ผลของกรรม หรือ ผลของความเพียร

 
หมาย
วันที่  26 ต.ค. 2551
หมายเลข  10213
อ่าน  2,062

คนเราจะประสบอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดีทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ด้วยผลกรรมของตนที่ได้กระทำแล้ว ถ้าไม่มีผลกรรมดีคนๆ นั้นก็จะประสบกับความลำบาก ทุกข์ ประสบกับสิ่งไม่น่าพอใจ ไม่สมหวัง อยากทราบว่าถ้าเรามีความพากเพียรพยายามด้วยความสามารถด้วยวิริยะในการแสวงหาทรัพย์สมบัติ หรือพยายามทำให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนาในชาติปัจจุบัน แล้วหามาได้ อย่างนี้จะเกิดจากผลกรรมหรือผลของความพากเพียรพยายาม เพราะถ้าไม่ได้เกิดจากความพากเพียรพยายามแล้วบางคนอาจจะคิดว่าต้องรอผลของกรรมของตนที่ได้ทำไว้แล้ว เพราะแม้พากเพียรพยายามไปแล้วเมื่อกรรมดียังไม่ส่งผลเราก็จะยังทุกข์ยากลำบากอยู่ เมื่อกรรมดีให้ผลจึงจะมีความสุขเอง ดังนั้นเขาจึงไม่คิดจะพยายามทำอะไร เพราะคิดว่าแม้ทำไปแล้วก็ไม่สำเร็จ เพราะกรรมดียังไม่ให้ผล อย่างนี้จะถูกหรือผิดครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 27 ต.ค. 2551

ความคิดที่จะไม่กระทำอะไรหรือไม่พากเพียรทำกิจการงาน รอผลของกรรมเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องครับ เพราะบางครั้งแม้จะพากเพียรก็ยังไม่ได้ตามที่หวัง เพราะกรรมดียังไม่ให้ผล แต่สิ่งที่ไม่ควรทอดทิ้งก็คือ ความเพียรพยายาม อนึ่ง ตามหลักพระธรรมแสดงว่า คนเราเวียนว่ายตายเกิดมานานแสนนาน ทำกรรมทั้งดีและไม่ดีไว้มาก เราไม่สามารถรู้ได้ว่ากรรมใดจะให้ผลในเวลาไหน แต่สิ่งที่ควรกระทำต่อไป ก็คือเพียรพยายามทำแต่กรรมดีเท่านั้น และส่วนหนึ่งที่แสดงไว้ว่า กรรมดีจะให้ผลได้ต้องอาศัยปโยคะที่ดี คือความเพียรพยายามโดยชอบ ดังนั้นความเพียรพยายามจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กรรมดีให้ผล

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 27 ต.ค. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 27 ต.ค. 2551

กุศลที่จะให้ผลต้องอาศัยความเพียร เช่นคนที่ขยันทำมาหากิน ก็เป็นเหตุให้ได้ทรัพย์ มากกว่าคนไม่ขยัน ในพระไตรปิฏกก็มีแสดงไว้ บุตรเศรษฐีถ้าไม่ประมาทขยันทำงานก็ ได้เป็นมหาเศรษฐี แต่เพราะเขาคบคนพาล จึงเสื่อมจากโภคทรัพย์ทั้งหลายค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
happyindy
วันที่ 27 ต.ค. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

ขออนุญาติแก้ คุณหมาย นิดเดียวนะคะ

(อินดี้ขออภัยหากเป็นการล่วงเกิน) เพราะเป็นเรื่องที่ตนเองเคยเข้าใจผิด พูดผิดมาก่อนเหมือนกัน และเมื่อวานนี้เอง ก็ยังเผลอ พูดผิดในเรื่องนี้อีก (จนได้) คนเราจะประสบอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดีทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ด้วยผลกรรมของตนที่ได้กระทำแล้ว เว้น ใจไว้คำหนึ่งนะคะ

เมื่อประสบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้ว ความคิดนึก ที่เป็นไปในกุศล หรืออกุศล ตามติดมาหลังจากนั้นค่ะ เราเคยชินเรียกกันว่า ใจ ความเห็นอื่นใดนอกไปจากนั้น มีความเห็นเช่นเดียวกันกับ คุณprachern.s และ คุณwannee.s ค่ะ

ขออนุโมทนากุศลจิตทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ajarnkruo
วันที่ 27 ต.ค. 2551

คำสอนของพระผู้มีพระภาค ไม่มีที่จะทรงสอนให้ผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นฆราวาส หรือบรรพชิตให้ไม่ทำการงาน หรือให้อยู่เฉยๆ เพื่อรอเสวยผลของกุศลกรรมครับ สิ่งที่เราแสวงหามาได้โดยคิดว่าเพราะความขยันหมั่นเพียรนั้น ถ้าจะลองพิจารณาตั้งแต่ขณะที่เกิดขณะแรกของชีวิตในชาตินี้ ก็จะพบว่าเนื่องกับกรรมแล้ว

ผลของกุศลกรรมทำให้เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ภายหลังเมื่อได้เจริญวัยขึ้น ก็มีการได้รับผลของกุศลกรรมอีกมาก รวมทั้งอุปนิสัยที่สะสมมาที่โน้มไปที่จะเป็นผู้ที่ขยันในการแสวงหาทรัพย์ ก็เป็นเหตุปัจจัยให้เราได้สิ่งที่ต้องการ เช่น กรรมดีส่งผลให้เกิดในตระกูลที่มีฐานะ โตขึ้นเราก็ขยันร่ำเรียนจนจบการศึกษา ช่วงทำงานได้พบผู้ที่ชักชวนให้ทำธุรกิจหนึ่งจนพบช่องทาง แล้วขยันสร้างเนื้อสร้างตัวจนประสบความสำเร็จ ฯลฯ จะเห็นได้ว่าถ้ากรรมดีไม่ให้ผลในอัตภาพที่เกิดแล้ว ต่อให้เพียรสักเท่าไรก็ตาม ช่องทางที่จะได้สิ่งที่ปรารถนาคงเป็นไปได้ยาก แต่เพราะปัจจัยทั้งสองเนื่องกัน จึงส่งผลให้ผู้นั้นได้รับสิ่งที่ตนต้องการในเวลาที่เหมาะสมแก่วัย มีทั้งที่ได้โดยไม่ต้องแสวงหาและได้โดยอาศัยความขยันในการทำมาหากิน ทั้งหมดนี้เนื่องกับกรรมมาตั้งแต่เกิดและก็ยังเนื่องกับกรรมอยู่ทุกๆ ขณะ แม้แต่ในขณะนี้ก็ไม่พ้นไปจาก "กรรมและผลของกรรม" เลยสักขณะเดียวครับ

ถ้าเข้าใจกรรมและผลของกรรมมากขึ้นจริงๆ เราจะไม่ทำตัวเฉื่อยชา แล้วหวังรอผลของกุศลกรรมเพียงอย่างเดียว แต่จะเร่งรีบ ขวนขวายเจริญกุศลทุกประการ เพราะกุศลเป็นเหตุที่จะนำผลดีมาให้

กุศลที่ประเสริฐ คือ กุศลที่จะทำให้ไม่ต้องมารับผลของกรรมอีก ไม่ต้องมาทำกิจขวนขวายแสวงสิ่งที่ต้องการ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้พ้นทุกข์อีกครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 27 ต.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

การได้รับสิ่งที่ดีทางตา หู กายก็ต้องเป็นผลของกรรมดี ถ้ากรรมดียังไม่ให้ผล ก็ยังไม่ได้รับผลที่ดี ทางตา กาย แต่กรรมดีจะให้ผลก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัย เช่น คติ (กำเนิด) เกิดในที่ดีย่อมเป็นเหตุให้กุศลกรรมให้ผลได้มากกว่ากำเนิดในนรก อุปธิ (รูปร่างหน้าตา) รูปร่างหน้าตาดี กุศลกรรมย่อมมีโอกาสให้ผลได้ดีกว่าคนที่หน้าตาไม่ดี กาละ (ช่วงเวลา ที่เกิด) เกิดในสมัยที่ประเทศร่มเย็นเป็นสุข ย่อมมีโอกาสที่จะได้รับผลของกรรมดีกว่า สมัยที่บ้านเมืองเดือดร้อน ปโยคะ (ความเพียร) คนที่มีความเพียรย่อมมีโอกาสได้รับผลของกุศลกรรมมากว่าคนที่ไม่มีความเพียร หมายความว่าคนที่ไม่ขยัน แม้กุศลให้ผลแต่ก็ไม่ได้ผลมากเหมือนคนที่ขยันเมื่อกุศลให้ผลย่อมได้รับผลของกุศลได้มากกว่า ดังนั้น จึงอาศัยเหตุปัจจัยหลายประการครับที่กุศลจะให้ผล แม้ความเพียรก็เป็นประการหนึ่ง

ขออนุโมทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 27 ต.ค. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
หมาย
วันที่ 28 ต.ค. 2551

ขออนุโมทนากับทุกท่านครับที่กรุณาให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์

ขอบคุณคุณอินดี้มากครับที่ให้ความกระจ่าง ก่อนหน้านี้ผมเข้าใจว่าใจ (จิตทางมโนทวาร) เป็นวิบากเพราะรู้อารมณ์นั้นต่อจากปัญจทวาร โดยรู้สิ่งเดียวกันเหมือนกันไม่แตกต่าง ทวารใดรู้สิ่งใด จิตทางมโนทวารก็รู้สิ่งนั้นๆ ด้วย ดังนั้นจิตทางมโนทวาร ตั้งแต่ภวังคจิตไปจนถึง...ผมไม่ทราบแน่ชัด เพราะน่าจะเป็นวิบากเพราะต้องเกิดแน่นอนหลังจากจิตทางปัญจทวารดับ (ยกเว้นโวฎฐัพพนะและชวนจิต) จึงจะเกิดเป็นชาติกุศล อกุศลหรือกริยา และเกิดเป็นการสั่งสมสันดานของแต่ละบุคคล สำหรับเรื่องวีถีจิตนี้ ผมยังไม่เข้าใจอยู่มาก ขอความกรุณาให้ความกระจ่างด้วยครับจะเป็นพระคุณยิ่ง

ขอบคุณล่วงหน้าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 28 ต.ค. 2551

เรื่องวิถีจิตก็คือ ชีวิตประจำวันทุกขณะจิต มีรายละเอียดมาก สามารถศึกษาได้จาก หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป และกำลังสนทนาที่มูลนิธิฯทุกบ่ายวันเสาร์ เวลา ๑๓.๐๐ ถึง ๑๖.๐๐ น. มีประโยชน์มากเพราะวิทยากรทุกท่านช่วยกันสนทนาให้ผู้ฟังเข้าใจ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
happyindy
วันที่ 28 ต.ค. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

อินดี้จำและพูดชื่อจิตขณะต่างๆ ไม่ได้มากมายเท่าที่คุณหมายพูดเลยค่ะ อินดี้ไม่รู้ศัพท์ภาษาบาลีมากนัก จำได้ไม่กี่คำตามขนาดที่เข้าใจเท่านั้น แต่สิ่งที่เข้าใจในขั้นของการฟังคือ วิบาก (การรับผลของกรรม) นั้น เกิดขึ้น 5 ทางคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ความคิดนึก (ใจ) ที่เกิดต่อ เป็นกุศลหรืออกุศลนั้น ไม่เรียกว่าวิบาก ไม่เรียกว่าการรับผล แต่กลับเป็นการสะสมเหตุใหม่ 7 เท่า และจะให้ผลในโอกาสต่อไป ทั้งให้ผลทันทีในปัจุบันชาติบ้าง ชาติถัดไปบ้าง และชาติต่อๆ ไปบ้าง หากทำให้ผิดหวังที่จะได้ฟังการไล่ลำดับชื่อของจิตขณะต่างๆ จากอินดี้ ต้องขออภัยมากๆ อีกที อินดี้จำไม่ได้จริงๆ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
prachern.s
วันที่ 28 ต.ค. 2551

เรียนความเห็นที่ ๘ ครับวิถีจิตทางมโนทวาร มี ๓ คือ อาวัชชนะ ๑ ชวนะ ๑ ตทาลัมพนะ ๑ ภวังค์ไม่ใช่วิถีจิตภวังค์เป็นจิตที่พ้นวิถี (วิถีวิมุติ) ส่วนวิบากทางมโนทวาร คือ ตทาลัมพนะ เท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Noparat
วันที่ 28 ต.ค. 2551

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Pararawee
วันที่ 28 ต.ค. 2551
อนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
choonj
วันที่ 28 ต.ค. 2551

จะให้เข้าใจผลของกรรมว่ามาจากความเพียรหรือกรรม ผมว่าต้องเข้าใจคติสมบัติหรือคติวิบัติ คติ คือการเกิด อุปธิสมบัติหรืออุปธิวิบัติ อุปธิ คือการที่มีร่างกายสมบูรณ์ กาลสมบัติ หรือกาลวิบัติ กาล คือเวลาหรือยุค ประโยคสมบัติหรือประโยควิบัติ ประโยค คือการที่มีความเพียรที่จะ ประกอบการงานต่างๆ การที่กรรมจะให้ผลก็ต้องว่าขณะนั้นอยู่ในวิบัติหรือ สมบัติ ครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ