โลภะพอใจในมิจฉาสมาธิ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ต.ค. 2551
หมายเลข  10250
อ่าน  1,002

โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์นั้น นอกจากจะพอใจในรูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ และพอใจบัญญัติในชีวิตประจำวันแล้ว ก็ยังพอใจในมิจฉาสมาธิได้ เช่น ผู้ที่พอใจในการบริหารร่างกาย รู้ว่าถ้าฝึกแบบโยคะโดยให้จิตตั้งมั่นจดจ้องที่ลมหายใจจะทำให้ร่างกายแข็งแรง ในขณะนั้นเป็นการทำสมาธิประเภทหนึ่ง ซึ่งเมื่อไม่ใช่กุศลจิตก็จะต้องเป็นโลภมูลจิตซึ่งเป็นมิจฉาสมาธิ แต่ผู้นั้นไม่ได้เห็นผิดว่านี้เป็นหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ขณะนั้นเป็นแต่เพียงความพอใจที่จะทำสมาธิ และรู้ว่าในขณะนั้นมีความต้องการสมาธิเพื่อประโยชน์แก่สุขภาพร่างกาย ไม่ใช่เห็นผิดโดยยึดถือว่าต้องทำอย่างนี้เสียก่อน แล้วภายหลังจึงมาพิจารณานามธรรมและรูปธรรม จะได้เร็วขึ้น ซึ่งถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็ไม่เข้าใจลักษณะของสัมมาสติ ไม่รู้ว่าสัมมาสติเป็นอนัตตา เพราะไม่ใช่ว่าให้ไปทำมิจฉาสมาธิก่อน แล้วจะได้มาเกื้อกูลให้ปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้

แต่การที่สติจะเป็นสัมมาสติเป็นมรรค ๑ ในมรรคมีองค์ ๘ ได้ ก็ต่อเมื่อมี สัมมาทิฏฐิ ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นอารมณ์ที่สติจะต้องระลึกโดยถูกต้องและละเอียดขึ้น เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้อง เช่น ทางตา ที่กำลังเห็น ก็จะรู้ได้ว่าขณะใดเป็นบัญญัติและขณะใดเป็นปรมัตถ์ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เช่นเดียวกัน

ฉะนั้น ไม่ว่าจะดูโทรทัศน์หรือดูกีฬาอะไรก็ตามแต่ จะอ่านหนังสือ จะดูภาพเขียน ก็จะรู้ได้ว่าขณะใดเป็นบัญญัติและขณะใดเป็นปรมัตถ์ เพราะมิฉะนั้นแล้วอาจจะคิดว่าเรื่องในโทรทัศน์เป็นบัญญัติ แต่ขณะที่ไม่ใช่เรื่องในโทรทัศน์นั้นไม่ใช่บัญญัติ แต่ความจริงแล้วทั้งเรื่องในโทรทัศน์และไม่ใช่ในโทรทัศน์ก็เป็นบัญญัติทั้งนั้น แม้แต่ชื่อของทุกท่านก็เป็นนามบัญญัติ เป็นคำที่ตั้งขึ้นเพื่อให้รู้ว่า หมายความถึง จิต เจตสิก รูปใดที่เกิดรวมกัน ที่สมมติขึ้นเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้

ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 28 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ