะทำให้ปัญญาจะแยกแยะระหว่างนามกับรูปซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณขั้นแรก

สะสมต่อไปนะครับถูกผิดประการใด ขออโหสิกรรมนะครับ อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
choonj
วันที่ 27 ต.ค. 2551

จากความเห็นที่ ๑๗ และ ๒๔ น่าเสียดายที่ไม่ได้ยินจากอินดี้ คงไม่ได้เข้าเว็บ ผมขอแสดงความเห็นส่วนตัวนะครับ ถ้าถูกก็ดีไปผมจะได้เก่ง ถ้าผิดก็ขออโหสิกรรม

และหวังว่าจะมีผู้รู้แก้ให้ ผมอ่านทั้งสองความเห็นแล้ว ก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า ความคิดนี่อันตรายมาก เจ้าของความเห็นก็รู้นะว่าเป็นความคิดโดยเขียนว่า "อาการคิดนึกของผมเป็นเช่นนี้ครับ" แล้วการคิดนึกนั้นสามารถทำให้เกิดการเข้าใจจนเขียนว่า " เรียกว่าสติปัฏฐานครับ" แล้วก็มี เป็นบางจังหวะด้วย มีสติปัฏฐานเกิด มีสติปัฏฐานไม่เกิดด้วย

ผมจึงว่าความคิดนี่อันตรายมาก หลอกให้หลงผิดเข้าใจผิดได้ง่ายมาก และผมก็เห็นผู้ศึกษาธรรมหลายคนศึกษามาหลายปี มีอาการคิดนึกอย่างที่อธิบายนี้ แล้วก็วนเวียนอยู่กับการคิดนึกนี้โดยเข้าใจว่าตัวเองเข้าใจธรรม จริงอยู่การศึกษาธรรมก็ต้องมีการระลึกและศึกษา การระลึกและศึกษาก็คิดนึก การคิดนึกก็มีสองอย่าง คือคิดถูกและคิดผิด ถ้าคิดเองผิดแน่นอน แล้วจะทำอย่างไรให้คิดถูก ก็ต้องอ้าง อ. และพระไตรปิฏก พอจะเข้าใจว่าถูกบ้าง จะเห็นได้ว่าผิดง่ายมากในการศึกษาจึงควรเห็นประโยชน์และโชคที่ได้พบ อ. ดี ขอกลับมาที่สองความเห็นนี้

ผมจะลองเขียนเพื่อที่จะให้เข้าใจว่าเป็นการคิดนึกอย่างไร คห ที่ ๑๗ เขียนว่า " ผมแยกออกระหว่างสภาพสว่างของสีเป็นคนละขณะกับเสียงที่ปรากฏทางหู" สภาพสว่างคืออะไรยังไม่ต้องพูดถึง คือแยกออกว่าสีที่ปรากฏทางตาเป็นคนละขณะกับเสียง นี่คือแยกออก และที่แยกไม่ออกคือ "เสียงกับสภาพรู้เสียง " แล้วที่แยกออกอีกคือ " สภาพได้ยินแล้วชอบมีสภาพที่ต่างกับสภาพดัง" ถามว่าที่ว่าแยกออกนั้นอะไรแยก และที่ว่าแยกไม่ออกนั้นทำไมถึงแยกไม่ออก คงจะตอบว่าที่แยกออกนั้นสติ (ปัฏฐาน) เกิด ที่แยกไม่ออกนั้นสติไม่เกิด ผมว่าไม่ใช่ ผู้ที่เรียนธรรมมานิดเดียวก็รู้ว่าสีต่างกับเสียง และยังเข้าใจได้ว่าเสียงต่างกับรู้เสียง เสียงเกิดในป่าเมื่อไม่ได้ยินรู้ได้มั้ย เมื่อรู้ไม่ได้ก็ต้องรู้ความต่างของเสียงกับรู้เสียง แล้วมีใครมั้ยเมื่อเรียนธรรมมาบ้างที่ไม่รู้สภาพได้ยินแล้วชอบต่างกับสภาพดัง สติปัฏฐานไม่เกิด ก็รู้ได้ครับที่เขียนมานี่ จึงเป็นเรื่องคิดนึกทั้งหมดเลย

ขอกลับไปที่คุณ อินดี้ เขียนว่า " สติ (ปัฏฐาน) เกิด ที่จะไม่เข้าใจแยกไม่ออก ไม่น่าจะเป็นไปได้ " ถูกต้องที่สุด ต้องเข้าใจว่ามีสิ่งหนึ่งที่พวกเราตั้งแต่เล็กจนโตไม่เคยรู้มาก่อน ไม่เคยมีประสพการณ์มาก่อน สิ่งนั้นเป็นธรรมะ เป็นธาตุที่ระลึกให้ปัญญารู้สภาพธรรม เกิดขึ้นตามความเป็นจริงเรียกว่าสติปัฏฐาน แล้ววันหนึ่งสิ่งที่กล่าวมานี้ปรากฏก็จะเข้าใจว่า ก่อนๆ นี้ที่เข้าใจว่าเป็นสติปัฏฐานนั้นเหลวไหลทั้งเพ

 
  ความคิดเห็นที่ 30  
 
SIRICHAI
วันที่ 27 ต.ค. 2551

ขอนอบน้อมบูชาพระรัตนตรัยอันเป็นสรณะสูงสุดของข้าพเจ้า

ขอบพระคุณท่านอ.prachern ที่ตักเตือนเรื่องการเจาะจงถึงสภาพธรรมต่างๆ ครับ ส่วน

ใหญ่จะไม่รู้ว่ากำลังเจาะจงถึงสภาพธรรมต่างๆ ครับ แต่ก็มีบางขณะเมื่อสติเกิดก็รู้ว่า

กำลังเจาะจงไม่ใช่สติปัฏฐานเหมือนกัน ขอบคุณ ท่านเจ้าของกระทู้สหายธรรมทุกท่าน

ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นในกระทู้ของผม ตามที่คุณ suwit02 แจ้งได้เลยครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่านครับ

ที่นี่เกื้อกูลกันและกันเสมอครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 31  
 
akrapat
วันที่ 28 ต.ค. 2551

อย่าลืมว่าระดับพระอรหันต์เท่านั้น นะครับที่สติท่านไวทุกการกระทบ ทุกทวาร แต่ถ้าเราสามารถระหว่าง การเห็นกับได้ยินได้ก็อาจจะเป็นเพราะเราไปดักรอหรือจดจ้องไว้ก่อน นั่นไม่ใช่สติ ที่เป็นสติปัฏฐาน เพราะสติปัฏฐานไม่ได้จากความตั้งใจ อันนี้ตามความคิดของผมนะครับ ผิดถูกประการใดขออโหสิกรรมด้วยนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 32  
 
SIRICHAI
วันที่ 28 ต.ค. 2551

ขอนอบน้อมบูชาพระรัตนตรัยอันเป็นสรณะสูงสุดของข้าพเจ้า

ขอบคุณท่านทั้งหลายที่แสดงความคิดเห็นและชี้แนะแนวทางนะครับ

ข้อมูลทั้งหมดผมขอเก็บไปถามท่าน อ.สุจินต์เพื่อเป็นแนวทางสะสมปัญญา

ต่อไปครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ