สัทธินทรีย์ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? [ธรรมสังคณี]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 พ.ย. 2551
หมายเลข  10372
อ่าน  2,590

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 579

[๒๐๗] สัทธินทรีย์ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?

ศรัทธา กิริยาที่เชื่อ ความปลงใจเชื่อ ความเลื่อมใสยิ่ง ศรัทธาอินทรีย์ คือศรัทธา สัทธาพละ อันใด นี้ชื่อว่า สัทธินทรีย์ มีในสมัยนั้น.

[๒๒๔] สัทธาพละ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? ศรัทธา กิริยาที่เชื่อ กิริยาที่ปลงใจเชื่อ ความเลื่อมใสยิ่ง ศรัทธาสัทธินทรีย์ กำลังคือศรัทธา ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า สัทธาพละมีในสมัยนั้น.

อธิบายขยายความจากอรรถกถา

ธรรมที่ชื่อว่า ศรัทธา เพราะอรรถว่า เป็นเหตุให้เชื่อ หรือเชื่อเองหรือเป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น ก็ชื่อว่า ศรัทธา

ศรัทธานั้น ชื่อว่า อินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นอธิบดี โดยครอบงำความไม่มีศรัทธา

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อินทรีย์ เพราะครองความเป็นใหญ่กว่าธรรมอื่น ในการน้อมใจเชื่อเป็นลักษณะ. ศรัทธานั่นเองเป็นอินทรีย์ ชื่อว่า สัทธินทรีย์. ก็ศรัทธานั้น มีการเลื่อมใสเป็นลักษณะ และมีความแล่นไปเป็นลักษณะ ศรัทธาเมื่อเกิดขึ้นย่อมข่มนิวรณ์ทั้งหลาย ย่อมให้กิเลสสงบ ย่อมให้จิตผ่องใส ย่อมทำจิตไม่ให้ขุ่นมัว เหมือนแก้วมณีพระเจ้าจักรพรรดิอันทำน้ำให้ใสสะอาด ใส่ในน้ำแล้วสามารถทำให้น้ำใสย่อมให้โคลนสาหร่าย จอกแหน เปือกตมสงบ ย่อมให้น้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัวฉะนั้น. กุลบุตรโยคาวจรให้ทานก็ดี สมาทานศีลก็ดี กระทำอุโบสถกรรมก็ดี เริ่มภาวนาก็ดีด้วยจิตอันผ่องใส พึงทราบศรัทธานั้น อย่างนี้ว่ามีความเลื่อมใสเป็นลักษณะ เพราะเหตุนั้น ท่านพระนาคเสนเถระ จึงถวายพระพรพระยามิลินทร์ว่ามหาบพิตร พระเจ้าจักรพรรดิข้ามแม่น้ำน้อยพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา น้ำนั้นพึงกระทบกระเทือนด้วยช้าง ม้า รถและพลเดินเท้าทั้งหลายก็ขุ่นมัว ขุ่นข้น เป็นเปือกตม พระราชาทรงข้ามไปแล้ว จึงสั่งมนุษย์ทั้งหลายว่า แน่ะพนายพวกเธอจงนำน้ำดื่มมา เราจักดื่มน้ำนั้น ก็พระราชามีแก้วมณีสำหรับทำน้ำให้ใสสะอาด พวกมนุษย์จึงกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า แล้วเอาแก้วมณีอันทำน้ำให้ใสนั้นใส่ลงในน้ำ พร้อมกับการตกไปในน้ำ โคลน สาหร่าย จอก แหน เปือกตมก็สงบ น้ำพึงเป็นน้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัว จากนั้นพวกมนุษย์ก็น้อมน้ำดื่มถวายพระราชา กราบทูลว่า ขอพระองค์ผู้สมมติเทพ จงทรงดื่มพระเจ้าข้า ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์พึงเห็นจิตเหมือนน้ำ พึงเห็นกุลบุตรโยคาวจรเหมือนมนุษย์เหล่านั้น พึงเห็นกิเลสทั้งหลายเหมือนโคลนสาหร่าย จอก แหน เปือกตม พึงเห็นศรัทธาเหมือนแก้วมณีทำน้ำให้ใสสะอาด ขอถวายพระพรมหาบพิตร ศรัทธาเมื่อเกิดย่อมข่มนิวรณ์ทั้งหลาย จิตปราศจากนิวรณ์ก็ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว เหมือนเมื่อใส่แก้วมณีอันยังน้ำให้ใสสะอาดแล้วโคลน สาหร่าย จอก แหน เปือกตม ย่อมสงบ น้ำย่อมใสสะอาดไม่ขุ่นมัว ฉะนั้น.

เหมือนอย่างว่า เหล่าชนผู้กลัวอาศัยมหานทีที่เกลื่อนกล่นไปด้วยจระเข้ มังกรและรากษสร้ายเป็นต้น ก็ยืนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำทั้งสอง ส่วนทหารผู้ใหญ่ผู้กล้าในสงครามมาถึงจึงถามว่า เพราะเหตุไร พวกท่านจึงยืนอยู่ เมื่อเขากล่าวว่า พวกเราไม่อาจข้ามเพราะมีภัยเฉพาะหน้า จึงจับดาบที่ตนเคยชำนาญมาแล้วนั้น แล้วกล่าวว่า พวกท่านจงมาข้างหลังเรา อย่ากลัวเลย แล้วก้าวลงสู่แม่น้ำ ป้องกันจระเข้เป็นต้นที่มาแล้วๆ กระทำความสวัสดีแก่พวกมนุษย์ทั้งหลาย นำจากฝั่งนี้ไปฝั่งโน้น จากฝั่งโน้นมาที่ฝั่งนี้ ฉันใด เมื่อบุคคลให้ทานรักษาศีล กระทำอุโบสถกรรม เริ่มภาวนา ศรัทธาย่อมเป็นหัวหน้าเป็นภาวะนำหน้าไป เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า ศรัทธา มีการแล่นไปเป็นลักษณะ ดังนี้

อีกนัยหนึ่ง ศรัทธามีการเชื่อเป็นลักษณะ หรือมีการเชื่อมั่นเป็นลักษณะ. มีการผ่องใสเป็นรส ราวกะแก้วมณีทำน้ำให้ใสสะอาด หรือว่ามีการแล่นไปเป็นรสเหมือนการข้ามห้วงน้ำ มีการไม่ขุ่นมัวเป็นปัจจุปัฏฐานหรือมีการน้อมใจเชื่อเป็นปัจจุปัฏฐาน มีวัตถุเป็นตั้งแห่งศรัทธาเป็นปทัฏฐาน หรือมีโสดาปัตติยังคะเป็นปทัฏฐาน บัณฑิตพึงเห็นเหมือนมือ ทรัพย์สมบัติ และพืช


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 14 ธ.ค. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 18 พ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ