การรู้รูป

 
จักรกฤษณ์
วันที่  30 ต.ค. 2551
หมายเลข  10257
อ่าน  1,383

การที่เราจะรู้รูปและนาม อันเป็นพื้นฐานของการเจริญสติปัฎฐานนั้น ผมมีความสงสัยอยู่ ในเรื่องของการรู้รูปครับ ว่าการรู้รูปนั้น เรารู้ผ่านทางทวารทั้งห้า กล่าวคือเมื่อมี รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสมากระทบ เราก็จะรู้สิ่งเหล่านั้นด้วยนามคือ วิญญาณทั้งห้า เช่นกัน ดังนั้น การรู้รูปนั้นต้องใช้วิญญาณซึ่งเป็นนามเป็นตัวรู้ แต่เมื่อเรารู้ด้วยนาม ดังนั้นการรู้รูป จึงมิใช่รู้ในรูปจริงๆ แต่เป็นการรู้นามที่วิเคราะห์ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นรูปเท่านั้น ไม่มีการปรุงแต่งต่อไปอย่างนี้จะถูกต้องหรือไม่ครับ ผมพิจารณาไปพิจารณามาที่เรารู้นั้นก็เป็นนามทั้งนั้นเลย ส่วนรูปจริงๆ นั้นเราจะรู้อย่างไรให้ถูกต้องครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 ต.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สภาพธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ใช่มีเพียงแค่จิตประเภทเดียว ในแต่ละวิถีจิต เช่น ทางตาเมื่อจักขุวิญญาณจิต (จิตเห็น) เกิดขึ้นมี รูป (สี) เป็นอารมณ์ แต่เพียงรู้เท่านั้นทำหน้าที่เห็น ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง เมื่อจักขุวิญญาณดับไป สัมปฎิจฉันนจิตเกิดต่อมีรูปเป็นอารมณ์เช่นกัน สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ตทาลัมพนจิตรู้รูปนั้น (มีรูปเป็นอารมณ์) แต่ก็ไม่ได้รู้ตามความป็นจริงด้วยปัญญาว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา และเมื่อตทาลัมพนจิตดับไป ชวนจิตเกิดต่อเป็นกุศลหรืออกุศล แต่ในที่นี้เมื่อพูดถึงการเจริญสติปัฏฐาน ชวนจิตย่อมเป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา ชวนจิตที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา (สติปัฏฐาน) ก็รู้รูปนั้นเช่นกัน คือมีสีเป็นอารมณ์ แต่รู้ตรงตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา รู้ตรงลักษณะของสี รู้ด้วยปัญญาว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ดังนั้นรูปยังไม่ดับไป แม้รู้ทางจักขุวิญญาณแล้ว ชวนจิตที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา (สติปัฏฐาน) ก็รู้รูปที่เป็นตัวจริงในขณะนั้นได้ด้วยครับ เพราะรูปนั้นยังไม่ได้ดับไปครับ แต่ต่างกันที่รู้ด้วยจักขุวิญญาณจิตกับรู้ด้วยกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญานั้นต่างกันตามที่ได้อธิบายมาครับ ที่สำคัญไม่ต้องกังวลว่าจะรู้รูปอย่างไร อบรมเหตุต่อไปคือ ฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ เมื่อเหตุพร้อม สติและปัญญาก็จะเกิดระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น โดยที่ขณะนั้นไม่ได้คิดเลยว่า จะรู้รูปอย่างนั้นอย่างนี้อะไรเลย เพราะรู้ตัวจริงของรูปในขณะนั้น

ขออนุโมทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 31 ต.ค. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
sopidrumpai
วันที่ 3 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 3 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาครับผม

ดังนั้น การรู้รูป จึงต้องเริ่มจากการรู้ด้วยชวนจิตที่เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งปัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง และที่สำคัญคือ ต้องรู้ในขณะที่รูปยังไม่ดับ นั้นหมายความว่า ต้องเป็นรูปที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทางทวารต่างๆ เท่านั้น ใช่ไหมครับ ไม่ว่าจะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสจะเกิดขึ้น ๑๗ ขณะจิต เหมือนกัน หากเป็นการพิจารณาสิ่งที่ผ่านไปแล้วหรือในอนาคต ก็ไม่ใช่การรู้รูปที่ถูกต้อง ใช่ไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 3 พ.ย. 2551

รู้รูปคือขณะสภาพธรรมกำลังปรากฎปัจจุบัน ไม่ใช่นึกคิดถึงรูปที่ดับไปแล้วหรือยังไม่มาถึงเพราะไม่ปรากฎลักษณะของสภาพธรรมให้รู้ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
choonj
วันที่ 3 พ.ย. 2551

ผมอ่านกระทู้แล้วมีความคิดเกิดขึ้นมาว่า ผู้ตั้งกระทู้เข้าใจดีของการรู้รูปและนาม เพราะถ้าไม่เข้าใจจะเขียนไม่ได้อย่างนี้ ผมเข้าใจถูกมั้ยครับ ถ้าผิดก็ขออภัยเพราะทุกคนก็อยู่กับความคิดนึกในวันๆ ผมจะลองเขียนความเข้าใจของผมเพื่อว่าจะถูกบ้างถ้าผิดก็ช่วยกรุณาแก้ไข ขอบคุณ

ก่อนอื่น การรู้ อาการรู้ ไม่ต้องใช้วิญญาณคือเพียงรู้ แค่รู้ ไม่ต้องใช้วิญญาณ วิญญาณคือจิต จิตเกิดดับเร็วมากใช้ไม่ได้ ถ้ามีการใช้ก็เป็นตัวตนที่ใช้ก็ผิดทาง จิตหรือวิญญาณเมื่อเกิดต้องรู้ เพราะฉะนั้น เพียงรู้แค่รู้ ทีเขียนว่า "การรู้รูปจึงไม่ใช่การรู้รูปจริงๆ แต่เป็นนามรู้ที่วิเคราะว่านั่นเป็นรูปเท่านั้น" การที่เขียนได้อย่างนี้ต้องรู้ว่ามีรู้เกิดและมีการคิดโดยเข้าใจจากการศึกษาว่ามีรูปด้วย จึงเป็นปัญญาขั้นคิดนึกและเข้าใจ ไม่ใช่การรู้ระดับวิปัสสนา การรู้ระดับวิปัสสนาจะรู้รูปและนามแยกขาดจากกันซึ่งเป็นการรู้รูปจริงๆ ตามที่ถาม และเมื่อรู้ได้อย่างนี้จะไม่ต้องถาม ถ้ายังมีคำถามก็ยังรู้ผิดอยู่ มีใครรู้ได้อย่างนี้มั้ย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 4 พ.ย. 2551

ผมก็เคยสงสัยการรู้รูปครับ รูปไม่ใช่สภาพรู้ จะรู้ได้อย่างไร จากการตั้งกระทู้ ผู้รู้ช่วยกันตอบ ด้วยปัญญาของผมก็เข้าใจว่า " จิตทุกขณะเป็นสภาพรู้ " แต่ชวนจิต ๗ ขณะ นั้นสภาพรู้สืบต่อมากกว่าทุกขณะและเป็นกุศลจิต ผมก็เชื่อมั่นการศึกษาอบรมว่าจะเป็นกำลังของสติให้ระลึกรู้ความต่างกันของรูปนาม พอได้อ่านพระไตรปิฎก กุศลจิตดวงที่ ๑ สรหคตด้วยโสมนัส สัมปยุตด้วยญาณ ผมก็ทำกุศลมากขึ้น เพื่อให้เกิดญาณครับ ผมพูดตรงๆ ผิดถูกก็ขอให้ถือว่าเป็นการสนทนาธรรมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 4 พ.ย. 2551

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๖๐๔

โยคาวจรบุคคลใดกำหนดมหาภูตรูป ๔ แล้วจึงกำหนดอุปาทารูป กำหนดอรูปได้ แต่เมื่อกำหนดรูปและอรูปก็ลำบากอยู่ ด้วยความทุกข์ ด้วยความลำบาก ย่อมสามารถเพื่อกำหนดได้ ปฏิปทาของท่านจึงชื่อว่า ทุกขาปฏิปทา ส่วนโยคาวจรบุคคลใดมีรูปและอรูปกำหนดได้แล้วในการเจริญวิปัสสนา เพราะความชักช้าแห่งความปรากฏของมรรค อภิญญาของโยคาวจรบุคคลนั้น จึงชื่อว่า ทันธาภิญญา.

แม้โยคาวจรบุคคลใดกำหนดรูปและอรูปได้แล้ว เมื่อกำหนดแยกนามรูป ลำบากอยู่ด้วยความทุกข์ ด้วยความลำบากจึงกำหนดแยกได้ และเมื่อกำหนดแยกนามรูปได้แล้ว เจริญวิปัสสนาอยู่โดยกาลนานจึงสามารถให้มรรคเกิดขึ้นได้ ปฏิปทาของท่านแม้นั้นจึงเป็นทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา อีกรูปหนึ่งกำหนดนามรูปได้แล้ว กำหนดแม้ปัจจัยทั้งหลาย แทงตลอดลักษณะทั้งหลาย ลำบากอยู่ด้วยความทุกข์ความยากจึงกำหนดได้ ครั้นกำหนดปัจจัยแทงตลอดลักษณะได้แล้ว เจริญวิปัสสนาอยู่โดยกาลนาน จึงยังมรรคให้เกิดขึ้น แม้ด้วยอาการอย่างนี้ก็ชื่อว่า ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา.

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 5 พ.ย. 2551

ขอเรียนตอบคุณ Choonj ความเห็นที่ ๖ ว่า ผมยังเข้าใจผิดๆ อยู่ครับและยังใช้ความพยายามไปเรื่อยๆ การรู้รูปของผมที่สอบถามมานั้น ยังคงเป็นแค่ "ความคิด หรือสังขาร" เท่านั้น การรู้ในลักษณะอันเป็นสภาวะยังไม่เกิดรู้จริงๆ ครับ ยังไม่เกิด ที่เกิด คือความนึกคิด อย่างที่คุณ Choonj ว่าเลย ดังนั้น ผมจึงย้อนพิจารณาเสมอๆ ว่าสิ่งที่ผ่านทางทวารทั้ง ๖ ถูกปรุงแต่งเสียแล้ว เป็นของปรุงแต่ง เพราะไม่พ้นความนึกคิด แต่การปรุงแต่งนั้น จะย้อนกลับมาพิจารณาเพื่อไปยังจุดตั้งต้นว่า สิ่งที่ปรากฏตามความ เป็นจริงนั้น จริงๆ แล้วคืออะไร ซึ่งก็ยังวนอยู่ในการปรุงแต่งอยู่ แต่เป็นเพียงปรุงแต่งอยู่ในฝ่ายกุศลเท่านั้นเอง ผมเข้าใจเอาเองนะครับว่า การรู้รูป อย่างแท้จริงแล้ว น่าจะรู้ สภาวธรรมที่เกิดขึ้นตามที่เขาเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ปราศจากการปรุงแต่ง ซึ่งจะปรากฏ ได้ชัดเจนว่า สภาวะนั้นๆ ไม่อาจอธิบายเป็นคำพูดได้ เพราะหากเราอธิบายได้ สิ่งนั้นก็คือ ความนึกคิด ซึ่งยังเป็นตัวตนอยู่ ผมเคยนึกเล่นๆ ว่าการรู้สภาวะของรูปนั้น น่าจะเปรียบเสมือน ตัวอย่างเช่น เรารู้ว่าเรามีความรู้สึกอยู่ทั่วร่างกาย (ซึ่งเป็นการรู้สึกตัว แต่ประกอบด้วยอัตตาซึ่งเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ) ในทางตรงกันข้าม การรู้รูปที่แท้จริง มีความรู้สึกอยู่ แต่ไม่มีร่างกายโดยอัตโนมัติ เช่นกัน

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wannee.s
วันที่ 6 พ.ย. 2551

ขณะที่เจริญสติปัฏฐานเกิดระลึกตรงลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วแต่ว่าขณะนั้น สติเกิดระลึกรู้ รูปธรรม หรือนามธรรม ที่สำคัญเป็นปัญญารู้ ไม่ใช่การคิดนึกหรือจดจ้องค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ