หลายคำถามจากผู้เริ่มต้นศึกษาพระธรรม

 
ชำนาญชาติ
วันที่  13 พ.ย. 2551
หมายเลข  10365
อ่าน  3,087

หลังจากที่เกิดศรัทธา และตัดสินใจเริ่มต้นศึกษาพระธรรม

ขอเรียนถามกัลยาณมิตรดังนี้นะครับ

1. ทำไมทางมูลนิธิฯ ถึงใช้คำว่า เผยแพร่ แทนคำว่า เผยแผ่ครับ ตรงนี้มีเพื่อนถามไถ่มา อีกที แต่ผมไม่รู้เหตุผล ตอบเขาไม่ได้ครับ จึงขอเรียนถาม

2. ฟังพระธรรมอยู่ตอนนึง ได้ยินท่านอาจารย์สุจินต์พูดว่า "พระธรรมนี่ยิ่งคิดยิ่งเข้าใจ ค่ะ" ความหมายทำนองนี้น่ะครับ แต่จากที่เคยศึกษาที่อื่นๆ เค้าจะแนะว่า การคิดจะ เป็นการฟุ้งซ่าน ผมจึงขอถามความแตกต่าง ระหว่าง การพิจารณา กับ การคิด ว่า ต่างกันหรือเปล่าครับ ตรงนี้ไม่เข้าใจเลย ว่าทำไมบางสำนักถึงปฏิเสธไม่ให้เราคิด มากหรืออ่านมากเพราะเค้ากลัวจะฟุ้งซ่าน ยังมีประโยคคมคายว่า "ผู้รู้ไม่คิด ผู้คิดไม่ รู้" แต่ผมก็งงอยู่ดี เพราะเวลาอ่านศึกษาพระธรรม ถ้าไม่คิด จะรู้อะไร แล้วมันต่าง จากการพิจารณาโดยแยบคายอย่างไร ตรงนี้คือจุดที่ผมสงสัยมากครับ

3. จริงหรือที่การศึกษาปฏิบัติ มีหลายทางแล้วแต่จริตแล้วแต่อัชฌาสัย แต่จุดหมายคือ นิพพานเหมือนกัน ท้าวความว่า ผมปลีกตัวจากสำนักต่างๆ แล้วหันมาศึกษาให้เข้า ใจก่อน เพราะได้อ่านเจอประโยคที่ประทับใจและเกิดศรัทธา ในเรื่องพระมหา- กรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ท่านทรงใฝ่ไปในทางไม่แสดงธรรมเมื่อทรง ตรัสรู้ใหม่ๆ จนพระพรหมต้องลงมาทูลเชิญให้แสดงธรรม จุดนี้ทำให้ผมเกิดศรัทธา เห็นคุณค่าถึงความยากละเอียดลึกซึ้งจริงๆ แม้ว่าผมจะมีแต่คำถามในใจ แต่ก็มั่นใจ ว่าน่าจะมีทางเดียว สำหรับการปฏิบัติเพื่อประหานกิเลส เพราะถ้าอัชฌาสัยในการ ปฏิบัติธรรมมีทางลัดทางอ้อมแบบที่ผมเคยรู้มา พระพุทธองค์คงบำเพ็ญไม่นานนัก แต่นี่ท่านทรงบำเพ็ญถึง 4 อสงไขยแสนมหากัป และอัชฌาสัยอภิญญาหรือวิชาทาง ฤทธิ์ต่างๆ ก็มีคนฝึกได้โดยไม่ต้องรอพระองค์ตรัสรู้ แล้วแบบนี้จะมีการแบ่งอัชฌาสัย ไปทำไม หากมีทางเดียวเพราะเท่าที่รู้มา คนที่เขาปฏิบัติโดยเลือกจากอัธยาสัย เขา จะแบ่งวิธีปฏิบัติไปเลย ทำให้มีหลายสาย หลายทาง เหมือนคนละศาสดาเลยด้วย ซ้ำ (ไม่ทราบว่าผมเข้าใจถูกผิดอย่างไรบ้างครับ)

4. ได้อ่านกระทู้ย้อนหลังของบ้านธัมมะ เรื่องสมถภาวนาที่เหมาะกับผู้ครองเรือนที่พระ พุทธองค์ทรงสอนไว้ มีอยู่เพียง 6 กอง ได้แก่

พุทธานุสติ คือ ระลึกถึงพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ ธรรมานุสติ คือ ระลึกถึงธรรมคุณเป็นอารมณ์ สังฆานุสติ คือ ระลึกถึงสังฆคุณเป็นอารมณ์ ศีลานุสติ คือ ระลึกถึงการงดเว้นจากบาปเป็นอารมณ์ จาคานุสติ คือ ระลึกถึงความสละออกเป็นอารมณ์ เทวตานุสติ คือ ระลึกถึงพระคุณของเทวดาเป็นอารมณ์

ไม่ทราบว่ามีหลักฐานในพระไตรปิฎก จริงๆ หรือเปล่าครับ ที่ว่ามีเพียง6กอง ที่เหมาะสมสำหรับผู้ครองเรือนโดยเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ต้องปลีกวิเวก เพราะผมเพิ่งเคยรู้จริงๆ ตอนแรกนึกว่า สมถกรรมฐาน 6 กองนี้ เบี้องต้นต้องศีลให้บริสุทธิ์ ตัดปลิโพธทั้ง๑๐ ก่อน ศึกษาให้แตกฉานก่อน และเลือกที่อยู่ที่เหมาะสมแก่การเจริญสมาธิก่อน (อ่านจากวิสุทธิมรรค) ผมจึงไม่กล้าปฏิบัติสมถกรรมฐานเลยเพราะกลัวจะเจริญอกุศลจิต แต่พอได้อ่านกระทู้นั้น จึงสนใจที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ 6 กองนี้ แต่ยังหาไม่เจอในพระไตรปิฎก ขอรบกวนท่านช่วยค้นมาเป็นหลักฐานทีครับ

5. นามรูปปริจเฉทญาณ เมื่อเกิดญาณข้อนี้ เป็นการบรรลุธรรมระดับพระโสดาบันใช่หรือเปล่าครับ ผมมีมิตรทางธรรมเป็นนักเขียนbest sellerคนหนึ่ง เขียนว่า นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่เป็นคนฝรั่ง ที่คิดค้นอะไรได้ เพราะรู้แจ้งในนามรูปปริจเฉทญาณ โดยไม่จำเป็นต้องนับถือพุทธศาสนา เขาเขียนหนังสืออธิบายโยงการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนา เข้ากับนักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นวิทยาการต่างๆ อันที่จริงผมก็เห็นเขาเป็นมิตรถ้าหากได้คำอธิบายจากบ้านธัมมะผู้แตกฉาน ผมใคร่ขอคำอธิบายเรื่องนี้สักนิด เพื่อที่ผมจะนำไปให้นักเขียนคนนี้อ่านและตรองดู ในฐานะที่ผมนับถือเค้าเป็นมิตร และเขาก็เป็นคนที่รับฟังความคิดผมอยู่ จึงคิดว่าน่าจะบอกเตือนเขาได้ ก่อนที่เขาจะเขียนอะไรผิดๆ ออกไปมากกว่านี้ เพราะคงมีผลถึงอเวจีเป็นแน่ ใช่ไหมครับ

ต้องขออภัยอย่างสูงที่ถามคำถามเยอะเลยครับ หากมีข้อความผิดพลาดหรือล่วงเกินประการใดต้องขออภัยล่วงหน้าครับ

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 14 พ.ย. 2551

๑. ในตอนตั้งชื่อมูลนิธิฯครั้งแรก ทางคณะกรรมการเลือกคำว่า เผยแพร่ ครับ

๒. การคิดพิจารณาในธรรมะที่ฟังมา ที่ศึกษามาดีไหมครับ ไม่ควรฟังผ่านๆ ไป

๓. ท่านเข้าใจถูกแล้วครับ ทางให้ถึงพระนิพพานมีทางเดียว ส่วนเรื่องจริตนั้น เป็นการอบรมสมถภาวนา

๔. ในมหานามสูตรพระพุทธองค์ทรงแสดงอนุสติ ๖ แก่พระเจ้ามหานาม ซึ่ง เป็นคฤหัสถ์ มหานามสูตรอยู่เล่มที่ ๓๖ อังคุตตรนิกายฉักกนิบาต หน้า ๕๒๙ เป็นต้นไป

๕. นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ เท่านั้น ยังไม่ถึงพระโสดาบันต้องอบรมเจริญปัญญา ระดับวิปัสสนาญาณถึง ๑๖ ขั้น และไม่ใช่ง่ายๆ เลย และถ้าไม่ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์แล้วไม่สามารถอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นวิปัสสนาญาณได้ เว้นแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้า เท่านั้น

ขอเชิญคลิกอ่าน ...

อนุสติ ๖ [อนุสสติสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 14 พ.ย. 2551

อนุโมทนา คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
choonj
วันที่ 14 พ.ย. 2551

๑) นี่แสดงว่าจิตวิจิตร จิตเป็นธาตุรู้ มนุษย์โดยธรรมชาติอยากรู้อยากเห็นทุกอย่างจึงมีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นในโลกมากมาย ก็ดีไปอีกอย่างที่ได้เห็นสิ่งต่างๆ มากมายครับ

๒) เป็นไปไม่ได้ที่จะพิจารณาโดยไม่ต้องคิด พิจารณาเมื่อไรก็คิดเมื่อนั้น การระลึกและศึกษาก็คือการคิด หลังการเห็น ได้ยิน ได้กลึ่น ลึ้มรส สัมผัส ก็จะเป็นการคิดนึกทันที่ วันๆ จึงเต็มไปด้วยการคิดนึกเป็นส่วนใหญ่ ที่ถูกนั้น การได้ฟังธรรมจนมีการพิจารณา ในขณะพิจารณาก็ต้องยอมรับว่ากำลังคิด เมื่อพิจารณาจนเข้าใจแล้วก็จบ ในขณะนั้นจะเข้าใจว่าคิดจบ แต่มีการเข้าใจแทน ถ้ายังไม่เข้าใจก็อีกอย่าง ซึ่งต้องถามต่อ แล้วธรรมอื่นก็เกิดคิดก็เกิดต่ออีก การปฏิเสธไม่ให้คิดเป็นไปไม่ได้ เพราะคิดจะเกิด ห้ามไม่ได้ เป็นอนัตตา คิดก็อย่างหนึ่งฟุ้งซ่านก็อีกอย่างหนึ่งเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิต การที่จะพูดว่า "ผู้รู้ไม่คิด ผู้คิดไม่รู้" อาจหมายความว่า ขณะรู้เกิดคิดไม่เกิด ขณะคิด รู้ไม่เกิดแน่นอน แต่เมื่อคิดจบก็จะเข้าใจแทนไม่ใช่รู้ และเมื่อธรรมเดิมเกิดอีกคราวนี้ก็รู้โดยไม่ต้องคิดเพราะเคยเข้าใจแล้ว จึงต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ครับ

๓) พระพุทธเจ้าตรัสว่ามรรคเป็นทางสายเอก เอกคือสายเดียวไม่มีสายอื่น แต่การศึกษาตามจริตอัชฌาสัย ถ้าไม่มีเรา ไม่ใช่เรา ไม่มีตัวตน มีแต่ธรรม ก็ยังอยู่ในทางสายเอก ถ้ายังมีเรามีตัวตนไม่เป็นธรรมก็เป็นการหาทางซึ่งผิด แล้วก็มีมากหลายทางด้วย เมื่อถึงตรงนี้ก็เป็นการน่าเศร้า ที่เห็นการสอนธรรมเป็นส่วนใหญ่ ที่ไม่เป็นไปในทางสายเอกตามที่พระพุทธเจ้าสอน จึงมีสำนักต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ครับ

๔) การเจริญสมถภาวนา เป็นการเจริญที่จะตัองใช้เวลาอันยาวนาน และไม่ใช่ใครๆ ก็จะเจริญได้ ผู้ที่เจริญได้ต้องเกิดด้วยกุศลวิบากจิตที่ประกอบด้วนเหตุ สาม และในจิตที่ประกอบด้วยปัญญานั้น ร้อยดวงจะมีแค่หนึ่งดวงที่จะเจริญได้ คนในยุคนี้ไม่มีปัญญาพอที่จะเจริญได้จะตายเสียก่อน ผู้ที่เจริญส่วนใหญ่จะเป็นมิจฉา ต้องถามตัวเองว่าเราเกิดด้วยเหตุสามหรือเปล่า มีปัญญาที่จะเจริญไหม ถ้าไม่มีจะเสียเวลาไปทำไมครับ

๕) พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วสอนว่าทุกสิ่งไม่พ้นรูปและนาม นามรูปปริจเฉทญาณเป็นญาณแรกที่รู้ รูป และนาม แยกขาดจากกัน นักวิทยาศาสตร์กำลังพิสูจน์ว่าเป็นนามและรูปโดยจะรู้ด้วยตาเนื้อ ถ้าเก่งก็อาจจะพิสูจน์ออกมาได้ จึงดูเหมื่อนว่าเขารู้นามรูปซึ่งญาณนี้แม้นผู้เรียนธรรมรู้ธรรมก็ไม่ไช่ว่าจะเกิดได้ง่าย ร้อยปีพันปีอาจไม่เกิดเลยอย่าว่าแต่ผู้ไม่ได้ศึกษาเลย ไม่เกิดแน่นอน

เป็นความคิดเห็นนะครับ ผิดพลาดประการใดขออภัย

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
นายเรืองศิลป์
วันที่ 15 พ.ย. 2551

มีหลายคำถามจากผู้เริ่มต้นศึกษาพระธรรมควรเริ่มจากการรู้จักธรรมะ ว่าธรรมะคือทุกสิ่ง

มีปัจจัยให้เกิด ทำกิจหน้าที่ของตนเอง แล้วดับไป ไม่กลับมาเลย เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นปัจจัยให้ธรรมะอื่นเกิดพร้อมหรือเกิดต่อ

ธรรมะเป็นของยาก ละเอียด ลึกซึ้ง เพราะเป็นปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ธรรมะที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเรื่องจริงที่พิสูจน์ได้ ทนต่อการพิสูจน์ธรรมใดที่ปฏิบัติตามไม่ได้จะไม่ทรงสั่งสอน เพราะฉะนั้น หากมีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรม นั่นคือมีโอกาสเพื่อการปฏิบัติตามได้ และสามารถเข้าถึงธรรมะได้ แต่ต้องอาศัยเวลา

ธรรมะเป็นสภาพความจริงที่เกิดปรากฏ ไม่ต้องเรียกชื่อก็ได้ เป็นสภาพอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่ผันแปรเป็นอย่างอื่น

วัตถุประสงค์ของการศึกษาธรรมะ เพื่อให้รู้ คือมีปัญญา เพือการละ มิใช่เพื่ออย่างอื่นเลย คือ มิใช่เพื่อการให้ได้รู้เรื่องราวธรรมะมากๆ จำเรื่องราวธรรมะได้มากๆ หรือเพื่อการสอบได้ หรือได้รับการยกย่องใดๆ

เพราะฉะนั้น การเริ่มศึกษาพระธรรม จึงควรเริ่มจากการฟังพระธรรม

ฟัง ณ ขณะนั้น แล้วไตร่ตรอง พิจารณา ว่าถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ถ้าจริงโดยการพิสูจน์ด้วยเหตุผล เกิดเป็นความเห็นถูกเข้าใจถูก ความเห็นถูกเข้าใจถูกนี้เรียกว่าเกิดปัญญาเล็กน้อยในขั้นการฟัง ซึ่งจะต้องฟังต่อไป ฟังให้มาก ค่อยๆ สะสม อบรมอย่างนี้ บ่อยๆ จะเป็นปัจจัยให้ได้รู้จัก เข้าใจธรรมะมากขึ้นๆ อย่าเพิ่งใจร้อน อยากรู้อยากมีสติ อยากมีปัญญา หรือคอยตั้งคำถามว่าเมื่อไรจะรู้ เมื่อไรจะเข้าใจ

ธรรมะเกิดปรากฏอยู่ทุกขณะ แม้ขณะนี้ แต่ไม่เคยรู้เลย ธรรมะเกิดปรากฏทางตา หู จมูกลิ้น กาย ใจ ขณะที่ปรากฏทางหนึ่งทางใดใน 6 ทวารแล้วผ่านเลยไปตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ จนกระทั้งถึงวันจากโลกนี้ไป เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้จักธรรมะจากสิ่งที่เกิดปรากฏตามความเป็นจริง ในชีวิตประจำวันนี่เอง

ธรรมะเกิดขึ้นปรากฏ ทำหน้าที่ของตนๆ เรียกว่าปฏิบัติหน้าที่ ตามธรรมชาติของตนอย่างนั้น ไม่ใช่ใครจะไปปฏิบัติธรรม หรือ ไม่ใช่เราจะปฏิบัติธรรม

การเริ่มศึกษาพระธรรมมิให้ติดอยู่ที่ภาษา คำศัพท์ พยัญชนะ หรือตำรา นั่นเป็นเพียงสื่อเพื่อสนับสนุนการเข้าใจ เพื่อให้เข้าใจตรงกันเท่านั้น ธรรมะที่แท้เป็นสภาพธรรมที่เป็นจริงอย่างนั้น จะเรียกชื่อหรือไม่เรียกชื่อก็ได้ เพราะภาษาเป็นการใช้คำเพื่อแทนสภาพธรรมให้เกิดความเข้าใจเพื่อการสั่งสอนด้วยภาษามนุษย์ การศึกษาโดยอ่านตำรา จำเรื่องราวได้ แต่ไม่รู้จักเข้าใจ ไม่มีความเห็นถูกเข้าใจถูกในธรรมะได้เลย

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pornpaon
วันที่ 15 พ.ย. 2551

อ้างถึง ส่วนหนึ่งของคำถามที่ 2 โดย คุณชำนาญชาติ

"ผู้รู้ไม่คิด ผู้คิดไม่รู้"

เข้าใจว่าเป็นเพราะเมื่อ (ขณะ) รู้ไม่คิด เมื่อ (ขณะ) คิดคือยังไม่รู้

ขณะที่รู้ เป็นคนละขณะกับที่คิด

ขณะใดสติปัฏฐานเกิด ปัญญาย่อมรู้

(และไม่ใช่ เรา ที่รู้)

ขณะที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ย่อมอยู่แต่ผู้เดียวกับความคิดต่างๆ

และส่วนใหญ่ เป็นไปกับอกุศล โดยเฉพาะโลภะ

และมักไม่รู้ว่าอยู่กับโลภะเกือบตลอดเวลา

...ส่วนการฟังพระธรรมนั้น...

ถึงอย่างไรก็ต้องพิจารณาตามในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง

เพราะพระธรรมไม่ใช่ของง่าย ไม่ใช่เรื่องที่คิดเอาเองได้

ความเข้าใจที่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นนั้น ขาดการฟังไม่ได้

และขาดการคิดพิจารณาโดยละเอียดก็ไม่ได้ด้วยเช่นกัน

ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ajarnkruo
วันที่ 15 พ.ย. 2551

1. เผยแผ่ ก. (คำกริยา) ทําให้ขยายออกไป, ขยายออกไป, เช่น เผยแผ่พระศาสนา. เผยแพร่ ก. (คำกริยา) โฆษณาให้แพร่หลาย เช่น เผยแพร่ความรู้.

ที่มา : พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ วัตถุประสงค์โดยย่อของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ศึกษา ปฏิบัติธรรม เผยแพร่พระธรรมตามแนวพระไตรปิฏก และจัดพิมพ์เอกสาร ประกอบการศึกษาพระไตรปิฏกเผยแพร่เป็นสาธารณกุศล

2. ผู้ที่ห้ามไม่ให้ผู้อื่นคิดมากหรืออ่านมาก เป็นผู้ที่ไม่เข้าใจความเป็นอนัตตาของธรรมะ ผลก็คือ มีการกลัวความฟุ้งซ่าน ซึ่งการกลัวในลักษณะนี้ เป็นอกุศลจิต ไม่ใช่ด้วย กุศลจิต ไม่ใช่ด้วยปัญญาที่เห็นถึงโทษภัยของการที่จิตไม่สงบ ไม่ใช่ความเห็นที่ ถูกต้องในทางพระพุทธศาสนา การพิจารณามีทั้งที่เป็นไปกับกุศลจิตก็มี เป็นไปกับอกุศลจิตก็มี คำว่า "พิจารณา" กับ คำว่า "คิด" ในภาษาไทย คล้ายกับว่าจะเหมือนๆ กัน คือ คิดก็คิดเป็นเรื่องๆ ไป พิจารณาก็พิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป แต่ตามสภาพความเป็นจริงของธรรมะ ...พิจารณา โดยการคิดเป็นคำๆ เป็นเรื่องราวก็มี...พิจารณาโดยไม่ต้องคิดเป็นคำๆ เป็นเรื่องราวก็ มี ซึ่งการพิจารณาก็ดี การคิดก็ดี เป็นลักษณะของนามธรรมสองชนิดที่เกิดร่วมกัน เสมอ ได้แก่จิตและเจตสิก ที่..เกิดขึ้นพิจารณา..เกิดขึ้นคิดอย่างรวดเร็วแล้วก็ดับไป หลังจากที่ได้ยินได้ฟังธรรมะ ความคิดเรื่องของธรรมะที่เกิดขึ้นนั้น เป็นกุศล จิตที่ประกอบด้วยปัญญา ทำกิจพิจารณาเหตุและผล ตามความเป็นจริงของธรรมะ ไม่มีใครบังคับว่า..ห้ามคิด หยุดคิด หรือ อย่าคิด พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแสดงธรรม ห้ามใครไม่ให้คิด เพราะทรงตรัสรู้ความจริงที่ว่า..ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทุกอย่าง เป็นไปตามเหตุปัจจัยและการสะสม พระองค์จึงทรงแสดงธรรมที่จะเป็นปัจจัยให้เกิด การปรุงแต่งของสังขารขันธ์ฝ่ายดีในจิตของสัตว์ทั้งหลายที่มีโอกาสได้สดับฟัง ความแยบคายของกุศลจิตมีอยู่หลายระดับ ขณะที่ฟังพระธรรมแล้วกุศลจิตเกิด ขณะนั้น การพิจารณาโดยแยบคาย เกิดขึ้นแล้ว ภาษาบาลีใช้คำว่า " โยนิโสมนสิ การ" ถ้าหากได้ฟังมากขึ้น จนค่อยๆ มีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น กุศลจิตที่ประกอบ ด้วยปัญญาเกิดบ่อยขึ้น ความแยบคายของความคิดฝ่ายกุศล ย่อมจะเพิ่มกำลังขึ้น แม้จะยังละกิเลสอะไรไม่ได้ แต่ก็สามารถจะช่วยบรรเทาอกุศลวิตกได้ตามกำลัง ยิ่ง ถ้าได้ฟังและเข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ก็จะช่วยเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้สติ ปัฏฐานเกิด เพราะเหตุว่า มีพื้นฐานจิตใจที่สะสมมา เป็นผู้ที่มีความเมตตา มีความ ปรารถนาดีต่อผู้อื่น มีจิตใจอ่อนโยน ไม่ตกอยู่ในการตรึกทางอกุศลมากจนเกินไป ความแยบคายของกุศลจิตในขณะที่สติปัฏฐานเกิด เป็นวิปัสสนาภาวนา ย่อม มีมากกว่าความแยบคายของกุศลจิตในขึ้นฟัง และขั้นคิดพิจารณา เพราะสามารถที่ จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงไม่หลงผิดยึดถือธรรมะว่าเป็นเรา เป็นของเราได้ชั่วขณะ 3. เอกายนมรรค มรรคมีองค์ ๘ ทางสายเดียวเท่านั้นครับ 4. การเจริญอนุสสติ ๑๐ เป็นการเจริญสมถภาวนา แต่ก็เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ ถ้าผู้นั้นเข้าใจหนทางของการเจริญอบรมปัญญา เป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน5. นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นตรุณวิปัสสนา เป็นวิปัสสนาญาณที่ยังมีกำลังอ่อน เพียง ประจักษ์ความต่างกันโดยชัดเจนของรูปธรรมกับนามธรรมทางมโนทวารเท่านั้น ไม่ สามารถดับสักกายทิฏฐิเป็นสมุจเฉทถึงความเป็นพระโสดาบันได้ ยังต้องอบรมเจริญ ปัญญาในขั้นสูงขึ้นอีกต่อไปครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เกมส์
วันที่ 20 พ.ย. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Sam
วันที่ 21 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

ขอแสดงความคิดเห็นดังนี้

การศึกษาธรรมเป็นการเกื้อกูลตนเอง แต่ถ้าหากประสงค์จะเกื้อกูลผู้อื่นด้วยต้องศึกษาอย่างถ่องแท้ให้เข้าใจจริงๆ เพราะต้องระมัดระวังความเห็นผิด และต้องมี ทักษะในการถ่ายทอดด้วย เช่นเรืองคำพูดที่เป็นปิยวาจา ฯลฯ ควรเห็นโทษของการเผยแพร่ความเห็นผิดครับ เพราะผู้ที่มีความเห็นผิด คือ อสัตบุรุษ ส่วนผู้ที่เผยแพร่ความเห็นผิดเป็นอสัตบุรุษผู้ยิ่งกว่าอสัตบุรุษครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ