ชื่อเสียง
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ข้อความบางตอน จากแนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๗๐๗ บรรยายโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ... ชื่อเสียง ...การมีชื่อเสียง มีชื่อเสียงได้ ๒ ทาง แม้แต่ผู้ที่แสดงธรรมนี่ ผู้ที่มีชื่อเสียงในทางผิดก็มี และผู้มีชื่อเสียงในทางถูกก็มี เพราะฉะนั้น แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็มีอาจารย์ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังถึง ๖ ท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเห็นผิด แล้วก็มีลูกศิษย์มากด้วย แต่ว่าสำหรับผู้ที่พิจารณาไตร่ตรองในเหตุผล ย่อมสามารถที่จะรู้ได้ว่า ธรรมของบุคคลใดผิดคลาดเคลื่อน
เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความเห็นผิดสะสมมาถึงแม้จะได้เฝ้า ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ แต่เพราะอกุศลธรรม คือความเห็นผิดที่สะสมมามาก ย่อมมีกำลังที่จะกระทำกิจที่จะเห็นผิด ไม่สามารถที่จะให้กุศลจิตเกิดขึ้นพิจารณาเข้าใจในเหตุผล ในธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แต่ว่าผู้ที่สะสมความเห็นถูกก็ย่อมรู้ว่า ครูทั้ง ๖ นั้นปราศจากเหตุผลเป็นผู้ที่แสดงธรรมผิด และเมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถจะเข้าใจได้ว่าธรรมที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด แล้วไตร่ตรองธรรมรอบคอบ เพราะสภาพธรรมทนต่อการพิสูจน์ ถ้าบุคคลใดแสดงเรื่องของสภาพธรรมที่พิสูจน์ได้ ที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ถ้าท่านมีความรู้ มีความเข้าใจ มีความเห็นถูกตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นยิ่งขึ้น นั่นก็เป็นการอบรมปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมที่ปรากฏได้ถูกต้อง แต่ถ้าธรรมนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการที่จะให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่ใช่การแสดงธรรม ก็เป็นการที่จะมีความเห็นผิดคลาดเคลื่อนไปต่างๆ
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่พระภิกษุ ถึงฐานะที่ควรสรรเสริญ ๑๐ ประการ ดังนี้
๑. ตนเองเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยแก่ภิกษุทั้งหลาย
๒. ตนเองเป็นผู้สันโดษ และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สันโดษแก่ภิกษุทั้งหลาย
๓. ตนเองเป็นผู้สงัด และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สงัดแก่ภิกษุทั้งหลาย
๔. ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ และกล่าวกถาปรารภความไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะแก่ภิกษุทั้งหลาย
๕. ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวกถาปรารภความเพียรแก่ภิกษุทั้งหลาย
๖. ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลแก่ภิกษุทั้งหลาย
๗. ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์สมาธิ และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิแก่ภิกษุทั้งหลาย
๘. ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญาแก่ภิกษุทั้งหลาย
๙. ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติแก่ภิกษุทั้งหลาย
๑๐. ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะแก่ภิกษุทั้งหลาย
ทั้ง ๑๐ ประการเหล่านี้เป็นฐานะที่ควรสรรเสริญ ...
๑๐. ทุติยวัตถุกถาสูตร
ว่าด้วยฐานะที่ควรสรรเสริญ ๑๐ ประการ
[เล่มที่ 38] อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ ๒๒๐
ขออุทิศส่วนกุศลแด่สรรพสัตว์
ศึกษาธรรมไม่ใช่เพื่อได้ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นแต่เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส มีความมักน้อย สันโดษ เป็นต้นขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นความจริง ไม่ผิดไปจากความเป็นจริง และการที่พระองค์ทรงแสดงพระธรรมนั้น ก็เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษามีความเข้าใจถูก เห็นถูกเป็นปัญญาของบุคคลนั้นเอง แต่จะเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน ย่อมขึ้นอยู่กับการสั่งสมมาของแต่ละบุคคล เพราะธรรมยาก ละเอียด ลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่งและธรรมไม่สาธารณะ (ทั่วไป) กับทุกคน (จะเห็นได้ว่า ถึงแม้จะอยู่ในสังคมเดียวกันก็จริง แต่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่ได้ฟังพระธรรม เหมือนกันทุกคน) เมื่อได้ฟัง ได้ศึกษาและมีความเข้าใจไปตามลำดับ อีกทั้งมีจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการฟัง ในการศึกษา ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ไม่ใช่เพื่อลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ หรือแม้เพื่อเก่งกว่าบุคคลอื่น นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของการศึกษา แต่ศึกษาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ก็จะอุปการะเกื้อกูลให้เป็นผู้ที่มีความประพฤติที่ดีงาม อันเป็นความดีขั้นต้น ที่ควรมี ควรอบรมเจริญให้มีขึ้น พร้อมทั้งขัดเกลากิเลส (ซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง) ในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งสูงสุดคือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคล ดับกิเลสได้ในที่สุด ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
ศึกษาเพื่อละความไม่รู้ เพื่อความเข้าใจถูก เข้าใจถูกอีก เข้าใจโดยละเอียดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะค่อยๆ คลายออก สละออก จนถึงความสละหมด (ซึ่งย่อมใช้เวลานานแสนนาน) การศึกษาเพื่อชื่อเสียง ลาภ ยศ สรรเสริญ ย่อมรู้ผิด เข้าใจผิด และเข้าใจผิดมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เหมือนการขันเกลียว ที่ยิ่งแน่นขึ้น แน่นขึ้น จนคลายไม่ได้ คลายไม่ออก
ขออนุโมทนาคุณสารธรรม
ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ
ถ้าท่านมีความรู้ มีความเข้าใจ มีความเห็นถูกตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นยิ่งขึ้น นั่นก็เป็นการอบรมปัญญา ที่จะรู้สภาพธรรมที่ปรากฏได้ถูกต้อง แต่ถ้าธรรมนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการที่จะให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่ใช่การแสดงธรรม ก็เป็นการที่จะมีความเห็นผิดคลาดเคลื่อนไปต่างๆ
ขออนุโมทนาค่ะ