อดคิดไม่ได้

 
สารธรรม
วันที่  3 พ.ย. 2551
หมายเลข  10279
อ่าน  1,360

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ข้อความบางตอนจาก แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๗๒๑ บรรยายโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

... อดคิดไม่ได้ ...

บางท่านก็กล่าวว่า อดคิดไม่ได้ว่า นี่เป็นนาม นั่นเป็นรูปไม่ใช่เรื่องที่จะไปหยุดยั้งความคิด มีใครบ้างไหมคะที่ไม่คิด? ไม่มีค่ะ ถึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คิด เป็นพระอรหันตสาวกก็คิด เพราะไม่ใช่ตัวตนที่คิด เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ก่อนที่จะคิดว่า สภาพนั้นเป็นนามธรรม สภาพนี้เป็นรูปธรรม ก็เป็นการคิดเรื่องต่างๆ ซึ่งเกิดจาก การเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา การที่ได้ยินเสียงทางหู การได้กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก การลิ้มรสทางลิ้น การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย แล้วการคิดถึงสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ก็ติดตามมาอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยที่จะให้คิด ถึงแม้ว่าไม่เห็นแล้ว ไม่ได้ยินแล้ว ไม่ได้กลิ่นแล้ว ไม่ลิ้มรสแล้ว ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้ว ก็ยังติดตามคิดถึงสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยินเคยได้กลิ่น เคยลิ้มรส เคยสัมผัส นั่นเป็นความคิดก่อนฟังเรื่องปรมัตถธรรม เรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน


เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังเรื่องปรมัตถธรรมและเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็มีปัจจัยที่จะให้เกิดคิดว่าสภาพนั้นเป็นนามธรรม สภาพนี้เป็นรูปธรรม แต่แม้กระนั้นในขณะที่คิดอย่างนั้น เป็นสติขั้นตรึก ขั้นคิด ขั้นนึกถึงสภาพธรรม แต่ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน ซึ่งเป็นขั้นที่ระลึกศึกษา สังเกตรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งต่างจากขณะที่คิด เห็นเดี๋ยวนี้ หยุดไม่คิด ศึกษา คือพยายามน้อมไปสู่การที่จะรู้ว่า ที่กำลังเห็นในขณะนี้ เป็นสภาพรู้เป็นธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี่ค่ะ คือการอบรมเจริญสติปัฏฐานเนืองๆ บ่อยๆ


ทางหูก็โดยนัยเดียวกัน ลืมทุกสิ่งทุกอย่างหมด ที่จะนึกว่า หูอยู่ตรงไหน โสตปสาทอยู่ตรงไหน สัททะ คือเสียง กระทบโสตปสาท ได้ยินจะต้องอยู่ตรงนั้นทีเดียวนั่นเป็นการนึกถึงหูของเรา ยังมีความเป็นของเรา ยังมีความเป็นตัวตน ยังมีความยึดมั่นในหูอยู่ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ขณะที่จะระลึกรู้ลักษณะของได้ยิน ต้องไม่มีการนึกใส่ใจ สนใจในหูของเราว่า อยู่ตรงไหน เป็นแต่เพียงศึกษาสังเกตรู้ในลักษณะในสภาพรู้ ในธาตุรู้ที่กำลังได้ยินเสียง อย่าต่อทวารอื่นหรือความยึดมั่นในรูปร่างกายส่วนหนึ่งส่วนใดไว้ มิฉะนั้นแล้ว ก็จะไม่ใช่การศึกษาลักษณะของ ธาตุรู้เสียง และเสียงที่กำลังปรากฏในขณะนั้น


ภิกษุรูปหนึ่งพำนักอยู่ในที่พักกลางวันในแนวป่าแห่งหนึ่ง ณ แคว้นโกศลตกอยู่ในการตรึกด้วยอกุศลวิตก คือกามวิตก พยาบาทวิตกและวิหิงสาวิตก เทวดาองค์หนึ่งเกิดความเอ็นดูท่านปรารถนาให้ท่านถึงซึ่งความสังเวช จึงได้เตือน ดังนี้

ท่านถูกวิตกกิน เพราะมนสิการไม่แยบคายท่านจงละมนสิการไม่แยบคายเสีย และจงใคร่ครวญโดยแยบคาย ท่านปรารภพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์และศีลของตนแล้ว จะบรรลุความปราโมทย์ ปีติ และ สุข โดยไม่ต้องสงสัย แต่นั้นท่านจักเป็นผู้มากด้วยความปราโมทย์ จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

เมื่อภิกษุรูปนั้นได้ฟังดังนั้น ท่านก็ถึงซึ่งความสลดสังเวชใจ

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ อกุศลวิตกเกิดเพราะไม่มนสิการโดยแยบคาย [อโยนิโสมนสิการสูตร]

ขออุทิศส่วนกุศลแด่สรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 3 พ.ย. 2551

สาธุ

สติตามที่แสดงไว้ในกระทู้นี้ (สติขั้นตรึก..ขั้นคิด..ขั้นนึกถึงสภาพธรรม) หากไม่ได้หลงเข้าใจว่า เป็นสติปัฏฐาน ก็ยังดีกว่า อกุศลวิตกต่างๆ และ เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิดสติปัฏฐานได้ในอนาคต ใช่หรือไม่

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 3 พ.ย. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

การคิดห้ามให้คิดหรือไม่คิดก็ไม่ได้มีเหตุปัจจัยก็คิด จะคิดว่าเป็นธรรม เห็นเป็นธรรม คิดเกิดแล้วห้ามไม่ได้ ไมได้ให้ห้ามคิด ไม่มีใครหรือตัวตนที่จะห้ามคิด แต่ผู้ที่อบรม ปัญญาเป็นผู้ตรงและมีความเห็นถูกที่ว่า ขณะที่คิดถึงสภาพธรรม คิดว่าเห็นเป็นธรรม เป็นต้น ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ขณะที่เข้าใจอย่างนี้ก็เป็นความเห็นถูกระดับหนึ่งแล้วที่ไม่หลงเข้าใจผิดว่าขณะนั้น เป็นสติปัฏฐาน การเข้าใจถูกว่าแม้คิดก็เป็นธรรม เข้าใจถูกว่าคิดไม่ใช่สติปัฏฐาน เข้าใจถูกว่าเป็นธรรมและเป็นอนัตตา แม้ความคิดก็ย่อมเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะ สภาพธรรม แต่เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นครับ เพระอนัตตาเหมือนกัน

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 3 พ.ย. 2551

จากความเห็นที่ 1

หากมีความเห็นถูก อาศัยขั้นการฟังจนเป็นความจำที่มั่นคงก็ย่อม เป็นปัจจัยให้สติเกิดในอนาคต โดยไมได้มีกฏเกณฑ์ว่า สติขั้นคิดจะเป็นปัจจัยให้สติ ขึ้นระลึกสภาพธรรมเกิด แต่อาศัยความเห็นถูกตั้งแต่ต้นและไม่ขาดการฟัง อบรมความ เข้าใจ ก็เป็นปัจจัยให้สติขั้นคิดนึกและสติขั้นสติปัฏฐานเกิดต่อไป แต่เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น อีกแหละครับ

ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
suwit02
วันที่ 3 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 4 พ.ย. 2551

ขณะที่ฟังพระธรรม และคิดไตร่ตรองในพระธรรมที่ได้ฟังแล้วเข้าใจ ขณะนั้นสติก็เกิดขึ้นทำหน้าที่ ขั้นตรึก ขั้นคิดถึงสภาพธรรม แต่ยังไม่ใช่สติปัฎฐาน เมื่อคิดและพิจารณาเข้าใจถูกต้องแล้ว ท่านอาจารย์กล่าวว่า เห็นเดี๋ยวนี้ หยุด! ไม่คิดแต่ศึกษา คือพยายามน้อมไปสู่การที่จะรู้ว่า ที่กำลังเห็นขณะนี้ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้สิ่งที่ปรากฎทางตาเท่านั้น (เช่นเดียวกันกับทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ) นี่คือ หนทางที่ถูกต้องในการอบรมเจริญสติปัฎฐานเนืองๆ บ่อยๆ ซึ่งจะเป็นเหตุปัจจัยให้สติปัฎฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งต้องใช้เวลาอบรมยาวนานมาก จิรกาลภาวนาค่ะ

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pornpaon
วันที่ 4 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ . . .

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สุภาพร
วันที่ 4 พ.ย. 2551

ขอบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wirat.k
วันที่ 4 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 4 พ.ย. 2551

อนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
คุณ
วันที่ 5 พ.ย. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ