ละกิเลสตามลำดับขั้น
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ข้อความบางตอนจาก แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๙๘๔ บรรยายโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
... ละกิเลสตามลำดับขั้น ...
การอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นผู้ที่มีปัจจัยที่โลภะจะเกิดเป็นประจำเป็นปกติ เวลาที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น ก็ย่อมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามปกติ ไม่ใช่ว่าผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานนี้หมดโลภะ ไม่เห็นโลภะเลย มีแต่กุศลทั้งนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้อย่างไร เพราะว่าการอบรมเจริญปัญญา ต้องเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ไม่ใช่เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ ว่าเวลาปกติอย่างนี้อย่างหนึ่ง แล้วก็ไปทำวิปัสสนา จากหน้ามือเป็นหลังมืออีกอย่างหนึ่งไม่มีโลภะเกิดขึ้นเลย ไม่ใช่อย่างนั้น นั่นไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ย่อมไม่เห็นว่า ตามปกติโลภะย่อมเกิด เพราะฉะนั้น การที่จะละโลภะ ไม่ใช่ละโลภะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ บรรลุความเป็นพระอนาคามีทันที แต่ว่าละโลภะที่เกิดพร้อมสักกายทิฏฐิ ที่ยึดถือการเห็นว่าเป็นเราเห็น เวลาที่ได้ยินเกิดขึ้นก็ละการเห็นผิด ที่ยึดถือสภาพที่ได้ยินว่า เราได้ยิน
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจะเห็นได้ว่า ต้องละกิเลสตามลำดับขั้น สำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคล โสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้นดับสักกายทิฏฐิเป็นสมุจเฉท ไม่มีการเห็นผิดที่จะยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ว่ายังมีความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังมีโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุต ไม่เกิดกับมิจฉาทิฏฐิใดๆ เลย แต่ว่ายังเป็นโลภมูลจิต จนกว่าจะถึงความเป็นพระอนาคามี จึงจะดับความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้
[๕๖] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่อการละกามราคะ เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอกมุ่งถอนเสียและเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ มุ่งดับไฟ ฉะนั้น.
(ข้อความในอรรถกถาอธิบายเพิ่มเติมว่า ... พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงดำริว่า คาถาที่เทวดานี้นำมาตั้งไว้ ทำอุปมาไว้มั่นคงแต่ถือเอาประโยชน์ได้นิดหน่อย
แม้จะกล่าวซ้ำซาก เพราะเขากล่าวถึงการละโดยการข่มกามราคะอย่างเดียว ก็กามราคะอันมรรคยังไม่ถอนขึ้น ตราบใดตราบนั้น ก็ยังมีการตามผูกพันเรื่อยไป
เพราะฉะนั้น เมื่อจะทรงถือเอาคำอุปมานั้น นั่นแหละแล้วทรงเปลี่ยนแสดงด้วยสามารถแห่งมรรคจึงตรัสพระคาถาที่ ๒ (ข้อที่ ๕๗)
[๕๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระคาถาว่า
ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่ออันละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...
ผู้ปฏิบัติควรทำตัวเหมือนถูกหอก [สัตติสูตร]
ขออุทิศส่วนกุศลแด่สรรพสัตว์