อนันตริยกรรม
อนนฺตร (ไม่มีระหว่าง) + อิย ปัจจัย + กมฺม (การกระทำ)
การกระทำที่ให้ผลในภพไม่มีระหว่าง หมายถึง ครุกรรมในฝ่ายอกุศลซึ่งจะให้ผลเป็นชนกกรรม นำปฏิสนธิในอบายภูมิ หลังจากสิ้นชีวิตจากชาตินี้แล้วแน่นอน ไม่ว่าจะเจริญกุศลที่มีอานิสงส์มากอย่างไร ก็ไม่สามารถลบล้างการให้ผลของอนันตริยกรรมได้ อนันตริยกรรม มี ๕ อย่าง คือ
๑. ฆ่ามารดา
๒. ฆ่าบิดา
๓. ฆ่าพระอรหันต์
๔. ทำโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ
๕. ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน
แล้วในส่วนของกุศลฝ่ายดีที่เป็นอนันตริยกรรมมีหรือไม่ครับ
ขออนุโมทนา
ฝ่ายกุศลไม่เรียกว่าอนันตริยกรรมครับ แต่มีคำว่าครุกรรม
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
ครุกรรม
ครุ (หนัก) + กมฺม (เจตนาซึ่งเป็นผู้กระทำ)
กรรมหนัก หมายถึง กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่กำลังมาก ซึ่งแม้มีกรรมอื่นอยู่ก็ไม่สามารถขัดขวางการให้ผลของครุกรรมได้ ต้องให้ผลก่อนในชาติเป็นลำดับต่อไปแน่นอน อกุศลที่มีโทษมากซึ่งเป็นครุกรรมได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ คือ
ฆ่ามารดา ๑
ฆ่าบิดา ๑
ฆ่าพระอรหันต์ ๑
ทำให้พระพุทธเจ้าห้อเลือด ๑
ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ๑
(เจตนาเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง) และนิยตมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดที่ดิ่งจนแก้ไม่ได้ (เจตนาเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง) ให้ผลทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิในชาติต่อไปแน่นอน
ส่วนกุศลกรรมที่มีอานุภาพมากซึ่งเป็นครุกรรม ได้แก่ มหัคคตกุศลซึ่งเป็นมโนกรรม คือเจตนาเจตสิกที่เกิดกับ รูปาวจรกุศลจิต ๕ ดวง และ อรูปาวจรกุศลจิต ๔ ดวง เมื่อฌานจิตไม่เสื่อมจึงเป็นครุกรรมให้ผลปฏิสนธิใน รูปพรหมภูมิ หรืออรูปพรหมภูมิ ในชาติต่อไปแน่นอน ถ้าฌานจิตเสื่อมก็เป็นอโหสิกรรม คือไม่ให้ผลแต่อย่างใด
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ